31 มี.ค. 2023 เวลา 03:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Apollo 13 "อพอลโล 13" ปฏิบัติการกู้ชีพครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

11 เมษายน 2513 ยาน Apollo 13 ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา เดินทางไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ ด้วยความหวังจะเป็นภารกิจที่ 3 ของมนุษย์ชาติในการลงเดินบนดาวต่างดวง
โดยมีลูกเรือ 3 คนได้แก่ เจมส์ โลเวลล์ (James A Lovell) จอห์น สวิกเกิร์ต (John L Swigert) และ เฟรด ไฮส์ (Fred W Haise)
ในช่วงเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาสามารถส่งมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้แล้วถึง 2 ครั้ง การเดินทางไปเยือนดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของเรากลายเป็นเรื่องที่หลายคนคุ้นชินกันไปแล้ว และภารกิจอพอลโล 13 ก็ถูกคาดหวังไว้ว่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
ทว่าเรื่องราวกลับพลิกผันแทบจะทันที เมื่อถังออกซิเจนระเบิดขึ้นกลางอวกาศ ทำให้ภารกิจการสำรวจดวงจันทร์กลายเป็นปฏิบัติการกู้ชีพครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ด้วยเป้าหมายสูงสุดคือการพานักบินอวกาศทั้งสามกลับบ้านให้ได้อย่างปลอดภัย
ยานอะพอลโล 13 ถูกปล่อยออกจากแหลมคะแนเวอรัล มุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ในวันที่ 11 เมษายน 1970 โดยจุดหมายของยานอยู่บนที่ราบสูง Fra Mauro ของดวงจันทร์ ที่ซึ่งนักบินอวกาศทั้งสามจะทำการสำรวจแอ่ง Imbrium และทำการทดลองทางธรณีวิทยา
14 เมษายน หลังจากปล่อยยานไปได้ราว 55 ชั่วโมง อพอลโล 13 อยู่ห่างจากโลกไปราว ๆ 330,000 กิโลเมตร Sy Liebergot ทีมงานในห้องควบคุมบนโลกได้พบว่ามีสัญญาณเตือนความดันต่ำในถังไฮโดรเจนของยาน Odyssey (ชื่อของยานควบคุม) ซึ่งพวกเขาก็ได้สั่งการให้ลูกเรือเปิดสวิตช์คนถังไฮโดรเจนและออกซิเจน โดยนี่เป็นขั้นตอนปกติที่ทีมภาคพื้นสั่งให้ลูกเรือทำ
สองนาทีให้หลัง ลูกเรือบนยานระบุว่าพวกเขาได้ยิงเสียงระเบิดที่ค่อนข้างดัง ไฟในยานตก และระบบขับดันทำงานขึ้นในทันที ยานทั้งลำสั่นไหวราวกับถูกพุ่งชนด้วยอะไรบางอย่าง การสื่อสารกับโลกขาดหายไปเกือบ 2 วินาทีด้วยกัน ในตอนนี้เองที่ Swigert รายงานกับศูนย์ควบคุมว่าบนยานได้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว ถังออกซิเจนอ่านค่าได้เป็น 0 และเซลล์เชื้อเพลิงที่สร้างพลังงานให้กับยานด้วยการผสมไฮโดรเจนรวมกับออกซิเจนเองก็ถูกปิดลงไป เนื่องจากไม่มีออกซิเจนให้ใช้
1 ชั่วโมงหลังการระเบิด ศูนย์ควบคุมสั่งนักบินทั้งหมดให้ย้ายไปอยู่ในยาน Lunar Module (LM) ซึ่งยังมีออกซิเจนเพียงพอ แต่ยาน LM ได้รับการออกแบบมาสำหรับใช้เดินทางไปกลับระหว่างยานบริการหลักและพื้นผิวดวงจันทร์ มีพลังงานเพียงพอสำหรับนักบินเพียง 2 คนแค่ 45 ชั่วโมง หากลูกเรือทั้งสามต้องอาศัยยาน LM กลับสู่โลก ระบบให้พลังงานของยานจะต้องทำงานหนักสำหรับคน 3 คนอย่างน้อย 90 ชั่วโมง และเดินทางไกลกว่า 2 แสนไมล์กว่าจะถึงโลก
นักบินท้ังหมดกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตที่สุดในชีวิต และต้องหาทางเอาตัวรอดจากการอยู่ในสภาวะที่พลังงานทุกด้านจำกัด อุณหภูมิในยานลดต่ำลงเกือบถึงจุดเยือกแข็ง ตัวกรองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ใช้งานไม่ได้ในระบบของยาน LM ทั้งสามต้องประดิษฐ์ใหม่จากวัสดุที่หาได้ในยาน อีกท้ังยาน LM ยังขาดระบบนำทางที่ถูกออกแบบมาให้คำนวณทิศทางซับซ้อนได้อย่างแม่นยำ นักบินและศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินจึงต้องคำนวณหาเส้นทางที่จะพายานกลับสู่โลกด้วยตัวเอง
อพอลโล 13 อยู่ไกลกว่าโลกเกินที่จะหันหัวกลับได้ในทันที นั่นทำให้พวกเขาต้องใช้วิธี Free-return trajectory ซึ่งก็คือการใช้แรงดึงดูดของดวงจันทร์เหวี่ยงยานกลับสู่โลกนั่นเอง
แน่นอนว่าวิธีนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากทรัพยากรบนยานที่ร่อยหรอลง แต่ก็ไม่มีวิธีไหนที่อาจช่วยลูกเรือได้ดีกว่านี้อีกแล้ว ดังนั้นพวกเขาจะมุ่งหน้าต่อไปอ้อมหลังดวงจันทร์ และใช้เวลาอีกราว 3 วันเพื่อเดินทางกลับโลก
หลังจากแยกตัวออกจากยานบริการหรือ Service Module นี่เป็นครั้งแรกที่ลูกเรือได้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยานแบบจัง ๆ โดยแผงด้านข้างทั้งแผงได้ระเบิดออกมาเลย ซึ่งทำให้เกิดความกังวลขึ้นมาว่าแผ่นกันความร้อนของยานอาจมีความเสียหายเกิดขึ้น และนั่นก็คือจุดสิ้นสุดของภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นี่เป็นครั้งแรกที่มนุษย์ออกไปไกลจากโลกมากที่สุดถึง 248,655 ไมล์ แล้วใช้แรงเหวี่ยงและการจุดระเบิดขับเคลื่อนเครื่องยนต์นาน 5 นาทีเพื่อให้ยาน LM มีแรงส่งเพียงพอที่จะกลับสู่โลกได้
อพอลโล 13 ขาดการติดต่อกับโลกไปราว 6 นาที ซึ่งนานกว่าที่ยานปกติจะเผชิญระหว่างกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเกือบ 2 นาทีด้วยกัน และนั่นคือความหวาดกลัวที่ทีมงานภาคพื้นไม่อยากให้เกิดขึ้น
เมื่อยานควบคุมโผล่ออกมาจากกลีบเมฆ พร้อมกับร่มชูชีพทั้งสามกางออกอย่างปลอดภัย เสียงเฮเฉลิมฉลองดังก้องขึ้นทั้งศูนย์ควบคุมที่ฮูสตัน อพอลโล 13 กลับโลกอย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 1970 ปิดฉากภารกิจกู้ภัยอันยิ่งใหญ่นี้ลงอย่างสวยงาม รวมระยะเวลาผจญภัยนอกโลกนาน 6 วันเต็ม
การช่วยเหลือนักบินอวกาศจากภารกิจอพอลโล 13 กลับมายังโลกได้นั้นได้ทำให้ภารกิจนี้ขึ้นพาดหัวข่าวไปทั่วโลก ถึงแม้ภารกิจจริง ๆ ในการลงสำรวจดวงจันทร์จะไม่สำเร็จ แต่การที่พวกเขาทั้งสามรอดชีวิตกลับมายังพื้นผิวโลกนั้นก็ทำให้ผู้คนแทบทั้งโลกร่วมแสดงความยินดีและโล่งอกไปตาม ๆ กัน
อพอลโล 13 เป็นเพียงภารกิจเดียวเท่านั้นในโครงการอพอลโล ที่ไม่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ตามแผนการณ์ที่วางเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ภารกิจนี้ก็ขึ้นชื่อว่าล้มเหลวลงด้วยความสำเร็จ NASA ได้บทเรียนครั้งสำคัญอีกครั้ง เช่นเดียวกับการปลุกกระแสด้านการสำรวจอวกาศขึ้นมาในสังคมอีกครั้งหนึ่ง
ขอบคุณครับ :)
โฆษณา