31 มี.ค. 2023 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

ตัวแรกในรอบ 40 ปี ลูกแร้งรัพเพลล์เกิดใหม่ในสวนสัตว์ลอนดอน

และแล้วช่วงเวลาแห่งความหวังก็เดินทางมาถึง
8 มีนาคมที่ผ่านมา สวนสัตว์ลอนดอนได้ทำการต้อนรับสมาชิกใหม่ เป็นลูกแร้งกริฟฟอนรัพเพลล์ ที่ฟักออกมาจากไข่
และนับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ที่มีแร้งเกิดใหม่ในสวนสัตว์แห่งนี้
เจ้าตัวเล็กเกิดมาด้วยน้ำหนัก 115 กรัม (เท่ากับสบู่หนึ่งก้อน) ได้รับการตั้งชื่อว่า ‘เอ็กเบิร์ต’
Photo : London Zoo
มันได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่สวนสัตว์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องแร้งเป็นอย่างดี นับตั้งแต่วันที่ยังอยู่ในไข่ จนถึงวันกระเทาะเปลือกออกมาชมโลก
ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเจ้าเอ็กเบิร์ตเป็นไข่ฟองแรกของ ‘ฟิโลมีนา’ แม่ของมัน
เมื่อไม่เคยมีลูกมาก่อน ฟิโลมีนาจึงมักทิ้งไข่ไว้กับรังเป็นเวลานานๆ ซึ่งหมายถึงการไม่ยอมฟักไข่
ไข่ของเอ็กเบิร์ตจึงถูกสลับมาฟักในตู้อบแทน (ในรังตั้งไข่ปลอมไว้หลอกแม่)
ทางสวนสัตว์ระบุว่า เอ็กเบิร์ตจะอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน จนกว่าจะเริ่มกินอาหารได้เอง แล้วจะส่งคืนให้กับฟิโลมีนาและคัธเบิร์ตผู้เป็นพ่อ
แต่ละวันเจ้าหน้าที่จะป้อนนมเอ็กเบิร์ตวันละ 4 มื้อ และทานโปรตีนเชคจากเนื้อนกกระทาและหนู ตอนนี้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมาเป็น 265 กรัม มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ
Photo : London Zoo
สำหรับแร้งกริฟฟอนรัพเพลล์ ได้รับการขนานนามว่าเป็นสายพันธุ์แร้งที่มีเพดานการบินสูงที่สุดในโลก
มีการบันทึกสถิติว่าบินสูงถึง 10,973 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล - เป็นความสูงระดับเดียวกับเครื่องบิน
เคยมีบันทึกถึงการตายของแร้งจากเครื่องยนต์ไอพ่นเครื่อบินเหนือประเทศโกตติวัวร์
ในธรรมชาติ บ้านเกิดของแร้งกริฟฟอนรัพเพลล์ อาศัยอยู่ในแถบรอยต่อซาเฮล และแอฟริกาตะวันออก คอยทำหน้าที่ดูแลสุขภาพให้คนและสัตว์ในท้องถิ่นปราศจากโรคภัยไข้เจ็บจากเชื้อในธรรมชาติ
แต่คุณประโยชน์เหล่านั้นได้ถูกมองข้ามไปในปัจจุบัน
ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้คุกคามชีวิตของแร้ง จนจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุมีทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ทำให้ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำรัง และแหล่งอาหารลดลง
แต่เชื่อกันว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้แร้งตายลงอย่างมากเกิดจากสารพิษคาร์โบฟูราน ซึ่งคนเลี้ยงสัตว์ตั้งใจใส่ไว้ในซากสัตว์เพื่อฆ่าล้างแค้นสิงโตและไฮยีนา
แต่เป็นแร้งที่มาพบซากก่อน และรับเคราะห์ไปอย่างน่าเศร้า
ซากสัตว์ที่มียาพิษหนึ่งตัว สามารถฆ่าแร้งได้คราวละไม่ต่ำกว่า 30 ตัว หรือบางครั้งอาจตายมากเป็นหลักร้อย
สาเหตุอีกประการมาจากความเชื่อท้องถิ่นว่าชิ้นส่วนร่างกายของแร้งใช้เป็นยารักษาโรคได้ ทั้งยังถูกใช้ในพิธีกรรมทางด้านโชคลางของคนบางกลุ่ม
ผลจากการกระทำต่างๆ ส่งผลให้ประชากรแร้งกริฟฟอนรัพเพลล์เหลืออยู่ประมาณ 22,000 ตัว และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง มีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
Photo : Vulture Conservation Foundation
ประเทศที่ยังพอเป็นความหวังการอนุรักษ์ คือ แทนซาเนีย มีแร้ง 3,000 คู่ เคนยา มีแร้ง 2,000 คู่ เอธิโอเปีย มีแร้ง 2,000 คู่ ซูดาน มีแร้ง 2,000 คู่ และแอฟริกาตะวันตก 2,000 คู่
นอกจากนี้ ระยะหลังยังมีการพบแร้งสายพันธุ์นี้ที่สเปนและโปรตุเกส - การปรากฎตัวในยุโรปยังคงมีที่มาเป็นปริศนา
บางครั้งคนยุโรปมองเห็นนกขณะบินอยู่บนฟ้า แต่บางครั้งเป็นการพบแร้งหิวโหยบนพื้นดิน
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 หน่วยงานอนุรักษ์ในประเทศโปรตุเกสได้ติดเครื่องส่งสัญญาณไว้ที่แร้ง 3 ตัว เพื่อศึกษาพฤติกรรมการอพยพ
นอกจากถิ่นอาศัยตามธรรมชาติดังที่กล่าวแล้ว สวนสัตว์ต่างๆ อย่างสวนสัตว์ลอนดอน คือ บ้านอีกหลังที่คอยเก็บและรักษาพันธุกรรมของแร้งไว้
การมีลูกแร้งเกิดใหม่ในสวนสัตว์ คืออีกหนึ่งหลักประกันการปกป้องสายพันธุ์ และการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับสายพันธุ์ธรรมชาติในอนาคต
อ้างอิง
Conservation success: Critically endangered vulture chick hatches at London Zoo for the first time in 40 years https://shorturl.asia/F8BOA
First Ruppell’s Vulture tagged and released in Portugal https://shorturl.asia/slfB5
ภาพประกอบ London Zoo
โฆษณา