3 เม.ย. 2023 เวลา 09:06 • ปรัชญา

“ถ้ารู้สึกตัวไม่เป็น ไม่มีทางหลุดพ้น”

“ … จุดแรกเลยที่จะต้องภาวนาให้ได้
คือปลุกจิตให้ตื่นขึ้นมา ให้จิตตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัว
จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
ถ้าจิตใจเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เราปฏิบัติไม่ได้จริง
เพราะว่าเราปฏิบัติธรรม เพื่อจะให้เห็นความจริงของตัวเรา
คือกายกับใจ
ถ้าจิตใจเราหนีกายหนีใจไป
มันจะไปเห็นความจริงที่ไหนได้
ไม่รู้ความจริงได้หรอก
เพราะฉะนั้นจุดตั้งต้น เราจะต้องฝึกตัวเองให้ตื่นขึ้นมา
ให้จิตมันตื่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ถ้าจิตของเราเป็นผู้หลับผู้ฝันอยู่ มันก็ลืมตัวเอง
อย่างเวลาเรานอนหลับ เราฝัน
เรามีร่างกายเราก็ลืม เรามีจิตใจเราก็ลืม ลืมตัวเอง
คนส่วนใหญ่ตื่นนอนมา มันตื่นเฉพาะร่างกาย
จิตมันก็ยังฝันอยู่เหมือนเดิม
หลงอยู่ในโลกของความคิดตลอดเวลา
ตราบใดที่ยังฝันอยู่ ก็จะไม่สามารถเห็นความจริง
อย่างตอนเรานอนหลับฝัน
เรามีร่างกายเราก็ลืมร่างกาย
เรามีจิตใจเราก็ลืมจิตใจ
พอเราตื่นขึ้นมา มันตื่นแต่ร่างกาย
จิตใจมันก็ยังอยู่ในโลกของความคิดความฝันอยู่
มีกายมันก็ลืมกาย มีจิตใจมันก็ลืมจิตใจ
แบบเดียวกัน
ทีนี้เราจะปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ได้
ก็ต้องหมดความยึดถือในรูปนามกายใจนี้
เราจะหมดความยึดถือในรูปนามกายใจได้
ต่อเมื่อเราเห็นความจริงของรูปนาม ของกายของใจ
มันไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไรหรอก
เป็นของชั่วคราว แล้วมันไม่เที่ยง
มันกำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา
เรียกว่ามันเป็นทุกข์
มันไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ
มันเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราต้องการ
อันนั้นเรียกว่าอนัตตา
ถ้าเราสามารถเห็นความจริงของกายของใจได้
ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เห็นมุมใดมุมหนึ่งก็พอแล้ว มันก็จะปล่อยวาง
เหมือนที่พระพุทธเจ้าบอก
“เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย
เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ
เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น ปล่อยวางได้”
เราจะสามารถเห็นความจริงของกายของใจได้
จิตเราต้องตื่น
ถ้าจิตเราไปหลงอยู่ในโลกของความคิดความฝัน
มันก็ไม่เห็นกายเห็นใจ
มีกายลืมกาย มีใจลืมใจ
เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุดเลยสำหรับการปฏิบัติ
พวกเราต้องรู้สึกตัวให้ได้ หลุดออกจากโลกของความฝัน มาอยู่ในโลกของความจริงให้ได้
มีกายก็ให้รู้สึกว่ามันมีร่างกาย
มีจิตใจก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ
ไม่ใช่มีกายก็ลืม มีใจก็ลืม คิดฝันเพ้อเจ้อตลอดเวลา
ถ้าเราสามารถรู้สึกกายรู้สึกใจได้
เราก็จะสามารถเรียนรู้ ความจริงของร่างกายของจิตใจได้
ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา
พอเราเห็นความจริงของกาย
ความรักใคร่หวงแหนผูกพันในกายก็จะลดลงๆ
สุดท้ายจิตใจก็หมดความยึดถือในร่างกาย
ถ้ามันยังรักใคร่หวงแหนอยู่ มันก็ยังยึดถืออยู่
มันรักใคร่หวงแหน เพราะมันคิดว่าร่างกายนี้เป็นของดีของวิเศษ
ถ้าเรารู้สึกตัวรู้สึกกายไปบ่อยๆ
เราจะเห็นร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษเลย
ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์
นั่งอยู่ก็ทุกข์ ยืนอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์
อย่างนอน เราก็ต้องนอนพลิกไปพลิกมา เพราะมันปวด มันเมื่อย นอนสบายๆ อยู่ประเดี๋ยวเดียว ร่างกายก็ถูกบีบคั้น มันทนอยู่ไม่ได้
ถ้าเราไม่สามารถพลิกตัวได้ ไม่นานก็เป็นแผลกดทับ ติดเชื้อตายไปอีก เพราะฉะนั้นที่เราต้องพลิกซ้ายพลิกขวาอะไรไปเรื่อย เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อย เพื่อหนีทุกข์
ถ้าเรามีสติรู้สึกอยู่ในร่างกาย รู้เนื้อรู้ตัวอยู่
เราถึงจะเห็นความจริง ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีหรอก
ร่างกายเป็นทุกข์ ร่างกายเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ
มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา
เช่นหายใจเข้าแล้วก็หายใจออก
หายใจออกแล้วก็หายใจเข้า ธาตุมันก็เคลื่อน
กินอาหารเข้าไป ดื่มน้ำเข้าไป แล้วก็ขับถ่ายออกมา ปัสสาวะออกมา ธาตุมันหมุนเวียนอยู่อย่างนี้เอง
ที่จริงแล้วสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา ร่างกายนี้คือตัวเราๆ
จริงๆ แล้วมันก็เป็นแค่วัตถุ เป็นวัตถุ เป็นสมบัติของโลก
ไม่ใช่ตัวเราของเราจริง
เรายืมโลกมาใช้ ไม่นานเราก็ต้องคืนให้โลกไป
คนอื่นก็เอาไปใช้ต่อ
อย่างร่างกายของเรา เรารัก เราหวงแหน
พอเราตายไป เอาไปฝัง เอาไปทิ้ง
หรือหนอนเอาไปกิน นกก็มากินหนอน
คนไปกินนกอะไรอย่างนี้ หมุนเวียนไป
หรือเอาไปเผา ดินก็ถูกเผาไป น้ำมันก็ระเหยไป
ธาตุลมมันก็หยุด มันก็กลายเป็นเศษดินเป็นอะไรไป
น้ำก็แยกไปเป็นน้ำ ดินก็แยกไปเป็นดิน ลมก็แยกไปเป็นลม
ไฟก็แยกไปเป็นส่วนของไฟ
ส่วนของพลังงาน นั่นก็คืนโลก คนอื่นก็เอาไปใช้อีก
อย่างน้ำในร่างกายเรา น้ำเลือดอะไรของเรา
ก่อนจะมาเป็นน้ำเลือดของเรา
มันอาจจะเป็นน้ำเหลือง ศพใครก็ไม่รู้
เพราะว่าน้ำมันอยู่สมบัติของโลก ก็ผลัดกันใช้
ถ้าเรามีสติอยู่ เราตื่น เรารู้สึกตัวอยู่
แล้วสติระลึกรู้ร่างกายได้
มันก็จะเห็นความจริงของร่างกาย
ร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์บีบคั้น
ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา
เป็นสมบัติของโลก ที่เรายืมโลกมาใช้ชั่วคราว
แล้วเราก็ต้องคืนเจ้าของ
ถ้าเรารู้ตัวอยู่ มีความรู้สึกตัวอยู่
เรามีร่างกาย เราก็รู้สึกถึงร่างกาย
แล้วต่อไปเราก็เห็นความจริงของร่างกาย
แต่ถ้าเราใจลอย วันๆ หนึ่งเล่นแต่โซเชียล
ด่าคนโน้น ชมคนนี้ กดโน้น กดนี้ เพลินๆ ไป
เรามีร่างกายเราก็ลืม
เราลืมร่างกายของตัวเอง เราลืมจิตใจของตัวเอง
เมื่อเราลืมกายลืมใจ เราไม่มีความรู้สึกตัวเหลืออยู่
แล้วเราจะไปเห็นความจริง ของร่างกายของจิตใจได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญมากของการปฏิบัติ ที่จะพ้นทุกข์ได้หรือไม่ได้
ถ้ารู้สึกตัวไม่เป็น ไม่มีทางหลุดพ้นหรอก
ความรู้สึกตัว พูดแล้วง่าย มาฝึกให้เกิดไม่ใช่ง่าย อย่างพวกพระมาบวชอยู่กับหลวงพ่อนี้ บางองค์ปฏิบัติมาตั้ง 20 ปีแล้ว เป็นโยมอยู่ มาบวช 2 – 3 เดือนถึงจะรู้ว่า โอ๊ย ที่ผ่านมามันไม่เคยรู้สึกตัวเลย มันฝันอยู่ตลอดเวลา
ไม่เคลิ้มฝันไป ก็นั่งเพ่ง นั่งจ้องร่างกายจิตใจ
จ้อง เพ่งๆ เอาไว้ นั่นไม่ใช่ความรู้สึกตัว
ภาวะที่ไม่เผลอ ไม่เพ่ง ก็คือภาวะแห่งความรู้สึกตัว
ลักษณะของความรู้สึกตัว คือเราไม่เผลอ ลืมกายลืมใจของตัวเอง
ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ไปเพ่ง ไม่เพ่งกาย ไม่เพ่งใจ
แล้วก็ไม่เพ่งสิ่งอื่นด้วย
ฉะนั้นคำว่า “ไม่เผลอ” คำว่า “ไม่เพ่ง”
ถ้าเรามีตัวนี้ เราจะรู้สึกตัวได้
ร้อยทั้งร้อย นี่พูดแบบตามใจที่คิดเลย ร้อยละร้อย ในโลกมันไม่มีคนรู้สึกตัว ในโลกมันมีแต่คนหลง หลงอยู่ในโลกของความคิดความฝัน
มันตื่นแต่ร่างกาย แต่จิตมันฝันตลอดเวลา มโนเอา คิดโน้นคิดนี้ไป แล้วก็คิดว่าจริงจังขึ้นมา เรื่องที่คิดถูกบ้าง ผิดบ้าง ไม่มีสาระแก่นสารอะไร น้อยคนที่จะรู้สึกตัวขึ้นมาได้
ทำอย่างไรเราจะรู้สึกตัว
ถ้าเมื่อไรเรารู้จักสภาวะหลง หรือความลืมตัว
ถ้าเรารู้ว่าลืมตัวเมื่อไร ความลืมตัวจะดับ
ความรู้สึกตัวจะเกิด
มันง่ายๆ มันเหมือนเหรียญอันหนึ่ง
ไม่ออกหัวก็ออกก้อย ไม่หลงก็รู้สึก
เราพยายามเรียนรู้ เรียนรู้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แล้วจิตหลงไปคิดให้รู้ทัน
อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
จิตมันหลงไปคิดเรื่องอื่น มันลืมพุทโธ
ให้เรารู้ทัน มันลืมการหายใจ ให้เรารู้ว่า
โอ้ นี่หลงไปคิดแล้ว ไปคิดเรื่องกุนขแมร์ อะไรอย่างนี้
มันหลงแล้ว ให้รู้ทัน
ทันทีที่เรารู้ว่าหลง ความหลงจะดับ
ความรู้สึกตัวจะเกิดขึ้นแทน
จิตใจมันจะรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา
ศัตรูเบอร์หนึ่งของความรู้สึกตัวคือหลง หลงคืออะไร
หลงก็คือลืม ลืมตัวเอง มีกายลืมกาย มีใจลืมใจ
มัวแต่ไปคิดเรื่องอื่น
ศัตรูเบอร์สองก็คือการเพ่งเอาไว้ จิตนั้นมันหลง เพ่ง
จริงๆ แล้ว หลวงพ่ออยากใช้คำที่ตรงๆ เลย
คำว่า “เพ่ง” ฟังแล้วยังไม่สะใจ
คำที่ถูกต้องคือ “หลงเพ่ง” ไม่ใช่เพ่งธรรมดา
แต่หลงไปเพ่ง
อย่างเวลาเราทำกรรมฐาน แล้วเราหายใจ
จิตเราหลงไปจ้องลมหายใจ
จมลงไปที่ลมหายใจ แล้วเราไม่รู้
จิตมันหลงไปเพ่ง เราไม่รู้
ถ้ามันเพ่งแล้วเรารู้ว่าเพ่ง
อันนั้นไม่เรียกว่าหลงเพ่ง
แต่ส่วนใหญ่เวลาทำกรรมฐาน
อย่างดูท้องพองยุบ จิตไหลลงไปอยู่ที่ท้องแล้วไม่เห็น
อันนั้นก็เรียกว่าหลงเพ่ง
เดินจงกรมจิตไปกำหนดอยู่ที่เท้า
หรือกำหนดอยู่ที่พื้น กำหนดออกข้างนอกไป
อันนั้นก็คือหลงเพ่ง
ขยับมือทำจังหวะ แล้วก็จ่อ จิตจ่อลงไปในมือ
อันนั้นก็เรียกว่าหลงเพ่ง
หลงก็เลยมี 2 หลง
หลงลืมกายลืมใจ อันนี้ร้ายแรงที่สุด
แล้วก็หลงเพ่ง จิตถลำลงไปจ้องนิ่งๆ อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
อย่างรู้ลมหายใจก็ไปจ้องลม ดูท้องก็ไปจ้องท้อง
จิตถลำลงไปอยู่ที่ท้องแล้วไม่เห็น
อันนั้นเรียกว่าหลง ไม่ใช่ความรู้สึกตัว
1
บางคนบอก ฉันรู้สึกตัวตลอดเวลา
ท้องฉันพองฉันก็รู้ ท้องฉันยุบฉันก็รู้
ไม่เห็นอย่างหนึ่งว่า จิตมันถลำลงไปเพ่งอยู่ที่ท้อง
อันนั้นยังไม่ใช่ความรู้สึกตัวที่แท้จริง
มันก็คือหลง ยังหลงอยู่ หลงเพ่ง
หลงเผลอคือหลงลืม โอกาสจะไปอบายสูง
หลงเพ่งไปสุคติได้ แต่ไปนิพพานไม่ได้
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสเอาไว้ เทวดาเคยไปถามพระพุทธเจ้าว่า “พระองค์ข้ามโอฆะ คือข้ามห้วงน้ำ ข้ามกิเลสได้อย่างไร”
1
ท่านบอกว่า “เราข้ามโอฆะ ข้ามกิเลสได้ เพราะเราไม่เผลอ แล้วเราก็ไม่เพ่ง ถ้าเผลออยู่เราจะจมลง ถ้าเพ่งอยู่เราจะลอยขึ้น เราไม่เผลอ เราไม่เพ่ง เราข้ามโอฆะได้ด้วยวิธีนี้”
ภาวะที่ไม่เผลอ ไม่เพ่ง ก็คือภาวะแห่งความรู้สึกตัว
ถ้าเรารู้สึกตัว จิตก็ไม่หลงสุดโต่งข้างเผลอ
อันนี้ตามใจกิเลส เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค”
พอเราตามใจกิเลส กิเลสก็ย้อมใจเรา เวลาตายเราก็ไปทุคติ
เวลาเราเพ่ง เรากลัวบาป กลัวไม่ดี กลัวอย่างโน้น กลัวอย่างนี้ กลัวสิ่งที่ชั่วๆ ก็เพ่งเอาไว้ๆ เวลาตายก็ไปสุคติได้ ไปเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม พอจะไปได้ แต่ไม่นิพพาน เพราะอะไร
เพราะยังมีการกระทำอยู่ ยังมีการกระทำก็คือมีกรรม
มีเจตนา เจตนาตามใจกิเลสก็หลงไป
เจตนาสู้กับกิเลสก็เพ่งเอาไว้
มีเจตนา ก็มีการกระทำกรรม คือตามใจกิเลส
เดี๋ยวก็ทำกรรม วิ่งไปทางตา วิ่งไปดูรูป วิ่งไปฟังเสียง
จิตทำงานหมุนติ้วๆๆ อยู่ ไม่เคยเห็น
อันนั้นจิตมันก็สร้างภพสร้างชาติไปเรื่อยๆ
แล้วส่วนใหญ่มีธรรมชาติที่ไหลลงต่ำ
เพราะตามใจกิเลส มันสะดวกสบาย
ฝืนกิเลส มันต้องต่อสู้ ต้องเข้มแข็ง
ฉะนั้นโดยธรรมชาติ จิตมีธรรมชาติไหลลงต่ำ
ถ้าเราไม่ต่อสู้ จิตเราก็จะเลวลงไปเรื่อยๆ
ดูตัวอย่างง่ายๆ เลย อย่างผู้หญิงสักคนเป็นกุลสตรี เรียบร้อย พอแต่งงานไป มีครอบครัว มีลูก มีเรื่องหงุดหงิดกวนใจเยอะแยะเลย เดี๋ยวลูกกวนตัว ผัวกวนใจ ก็เริ่มขี้บ่น เริ่มต่อสู้ด้วยการบ่น
ทีแรกก็นานๆ บ่นที ต่อไปก็บ่นเก่งๆๆ
พอแก่ๆ โห เป็นเอตทัคคะทางขี้บ่น
เจออะไรก็บ่นไปหมดเลย
อากาศร้อนก็บ่น
เห็นหมาเดินผ่านหน้าบ้านก็บ่น
บ่นไปได้ทุกเรื่อง
มันสะสม
จากความชั่วเล็กๆ มันจะค่อยๆ สะสม
ตามใจมันไปเรื่อยๆ มันก็จะแรงขึ้นๆ
เหมือนพวกเรายุคนี้ ชอบเล่นโซเชียล
เราไม่มีวินัยที่จะควบคุมจิตใจที่มันอยากเล่น
ทีแรกก็ตั้งใจจะเล่น 15 นาที
วันแรก 15 นาที วันที่สอง 30 นาทีแล้ว
สุดท้ายก็เล่นทั้งวัน
เหมือนที่พวกเราจำนวนมากเป็นอยู่ตอนนี้
ยุ่งกับโซเชียลทั้งวันเลย
ถามว่ามันเป็นอกุศล หรือมันเป็นกุศล
ขณะที่เราเล่นโซเชียล เห็นไหม
จิตเราแกว่งขึ้นแกว่งลงตลอดเวลา
เดี๋ยวก็เจอเรื่องที่ชอบใจ เดี๋ยวก็เรื่องไม่ชอบใจ
เวลาชอบใจ เราก็หลงยินดี มีราคะเกิดขึ้น
เวลาไม่ชอบใจ เราก็หลงยินร้าย มีโทสะเกิดขึ้น
ยิ่งสะสมไป จิตมันยิ่งคุ้นเคยกับความชั่วมากขึ้นๆ
จากเรื่องเล็กๆ ก่อนที่เราจะทำชั่วใหญ่ๆ ได้ เราทำชั่วเล็กๆ ก่อน แล้วก็ค่อยแก่กล้าขึ้น ก็ทำชั่วใหญ่ๆ ได้ ธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นการปล่อยตัวปล่อยใจตามใจกิเลส
สิ่งที่จะอยู่ข้างหน้าเราก็คือทุคติ ไม่ได้ไปดีหรอก
ในขณะที่ถ้าเราคอยควบคุมกาย วาจา ใจของเรา
คอยบังคับมันไปเรื่อยๆ มันก็เครียดๆ อยู่
แต่ว่าไม่ไปว่าใคร ไม่ไปฟุ้งซ่านเรื่องคนอื่น
สนใจจ้องอยู่แต่ลมหายใจ หรือท้องของตัวเอง
ก็ไม่ไปทำผิดศีลที่อื่น อันนั้นมันก็ไปสุคติได้
อย่างน้อยตอนที่นั่งเพ่งอยู่ มันก็ไม่ได้ผิดศีลอะไร
แล้วการเพ่งๆ มันก็ได้สมาธิ
แต่มันเป็นสมาธิชนิดมิจฉาสมาธิ
คือจิตมันถลำลงไปแช่อยู่ในอารมณ์อันเดียว
มิจฉาสมาธิทำไปแล้ว ไปสุคติได้ไหม ไปได้
พวกพรหมพวกอะไรก็ทำสมาธิเก่ง
เขาก็เพ่งนิ่งๆ ลืมเนื้อลืมตัวอยู่อย่างนั้น สบายๆ ไป
เพราะฉะนั้นเขาไปสุคติได้ แต่มันไม่ได้จะไปนิพพานได้
ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเลย
ความรู้สึกตัวคือภาวะที่ไม่เผลอ แล้วก็ไม่เพ่งเอาไว้
รู้สึกกายอย่างที่กายมีอยู่ รู้สึกจิตใจที่มันมีอยู่
แล้วต่อไปมันจะเขยิบขึ้นไปเดินปัญญา
แล้วก็กายเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น
จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น
มันเป็นอย่างไร มันเป็นไตรลักษณ์
อันนั้นขึ้นวิปัสสนา
ในขั้นต้นที่เราจะรู้สึกตัว
เรารู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย
รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ
คือความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย
ความรับรู้ทั้งหลาย
นั่นคือส่วนของนามธรรม หรือจิตใจ
1
เราจะต้องรู้ รู้ลงที่กาย รู้ลงที่ใจได้
จิตอย่าให้มันหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ฟุ้งๆ ไปทั้งวัน อันนั้นไปทุคติ
แล้วก็อย่าไปเพ่งกาย อย่าไปเพ่งใจ
ให้มันเคร่งเครียด
อันนั้นไปสุคติได้ แต่ไปนิพพานไม่ได้ เพราะอะไร
เพราะปัญญามันไม่เกิด มันไม่เห็นไตรลักษณ์
อย่างเราเพ่งลมหายใจ จิตเราจมลงไปที่ลมหายใจ
จะไม่มีทางเห็นไตรลักษณ์เลย
หรือเราดูท้อง จิตเราจมอยู่ที่ท้อง
ไม่มีทางเห็นไตรลักษณ์
จิตจะเห็นไตรลักษณ์ได้ จิตต้องตั้งมั่น ต้องรู้เนื้อรู้ตัว
จิตถอนตัวจากผู้แสดงมาเป็นผู้เห็น
เปลี่ยนจากผู้แสดง นักแสดง
เปลี่ยนจากนักแสดง เปลี่ยนจากความเป็นผู้กำกับ
เปลี่ยนจากการเป็นผู้เขียนบท
เปลี่ยนจากการเป็นผู้วิจารณ์
มาเป็นคนเห็นเฉยๆ
เห็นร่างกาย เห็นจิตใจ
มันยากไหม มันไม่ยากหรอก
ขั้นแรกเลย พวกเราต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
เอาที่เราคุ้นเคย กรรมฐานอะไรก็ได้
หายใจเข้าพุทออกโธก็ได้ ดูท้องพองยุบก็ได้
ยกเท้าย่างเท้า ขยับไม้ขยับมือ อะไรก็ได้
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แต่เคล็ดลับมันอยู่ตรงที่
ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร ให้รู้ทันจิตใจของตนเองไว้
อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น ให้รู้ทัน
หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหลง ถลำลงไปเพ่งลมหายใจ ให้รู้ทัน
เราดูท้องพองยุบก็ดูไป แล้วก็รู้ทันจิต
จิตหลงไปคิด รู้ทัน
จิตถลำลงไปอยู่ที่ท้องแล้ว
จมลงไปอยู่ที่ท้องแล้ว รู้ทัน
คอยรู้ทันสภาวะ 2 อย่าง
คือสภาวะเผลอกับสภาวะเพ่ง
เผลอก็คือ การที่มันลืมอารมณ์กรรมฐานอันนั้นไปแล้ว
ส่วนมากก็จะหลงไปคิดโน้นคิดนี้ไป
กับสภาวะที่เพ่งก็คือ จิตมันจมลงไปในอารมณ์กรรมฐานอันนั้น
ไปนิ่งๆ ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น
ให้คอยรู้ทันสภาวะหลงตัวนี้ล่ะ
ก็หลงคิดหรือเผลอไป ก็รู้ หลงเพ่ง ก็รู้
ไปฝึกซ้อมตัวนี้ให้มาก
ไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็ฝึกซ้อมที่จะรู้
จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งก็รู้
ไปทำให้มากๆ แล้วต่อไป พอจิตมันหลงไปคิดปุ๊บ สติเกิด
พอสติเกิด จิตจะตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาได้ทันที
เราดูร่างกายอยู่ จิตหลงไปคิดปุ๊บ รู้ทัน
หรือจิตไปเพ่งปุ๊บ รู้ทัน ความหลงก็จะดับ
ความรู้เนื้อรู้ตัวก็จะเกิดขึ้นในฉับพลัน …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
25 มีนาคม 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา