Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
28 มี.ค. 2023 เวลา 12:35 • กีฬา
อยากลอง หรือ หมดมุก? : ทำไมบราซิลเริ่มมีข่าวกับโค้ชต่างชาติมากขึ้น? | Main Stand
ในศึกฟุตบอลโลก 2022 หนึ่งในทีมชาติที่แฟนบอลคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทัพ “แซมบ้า” บราซิล กลับทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง จนส่งผลให้ผู้จัดการทีมชาติอย่าง ติเต้ ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
ส่วนคนที่จะเข้ามาเป็นกุนซือคนใหม่ตอนนี้ยังเป็นเพียงแค่ข่าวลือเท่านั้น แต่สิ่งที่ชวนตั้งข้อสงสัยคือตัวเลือกที่บราซิลมองไว้ในเวลานี้กลับไม่มีกุนซือชาวบราซิลเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในยุคที่พวกเขาประสบความสำเร็จ โค้ชที่คุมทีมเป็นชาวบราซิลทั้งหมด
MainStand จะอาสามาวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใด ? บราซิลถึงเริ่มมีแนวคิดที่จะใช้กุนซือต่างชาติมากขึ้น
บราซิลเคยใช้โค้ชต่างชาติมาแล้ว
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของทีมชาติบราซิล พวกเขาใช้กุนซือต่างชาติเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้นคือ ในปี 1925 ที่ ณ ตอนนั้นบราซิลใช้ รามอน พลาเตโร่ (Ramon Platero) กุนซือชาวอุรุกวัย ให้เข้ามาคุมทีมในช่วงเวลาเกือบ 1 ปี
ถัดจากนั้นอีก 19 ปีต่อมา ในปี 1944 บราซิลก็ได้แต่งตั้ง ฮอร์เก้ โกเมส (Jorge Gomes) กุนซือชาวโปรตุเกส ให้เข้ามาคุมทีมคู่กับกุนซือชาวบราซิลอย่าง ฟลาวิโอ คอสต้า (Flavio Costa) แต่สุดท้ายฮอร์เก้ก็ทำงานกับบราซิลได้เพียงแค่ 3 วัน ก่อนที่ทัพ “เซเลเซา” จะให้ ฟลาวิโอ คอสต้า ทำหน้าที่กุนซือเดี่ยวแบบเต็มตัว
อีกหนึ่งครั้งที่บราซิลใช้กุนซือต่างชาติคือ ปี 1965 เป็น ฟิลโป้ นูนเญซ (Filpo Nunez) กุนซือชาวอาร์เจนตินา ที่เข้ามาคุมทีม แต่ฟิลโป้ก็คุมทีมเพียงแค่นัดเดียวเท่านั้น เนื่องจากในเวลานั้นเขาทำหน้าที่เป็นกุนซือของพัลไมรัสอยู่ และได้รับการเสนอตัวให้มาคุมขัดตาทัพในเกมอุ่นเครื่องที่พบกับ ทีมชาติอุรุกวัย
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะสังเกตเห็นว่า เหล่ากุนซือต่างชาติที่เข้ามารับงานคุมทีมชาติบราซิลนั้นล้วนแต่ได้รับโอกาสในการทำงานเพียงแค่ระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ส่วนที่เหลือคือเป็นการใช้กุนซือที่เคยเป็นอดีตนักเตะชาวบราซิลทั้งสิ้น
ขาดกุนซือตัวท็อปชาวบราซิล
การคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 5 สมัยของบราซิลก็มาจากการทำทีมของกุนซือชาวบราซิลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ในปี 1958 ที่บราซิลสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้เป็นสมัยแรกก็เป็นการทำทีมของ วิเซนเต้ เฟโอล่า (Vicente Feola)
หลังจากนั้นอีกแค่ 4 ปี ในปี 1962 บราซิลก็สามารถป้องกันแชมป์ฟุตบอลโลกเอาไว้ได้สำเร็จและเป็นการคว้าแชมป์สมัยที่ 2 ของทีม แต่ครั้งนี้บราซิลใช้ อายมอเร่ โมเรย์ร่า (Aymore Moreira) ทำหน้าที่เป็นกุนซือคุมทีม
ต่อมาในปี 1970 ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพ ปีนั้นบราซิลในยุคของ มาริโอ ซากาลโญ่ (Mario Zagallo) ก็สามารถเถลิงแชมป์ฟุตบอลโลกได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 3
ซึ่งในยุคสมัยนั้นบราซิลมีสุดยอดตำนานนักเตะอย่าง “ไข่มุกดำ” เปเล่ ที่คอยเป็นกำลังสำคัญในการพาทัพ “แซมบ้า” คว้าแชมป์ฟุตบอลได้ถึง 3 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 12 ปี
โดยกว่าที่บราซิลจะกลับมาคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้อีกครั้งต้องรอถึงปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกา ภายใต้การทำทีมของ คาร์ลอส อัลแบร์โต้ ปาร์เรย์ร่า (Carlos Alberto Parreira)
ซึ่งในทีมชุดนั้นมีนักเตะที่คุณภาพค่อนข้างดีอยู่หลายคน เช่น เคลาดิโอ ทัฟฟาเรล, คาฟู, มาร์ซินโญ่, เบเบโต้, คาร์ลอส ดุงก้า และ โรมาริโอ้ และพาทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศและคว้าแชมป์มาครองได้เป็นสมัยที่ 4
และสมัยล่าสุดที่พวกเขาทำได้คือ ในปี 2002 ที่ประเทศเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพร่วม ปีนั้นบราซิลคุมทีมโดยกุนซืออย่าง หลุยส์ ฟิลิปเป้ สโคลารี่ ส่วนผู้เล่นภายในทีมชุดนั้นต้องบอกเลยว่าคุณภาพคับแก้วทุกตำแหน่ง
แต่ที่ต้องยกให้เลยคือแนวรุก 3R ที่ประกอบไปด้วย โรนัลดินโญ่, โรนัลโด้ และ ริวัลโด้ ซึ่งทั้ง 3 คนนี้เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่พาทีมครองความยิ่งใหญ่และกลายเป็นชาติที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้มากที่สุดจนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่จบฟุตบอลโลก 2002 หลุยส์ ฟิลิปเป้ สโคลารี่ ก็อำลาตำแหน่งไป ทำให้บราซิลต้องมองหากุนซือคนใหม่เข้ามาคุมทีม และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้บริหารของทัพ “แซมบ้า” เริ่มรู้สึกว่าตอนนี้ในวงการฟุตบอลค่อนข้างขาดแคลนกุนซือชาวบราซิลแล้ว
ถัดจากสโคลารี่พวกเขาก็หันกลับไปใช้ผู้จัดการทีมคนเก่า ๆ ที่เคยร่วมงานกันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น มาริโอ ซากาลโญ่ หรือ คาร์ลอส อัลแบร์โต้ ปาร์เรย์ร่า แต่ก็ยังไม่สามารถพาทีมกลับไปอยู่บนจุดสูงสุดได้เหมือนสมัยก่อนที่พวกเขาเคยทำได้มาก่อนหน้านี้
เมื่อรู้แล้วว่าการดึงกุนซือที่เคยพาทีมประสบความสำเร็จกลับมาคุมทีมอีกครั้งนั้นไม่ได้ดีเหมือนเก่า ในปี 2006 ทางสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลก็ได้มีการวางแผนใหม่ โดยให้อดีตนักเตะชาวบราซิลที่เพิ่งเลิกเล่นไปไม่นานเข้ามาทำหน้าที่คุมทีมชาติดูบ้าง เช่น คาร์ลอส ดุงก้า (2006-2010) หรือแม้แต่ มาโน่ เมเนเซส (2010-2012) แต่ก็ยังไม่สามารถพาทีมกลับไปคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้เหมือนเดิม
ทำให้ทีมชาติบราซิลตัดสินใจกลับมาใช้แผนเดิมอีกครั้ง นั่นคือการดึงกุนซือคนเก่ากลับมาทำงานอีกรอบ ได้แก่ หลุยส์ ฟิลิปเป้ สโคลารี่ ผู้ที่เคยพาบราซิลคว้าแชมป์ได้ในปี 2002 ให้กลับมาช่วยทีมเป็นรอบที่ 2 ในปี 2013 โดยสมาพันธ์หวังจะให้เขาพาทัพ “แซมบ้า” ไปคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกที่ประเทศของตัวเองให้ได้ แต่สุดท้ายผลลัพธ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น
ฟุตบอลโลก 2014 ผลงานช่วงแรกของบราซิลถือว่าค่อนข้างดี แต่พอเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ผลงานก็เริ่มตกลงไปเรื่อย ๆ จนมาถึงรอบรองชนะเลิศที่พวกเขาก็พลาดท่าแพ้ให้กับ ทีมชาติเยอรมัน แบบขาดลอย 1-7 กลายเป็นผลงานที่แย่ที่สุดของพวกเขา และยังทำให้แฟนบอลบราซิลหลายคนฝันสลาย เพราะทีมของตัวเองโดนคู่แข่งถล่มที่บ้านเกิดของตัวเอง ท้ายที่สุดแล้วในทัวร์นาเมนต์นั้น บราซิลทำได้เพียงแค่คว้าอันดับที่ 4 มาครองแบบช้ำใจ
สุดท้ายบราซิลก็ต้องแยกทางกับสโคลารี่ และไปดึง คาร์ลอส ดุงก้า กลับมาทำงานเป็นคำรบที่ 2 ในช่วงปี 2014 แต่รอบนี้ดุงก้าได้โอกาสทำงานยังไม่ถึง 2 ปีเต็ม ก่อนที่เขาจะถูกปลดอีกครั้งในปี 2016 เนื่องจากผลงานในศึกโคปา อเมริกา ไม่ค่อยดี
จนกระทั่งมาถึงผู้จัดการทีมคนล่าสุดอย่าง ติเต้ ทางสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลได้แต่งตั้งเขาในปี 2016 ซึ่งติเต้ก็พาทีมไปเล่นฟุตบอลโลก 2018 ได้อย่างไม่มีปัญหา และเมื่อถึงศึกฟุตบอลโลกปีดังกล่าว ผลงานในรอบแบ่งกลุ่มของพวกเขาก็ยังคงเป็นไปตามมาตรฐาน แต่พอเข้าถึงรอบน็อกเอาต์ ความร้อนแรงของทีมชาติบราซิลก็เริ่มแผ่วลง จนมาโดน ทีมชาติเบลเยียม เขี่ยตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย หมดโอกาสลุ้นแชมป์ไปอีกหน
อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์ยังคงให้โอกาสติเต้ได้ทำหน้าที่ต่อไป และเฝ้าดูผลงานอีกครั้งในฟุตบอลโลก 2022 แต่สุดท้ายอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าทีมชาติบราซิลจอดป้ายเพียงแค่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเท่านั้น โดยพวกเขาแพ้จุดโทษต่อรองแชมป์ปี 2018 อย่าง โครเอเชีย และหลังจากจบทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว ติเต้ก็ได้ประกาศอำลาตำแหน่ง เพราะผลงานที่ไม่สามารถพาทีมประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะ 2 ทัวร์นาเมนต์หลังสุดอย่าง โคปา อเมริกา 2021 และฟุตบอลโลก 2022
ประสบการณ์คว้าแชมป์ของกุนซือยุโรป
หลังจากที่ติเต้ประกาศลาออกจากการตำแหน่งเฮดโค้ชทีมชาติบราซิล ทางสมาพันธ์ก็ยังไม่ได้มีการหากุนซือถาวรคนใหม่เข้ามารับงานในเวลานี้และให้ ราม่อน เมเนเซส คุมทีมแบบขัดตาทัพไปก่อน
ตัวเลือกกุนซือชาวบราซิลที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงอยู่ในระดับท็อปตอนนี้ถือว่าค่อนข้างขาดตลาดพอสมควร ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเริ่มมองหากุนซือจากชาติอื่น ๆ เอาไว้บ้างแล้ว ซึ่งนี่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ของทีมชาติบราซิล
ตอนนี้สื่อหลายสำนักเริ่มมีการประโคมออกมาแล้วว่าใครคือคนที่จะมารับงานคุมทีมชาติบราซิลคนต่อไป ? ซึ่งคนที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ คาร์โล อันเชล็อตติ กุนซือคนปัจจุบันของเรอัล มาดริด เนื่องจากอนาคตของ “อันเช่” ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าจะอยู่กับ “ราชันชุดขาว” ต่อในฤดูกาลหน้า
อีกทั้งประสบการณ์ของเขาที่เคยพา เรอัล มาดริด และ เอซี มิลาน คว้าแชมป์ยุโรปมาแล้ว และเมื่อปีก่อนเขาก็เพิ่งทำสถิติเป็นผู้จัดการทีมคนแรกที่คว้าแชมป์ลีกได้ทั้ง 5 ลีกใหญ่ของยุโรป ทำให้บราซิลมองว่าประสบการณ์การคว้าแชมป์ของกุนซือวัย 63 ปีน่าจะเข้ามาช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จได้มากกว่านี้ในอนาคต
นอกจากชื่อของ คาร์โล อันเชล็อตติ ยังมีอีกหลายชื่อที่ไม่สามารถจะมองข้ามได้ เช่น หลุยส์ เอ็นริเก้ ที่ก็เพิ่งแยกทางกับทีมชาติสเปนได้ไม่นาน แม้ว่าผลงานล่าสุดกับทัพ “กระทิงดุ” จะไม่ค่อยดีมากนัก แต่อย่างน้อยเขาก็มีประสบการณ์ในการคว้าแชมป์ระดับสโมสรมาพอสมควร
1
หรือจะเป็น โชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือมากประสบการณ์ที่ปัจจุบันคุม อาแอส โรม่า อยู่ โดยมูรินโญ่มีประสบการณ์ในการพาต้นสังกัดคว้าแชมป์ได้แทบทุกทีม อาจจะมีแค่ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ทีมเดียวที่เขาไม่ได้เสกแชมป์ให้กับทีม แต่อย่างน้อยเขาก็พาทัพ “ไก่เดือยทอง” เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ คาราบาว คัพ ได้ในฤดูกาล 2020/21
1
ส่วนอีกหนึ่งชื่อที่สื่อคาดการณ์เอาไว้คือ เป๊ป กวาร์ดิโอลา กุนซือของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แม้ว่าเป๊ปจะไม่เคยมีประสบการณ์คุมทีมชาติมาก่อน แต่ประสบการณ์ในระดับสโมสรต้องยอมรับเลยว่ามีอยู่เหลือล้น เขาสามารถสร้างสุดยอดทีมของตัวเองขึ้นมาและประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ร่วมกันได้หลายรายการ
โค้ชต่างชาติ อาจเปลี่ยน DNA ทีม ?
ถ้าพูดถึง DNA หรือรูปแบบการเล่นที่เป็นภาพจำของทีมชาติบราซิล มักจะเป็นการใช้ทักษะความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นในแนวรุกเพื่อหาโอกาสและจบสกอร์ใส่คู่แข่ง ขณะที่ตำแหน่งกองกลางกับกองหลังจะคอยทำหน้าที่รักษาสมดุลของเกมเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงค่อยขึ้นไปสนับสนุนเรื่องเกมรุกเมื่อทีมมีโอกาสลุ้นจากลูกตั้งเตะ
โดยจุดที่น่าสังเกตคือ ถ้าหากว่าสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิล หรือ CBF เกิดแต่งตั้งกุนซือที่เป็นชาวต่างชาติขึ้นมาจริง ๆ จะทำให้รูปแบบวิธีการเล่นของบรรดานักเตะทีมชาติบราซิลเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ? แล้วจะถึงขั้นสูญเสีย DNA ความเป็นแข้งแซมบ้าหรือเปล่า ?
ในรายของ คาร์โล อันเชล็อตติ ที่ถือว่าเป็นตัวเต็งกุนซือคนใหม่ในเวลานี้ วิธีการทำทีมของเขาไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการลงเล่นของนักเตะทีมชาติบราซิลมากนัก เนื่องจากอันเช่เป็นกุนซือที่อายุเยอะแต่ชอบที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำทีมของตัวเองให้เข้ากับขุมกำลังนักเตะที่มีอยู่ในมือ
ส่วนเรื่องรูปแบบการเล่นของอันเชล็อตติ เขาเป็นโค้ชที่ชื่นชอบการเล่นเกมรุกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จังหวะการเล่นในแต่ละครั้งก็ค่อนข้างรวดเร็วเหมาะกับผู้เล่นที่มีความสามารถเฉพาะตัวเก่ง ๆ อีกทั้งช่วงเวลาที่คุมเรอัล มาดริด ถึง 2 ครั้ง เขาก็เคยได้ร่วมงานกับผู้เล่นบราซิลมาแล้วหลายคนทั้ง คาเซมีโร่, มาร์เซโล่, เอแดร์ มิลิเตา, โรดรีโก้ และ วินิซิอุส จูเนียร์
ขณะที่วิธีการทำทีมของ หลุยส์ เอ็นริเก้ นั้นถือว่าอาจจะตรงข้ามกับอันเชล็อตติอยู่พอสมควร เอ็นริเก้เป็นโค้ชที่ค่อนข้างมีความอินดี้อยู่ในตัวสูง บางสโมสรเขาจะให้นักเตะลงเล่นแบบทำเกมรุกกดดันใส่คู่แข่ง เช่น บาร์เซโลน่า ในช่วงปี 2014-2017
หรือบางครั้งเขาจะให้นักเตะลงเล่นด้วยวิธีการเล่นที่ค่อนข้างรัดกุม ครองบอลหาโอกาสเข้าทำเป็นส่วนใหญ่เหมือนอย่างที่เขาคุม ทีมชาติสเปน ในช่วงปี 2019-2022 ทำให้สไตล์การคุมทีมของเอ็นริเก้อาจจะไม่ค่อยตอบโจทย์กับสไตล์ของนักเตะบราซิลสักเท่าไร
ด้าน โชเซ่ มูรินโญ่ ที่ถือว่าเป็นเจ้าพ่อบอลเน้นผล วิธีการเล่นของเขาก็ไม่น่าจะเข้ากับสไตล์การเล่นของนักเตะบราซิลที่เน้นทำเกมรุกด้วยความสามารถเฉพาะตัวเหมือนกัน เนื่องจากสไตล์หลัก ๆ ของเขาคือการลงไปตั้งรับให้แน่น ปีกสองข้างต้องลงมาช่วยฟูลแบ็กเกือบตลอดทั้งเกม ทำให้แนวรุกจะไม่ค่อยได้ทำเกมรุกกดดันหน้ากรอบเขตโทษคู่แข่งมากเหมือนกับกุนซือคนอื่น ๆ
และตัวของกุนซืออย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา ที่แม้รูปแบบการเล่นของเขาจะเป็นบอลเน้นเกมรุก และดูเหมือนจะเข้ากับวิธีการของนักเตะทีมชาติบราซิลได้ แต่สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาสำหรับทัพ “แซมบ้า” คือวิธีการทำเกมรุกของเขาที่เน้นการครองบอลสร้างโอกาส จ่ายบอลให้เยอะขึ้น ลดการใช้ทักษะเฉพาะตัว เพื่อที่นักเตะจะได้เล่นกันเป็นทีมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้สไตล์การทำทีมของเขาก็ไม่น่าจะตรงกับไลฟ์สไตล์ของนักเตะบราซิลมากนัก เหตุผลคือเขาเป็นคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบมาก ๆ ในแต่ละนัด ทุกคนต้องเล่นให้ตรงตามแบบแผนที่เขาวางไว้ อีกทั้งนักเตะจะต้องมีวินัยกัและไม่ออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าผู้เล่นบางส่วนของทีมชาติบราซิลมักจะมีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างจะโลดโผนพอสมควร ทำให้เคมีเรื่องการทำงานอาจจะไม่ได้เข้ากันแบบ 100%
อย่างไรก็ตาม จากรายชื่อที่กล่าวมาข้างต้น คนที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้น คาร์โล อันเชล็อตติ เนื่องจากล่าสุด เอ็ดนัลโด้ โรดริเกซ (Ednaldo Rodrigues) ประธานสมาพันธ์ฟุตบอล CBF ก็ได้ออกมายอมรับว่าเขาให้ความสนใจในตัวอันเชล็อตติจริง เพราะเป็นผู้จัดการทีมที่เขาชื่นชอบมาก ๆ รวมถึงนักเตะและบรรดาแฟนบอลก็ชื่นชอบอันเชล็อตติเหมือนกัน ซึ่งเขาอาจจะมีการนัดพูดคุยติดต่อกับอันเช่ในอนาคต
ทั้งนี้แฟนบอลโดยเฉพาะแฟนบอลของทัพ “เซเลเซา” ต้องมารอดูกันว่า อันเชล็อตติจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกุนซือคนใหม่ของทีมหรือไม่ ? และถ้าย้ายมาจริงเขาจะพาทีมชาติที่ไม่ได้เป็นบ้านเกิดของตัวเองคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้หรือไม่ ? เพราะที่ผ่านมายังไม่มีกุนซือคนไหนที่พาชาติที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเองคว้าแชมป์ได้มาก่อน ซึ่งเขาอาจจะเป็นคนแรกที่ทำให้มันเกิดขึ้นก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Brazil_national_football_team_managers
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_FIFA_World_Cup_winning_managers
https://www.sportingnews.com/in/soccer/news/brazil-coach-next-manager-selecao/aivw0zhni9hnohwxanr1wo6e
https://www.reuters.com/lifestyle/sports/soccer-ancelotti-brazil-would-be-no-brainer-cbf-president-says-2023-03-26/
7 บันทึก
16
10
7
16
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย