29 มี.ค. 2023 เวลา 01:00 • ข่าว

เด็กใต้-อีสานของไทย เสี่ยงได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนรุนแรง

นี่คือรายงานฉบับแรกในประเทศไทยที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็กเป็นการเฉพาะ
เมื่อโลกร้อนขึ้น เด็กไทยภาคไหนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
ในผลการศึกษา โดย ยูนิเซฟ ระบุว่า เด็กในจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงสุด
เฉพาะเจาะจงไปกว่านั้น คือ เด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส เป็น 5 อันดับแรก
และตามมาด้วย สุรินทร์ สงขลา บุรีรัมย์ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี
โดยภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในประเทศไทย คือ ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และอากาศร้อนจัด
และปัญหาก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากสภาพอากาศเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นฐานะ ที่อยู่อาศัย ซึ่งในจังหวัดที่ระบุว่าเสี่ยงที่สุดถูกประเมินว่ามีโอกาสปรับตัวได้น้อย
ขณะเดียวกัน นโยบายของประเทศ เรื่องการรับมือโลกร้อน ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็มีแต่ภาพกว้างๆ ไม่ได้วิเคราะห์เจาะลึกว่ากลุ่มไหนมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ จึงไม่แผนการช่วยเหลือที่ชัดนัก
ซึ่งเด็กจากครอบครัวยากจน เด็กในชนบท เด็กพิการ และเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน คือกลุ่มที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
แล้วเราต้องทำอย่างไร
ยูนิเซฟ วางข้อเสนอและแนวทางแก้ไข บรรเทา ไว้ 4 ข้อ ประกอบด้วย
(1) นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องให้ความสำคัญกับเด็ก
โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องมีมาตรการที่จะปกป้องพวกเขาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม
(2) ส่งเสริมความตระหนักรู้ ความรู้ และทักษะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็ก ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา
เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่ากำลังได้รับผลกระทบอย่างไร และจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างไร
(3) เสริมสร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง
ผ่านการเสริมสร้างความรู้และทักษะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนการเตรียมความพร้อม การป้องกัน และการตอบสนองต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และการพัฒนาระบบเตือนภัยและเฝ้าระวังที่มีประสิทธิผลและทันต่อเหตุการณ์ ที่ทุกคนรวมทั้งเด็กในกลุ่มเปราะบางที่สุด สามารถเข้าถึงและปฏิบัติตามได้ง่าย
(4) สร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม ในการแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการป้องกันและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตัวเอง
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย นางคยองซอน คิม ยังตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า
ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังพรากอนาคตของเด็กๆ ไป แต่ประเด็นนี้กลับยังไม่ได้รับความสนใจและการแก้ไขเท่าที่ควร
เพราะเด็กมีความเปราะบางต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าผู้ใหญ่
พวกเขามีระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทที่อ่อนแอกว่า
อีกทั้งยังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นอยู่โดยรวม
อ้างอิง
การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย https://shorturl.asia/MZGkn
โฆษณา