6 เม.ย. 2023 เวลา 13:03 • ไลฟ์สไตล์

“อะไรที่ถูกรู้ อันนั้นไม่ใช่เรา”

“ … ของฟรีไม่มี ต้องฝึกบ่อยๆ แล้วมันจะเป็น
เราสั่งให้ความรู้สึกตัวเกิดขึ้นไม่ได้
เราสั่งไม่ได้แต่เราอาศัยการฝึก
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทัน
เวลามันลืมตัวเอง จะลืมด้วยการเผลอไปคิด
หรือเผลอไปเพ่งก็ตาม
ถ้าเรารู้ว่าจิตมันหลงไป จิตมันเผลอไป
จิตที่เผลอมันจะดับ จิตที่รู้มันจะเกิดอัตโนมัติ
ทำบ่อยๆ ทีแรกก็เผลอยาว ต่อไปก็เผลอสั้นลงๆ
จิตมันจำสภาวะความเผลอได้แม่น
อ๋อ เผลอคิดไปอย่างนี้ เผลอเพ่งมันเป็นอย่างนี้
พอมันจำสภาวะได้แม่น
ต่อไปพอสภาวะอันนั้นเกิดขึ้น
เช่น ความหลงคิดเกิดขึ้น ความหลงเพ่งเกิดขึ้น
สติจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
ทันทีที่สติเกิด สมาธิที่แท้จริง คือสัมมาสมาธิ
คือความตั้งมั่น จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
มันตั้งมั่นอย่างไร
สภาวะที่มันตั้งมั่น ก็คือมันไม่ไหลไปในโลกของความคิด
รวมทั้งไม่ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กายด้วย
ไม่ไหลไปในโลกของความคิด อันนั้นส่วนหนึ่ง
แล้วก็ไม่ไหลลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน นี้อีกอย่างหนึ่ง
จิตมันจะตั้งมั่น มีสมาธิ คือมันไม่หลง มันไม่ไหล
มันไม่โคลงเคลง มันไม่คลอนแคลน
กระฉอกไปซ้าย กระฉอกไปขวา
วิ่งไปอดีต วิ่งไปอนาคต วิ่งไปคิดดี วิ่งไปคิดชั่ว
วิ่งไปดูรูป วิ่งไปฟังเสียง แล้วลืมตัวเอง
วิ่งไปดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางร่างกายแล้วลืมตัวเอง
ง่ายๆ อย่างเรานั่งๆ อยู่แล้วยุงมากัดเรา
สังเกตไหม เวลายุงกัด ความสนใจของเราไปที่ไหน
ที่ร่างกายที่ถูกยุงกัด
หรือความสนใจไปอยู่ที่ยุง
เราต้องดูก่อนใช่ไหม ตัวนี้มันกัดเรา
หนอยๆ บินหนีไปโน่นแล้ว ยังมองตามมันไปอีก
มันหนีไปแล้วยังตามมันไป เห็นไหม
ธรรมชาติของจิตมันอย่างนี้ มันไม่ยอมดูตัวเอง
มันชอบไปดูของอื่น
ยุงมากัด มองเห็นยุง ขยับ Concentrate อยู่ที่ยุง
ยุงหนีไปก็รู้ กะตีให้ตายเลย จะไปแก้แค้นมันมากัดเรา
ใจไปอยู่ที่ยุง ตายไปก็ไปทุคติ
สมมติว่าไล่จับยุงอยู่ ตอนนั้นสะดุดหัวฟาดกำแพงตาย
มันไปทุคติแน่นอน เพราะจิตกำลังมีโทสะอยู่
เราหัดรู้ หัดรู้สึก รู้ทันตัวเอง
ฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
จิตหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทางใจคือหลงคิดนั่นล่ะ แล้วรู้ทัน
จิตหลงลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน
จิตก็จะไม่หลง ไม่ไหลไปทางโน้นที ไม่ไหลไปทางนี้ที
จิตก็ตั้งมั่น นั่นล่ะจิตมีสมาธิขึ้นมา
โดยที่เราไม่ได้ทำอะไร
เราไม่ได้สั่งให้มันมีสมาธิ แต่สมาธิมันเกิดเอง
เมื่อศัตรูของสมาธิ คือความฟุ้งซ่านไม่มี
พอจะเข้าใจวิธีปฏิบัติไหม
ไปทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง
กรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราคุ้นเคย
แต่อย่าทำตามที่คุ้นเคยในอดีต
อย่างเราคุ้นเคยดูท้องพองยุบ แล้วจิตเราคุ้นเคย ที่จะลงไปนอนจมอยู่ที่ท้อง อันนี้เป็นความคุ้นเคยที่ไม่ดี
แต่ดูท้องพองยุบแล้วรู้ทันจิต อันนี้เราจะพัฒนาตัวเองได้
ทันทีที่จิตเราตั้งมั่นขึ้นมานั่นล่ะ
จิตใจมันจะอยู่กับเนื้อกับตัว
ไม่หลงไปในโลกของความคิดความฝัน
ไม่ถลำลงไปเพ่งสิ่งใด
จิตตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ นั่นล่ะคือความรู้สึกตัวมันจะเกิด
ฉะนั้นความรู้สึกตัว อยู่ๆ มันไม่เกิดหรอก
เราต้องสร้าง ต้องพัฒนามันขึ้นมา
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง
หลงไปคิดก็รู้ หลงไปเพ่งก็รู้
ฝึกอย่างนี้เยอะๆ แล้วต่อไปความรู้สึกตัวมันจะชำนาญขึ้นๆ
มีอะไรแปลกปลอมขึ้นในกายในใจปุ๊บ สติจะเกิดเองเลย
ตอนหลวงพ่อ 10 ขวบ ตอนนั้นบ้านเป็นตึกแถว อยู่ถนนบริพัตร ข้างๆ บ้าน เลยบ้านไปหน่อย มีตรอกมีซอยอันหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่าตรอกเขมร แต่ก่อนนี้พวกเขมรอยู่ที่นั่นเยอะ ติดตามนักองค์ด้วงเข้ามา แล้วเป็นชุมชนเขมร
อันนี้ไม่พูดเรื่องเขมร พูดสถานที่ เล่นลูกหิน เป็นเด็กอยู่ตึกแถว ก็มาเล่นลูกหินอยู่กับเพื่อนบ้าน หน้าบ้าน บนฟุตบาท เล่นๆ อยู่แล้วเห็นไฟมันไหม้ตึกแถว แถวเดียวกันแต่ห่างออกไป 4 – 5 – 6 ห้อง จำจำนวนไม่ได้ ประมาณนั้น 5 บวกลบนิดหน่อย
เห็นไฟมันไหม้พุ่งๆๆ ออกมา อันนั้นมันเป็น เขาใช้ห้องแถวเขา เป็นร้านซ่อมรถ แล้วทำท่าไหนไม่รู้ ไฟมันไหม้ขึ้นมา ควันมันพุ่งออกมา คนก็โวยวายกัน
หลวงพ่อเห็นก็ตกใจ อุ้ย ไฟไหม้ ตกใจ ก็คว้าลูกหินได้แล้วก็วิ่ง จะไปบอกพ่อก้าวที่หนึ่งตกใจ ก้าวที่สองตกใจ ก้าวที่สามมันเหมือนเปิดสวิตช์ขึ้นจากข้างในเลย มันตื่นปุ๊บขึ้นมาอัตโนมัติเลย มันแสดงว่าเราเคยฝึก
เวลาฉุกเฉิน เวลาจำเป็น ตัวรู้มันดีดผางขึ้นมาเลย มันรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาทันทีเลย วิ่งได้ 3 ก้าว จิตมันก็ตื่นขึ้นมา คราวนี้ไม่ตกใจ คราวนี้เดินไปบอกผู้ใหญ่ว่าไฟไหม้
1
แล้วเห็นคนอื่นเขาตกใจ เราก็ยืนดู
ความรู้สึกอันนั้นมันแปลก จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว
มันสบาย มันโปร่ง มันเบา
เห็นแต่คนอื่นเขาตกใจแล้วเราไม่ตกใจ
ถ้าเราเคยฝึก เราพยายามฝึกของเราไปเรื่อยๆ
ถึงจุดหนึ่งเวลาฉุกเฉินอะไรขึ้นมา
ความรู้สึกตัวมันจะเกิดขึ้นเอง
อย่างพวกเราบางคน ชอบขับรถเร็ว เรียนกับหลวงพ่อ จิตไม่ยอมตื่นสักทีเลย วันหนึ่งรถคว่ำในมอเตอร์เวย์ รถคว่ำ หมุนๆๆ แล้วพลิกไปพลิกมา จิตมันดีดตัวออกมา ตั้งมั่น ไม่ตกใจ
มันเห็นร่างกายกำลังกลิ้งไปกลิ้งมา
เห็นรถหมุนไปหมุนมา
จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นแค่คนเห็น มันไม่ตกอกตกใจ
นั่นล่ะภาวะแห่งความตื่น
มันตื่นขึ้นโดยเราไม่ได้เจตนาจะตื่น
แต่ว่ามันอาศัยการฝึก ฝึกอย่างไร
ก็ฝึกทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิต
จิตเผลอคือหลงไปคิด ก็รู้
จิตถลำลงไปเพ่ง หลงเพ่ง เราก็รู้
ฝึกเรื่อยๆ แล้วต่อไปจิตมันจะตื่นขึ้นมาอัตโนมัติได้
ค่อยๆ ฝึก ของฟรีไม่มีหรอก ต้องทำเอาเอง
ฝึกบ่อยๆ แล้วมันจะเป็น
พอเรามีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว
การเดินปัญญาจะไม่ใช่เรื่องยากแล้ว
พอจิตเราตั้งมั่น ขันธ์มันจะแยกอัตโนมัติ
พอจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ เราจะเห็นเลย
ร่างกายเป็นของถูกรู้ ร่างกายกับจิต มันคนละอันกัน
อย่างพวกเราขณะนี้ ฟังหลวงพ่อแล้วจิตมันเกิดสมาธิ เวลาฟังหลวงพ่อเทศน์ เราจะมีสมาธิอัตโนมัติเกิดขึ้น ลองรู้สึกลงไปที่ร่างกายที่กำลังนั่งอยู่ รู้สึกเฉยๆ อย่าไปจ้อง อย่าไปเพ่ง แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย
รู้สึกไหม ร่างกายเรามีอยู่ นี่ช็อตที่หนึ่ง
รู้ถึงความมีอยู่ของมัน
แล้วถัดจากนั้น รู้ถึงความเป็นไตรลักษณ์
มันไม่ใช่ตัวเรา
มันเป็นแค่วัตถุอันหนึ่ง ที่มาตั้งอยู่บนเก้าอี้ตัวนี้
เป็นวัตถุก้อนหนึ่งที่มาตั้งอยู่บนเก้าอี้นี้
จิตมันเป็นคนรู้ ร่างกายมันเป็นแค่วัตถุ มันเป็นแค่ก้อนธาตุ
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
ตรงนี้มันเดินปัญญา
แต่ตรงที่จุดแรกก่อนที่มันจะเดินปัญญาได้
มันต้องรู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย
รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ
มันจะรู้สึกถึงความมีอยู่ของกายได้
จิตต้องตั้งมั่น ต้องรู้เนื้อรู้ตัวอยู่
ถ้าลืมตัวเมื่อไร มีกายก็ลืมกาย กายหายไป
เพราะฉะนั้นเราต้องรู้สึกตัว
ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทัน
เวลามันหลง มันไม่รู้สึกตัว
หลงไปคิดก็รู้ หลงไปเพ่งก็รู้
แล้วต่อไปเราจะรู้สึกตัวขึ้นมา
พอเรารู้สึกตัวขึ้นมา จิตมันมีสมาธิแล้ว แล้วเรา
สติระลึกรู้ร่างกาย มันจะเห็น มันเป็นแค่วัตถุ
ร่างกายมันเป็นวัตถุ ที่ยกเอามาตั้งไว้บนเก้าอี้นี้
มันไม่ใช่เรา มันเป็นแค่ก้อนวัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ
ขั้นแรกรู้สึกมีร่างกายอยู่ แล้วร่างกายนี้
ช็อตที่ 2 มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นแค่วัตถุ
ตรงที่รู้สึกถึงความมีอยู่ของกายนี้ มีสมาธิแล้ว ขันธ์มันแยกได้แล้ว
แล้วตรงที่เห็นกายมันเป็นไตรลักษณ์ อันนั้นขึ้นวิปัสสนา
จิตเราตั้งมั่นเมื่อไร การแยกขันธ์จะเป็นเรื่องง่ายที่สุด
เพราะฉะนั้นถ้าจิตเราตั้งมั่นเมื่อไร
การแยกขันธ์จะเป็นเรื่องง่ายที่สุดเลย
เพราะมันแยกเอง ไม่ได้ทำอะไร
แต่ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น จิตมันจะถลำไป
หลงไปในความคิดบ้าง ถลำลงไปเพ่งจ้องในขันธ์
โดยเฉพาะในร่างกายบ้าง
ฉะนั้นเราพยายามฝึกจนกระทั่งจิตมันตื่น
มันตั้งมั่น มันรู้เนื้อรู้ตัว
พอมันรู้ตัวได้ เรารู้สึกที่กาย มันรู้สึกเอง
ไม่ใช่จงใจไปรู้สึก
ถ้าจงใจจะรู้สึก นี้หลง หลงทางใจเรียบร้อยแล้ว
อย่างเราพอจิตเราตื่น เรารู้สึก แล้วบางทีมันก็เห็น เออ สติระลึกรู้ในร่างกาย มันก็เห็น บางทีกำลังขยับแขนอยู่ บางคนแปรงฟันอยู่ กำลังแปรงฟันอยู่ จิตมันตั้งมั่นปุ๊บขึ้นมา มันเห็นเลย นี่มันไม่ใช่เราแล้ว
มันง่ายขนาดนี้ มันง่าย
แต่มันจะทำได้ ต่อเมื่อจิตมันตั้งมั่นจริงๆ
จิตมันรู้เนื้อรู้ตัว จิตมันไม่หลง
มีความรู้สึกตัวอยู่จริงๆ
เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่สำคัญที่สุดเลย
ถ้าเรารู้สึกตัวได้แล้ว จะทำสมาธิก็ทำด้วยความรู้สึกตัว
ให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่ว่ารู้ตัวอยู่
ไม่ถลำลงไปจม ไปเพ่ง ให้เคร่งเครียดขึ้นมา
จะทำวิปัสสนาก็ไม่ยากอะไร
เรารู้สึกตัวอยู่ สติระลึกรู้ร่างกาย แล้วก็เห็นร่างกายมันถูกรู้
ร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรา
สติระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์
มันก็เห็นว่าเวทนา สุขทุกข์นั้น ถูกรู้
เวทนาไม่ใช่ตัวเรา
อะไรที่ถูกรู้ อันนั้นไม่ใช่เรา
สติระลึกรู้สังขาร
ความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงชั่ว เช่น โลภ โกรธ หลง
สติระลึกรู้ พอระลึกรู้ไปก็เห็น โลภ โกรธ หลงอะไรพวกนี้ มันถูกรู้
จิตมันตั้งมั่นอยู่ มันก็จะเห็นโลภ โกรธ หลง เป็นของถูกรู้
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต
มาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป
เราจะเห็นความรู้สึกนึกคิด ทุกสิ่งทุกประการ
ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือจะชั่ว
เป็นแค่ของที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
จิตเราตั้งมั่นเป็นแค่คนเห็น นั่นล่ะปัญญามันจะเกิด
มันจะเห็นว่าร่างกายก็ไม่ใช่เรา
เวทนาก็ไม่ใช่เรา
สังขารก็ไม่ใช่เรา
ต่อไปมันก็จะเห็นว่าจิตมันไม่ใช่เรา
ที่พวกเราภาวนาๆ พวกเราจำนวนไม่ใช่น้อยเลย
ที่เห็นร่างกายไม่ใช่เรา เห็นสุขทุกข์ไม่ใช่เรา
เห็นกุศลอกุศลไม่ใช่เรา
เหลืออันเดียวยังเห็นว่าจิตเป็นเราอยู่
ส่วนใหญ่ก็มาถึงจุดนี้ ที่เรียนกับหลวงพ่อจำนวนมากเลย
จะใช้ว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ เพราะคนมาเรียนเพิ่มขึ้นทุกวัน
คนที่เรียนไปช่วงหนึ่ง จำนวนมากจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาได้
แล้วก็มันเริ่มแยกขันธ์ได้
เห็นร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง แยกขันธ์ได้
เห็นเวทนาอยู่ส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนรู้อยู่ส่วนหนึ่ง
เห็นสังขารอยู่ส่วนหนึ่ง จิตเป็นคนรู้อยู่ส่วนหนึ่ง
ทำอย่างนี้ได้ไม่รู้จำนวนเท่าไร ไม่ได้ประเมิน แต่ว่าเยอะ มีเยอะเลย
ขอให้จิตตั้งมั่นเท่านั้นล่ะ ขันธ์มันแยกอัตโนมัติเลย
ตรงนี้ในอภิธรรมเขาสอนบอก “สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา”
ปัญญาขั้นที่หนึ่ง คือการแยกรูปนาม แยกธาตุแยกขันธ์ได้
ก็ต้องอาศัยสัมมาสมาธิ คือสภาวะที่จิตตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่
สภาวะที่ตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัว แล้วขันธ์มันจะแยกให้ดูง่ายๆ
อย่างพวกเราฟังหลวงพ่อเทศน์อยู่
ลองรู้สึกลงที่ร่างกาย
รู้สึกเฉยๆ ไม่ต้องทำจิตใจให้มันแข็งกระด้าง
รู้สึกลงไป รู้สึกไหม ร่างกายมันถูกรู้ ช็อตที่หนึ่งเลย
รู้สึกไหมตัวนี้มันถูกรู้อยู่
แล้วอีกช็อตหนึ่งมันจะเห็น
ตัวนี้ไม่ใช่เรา มันเป็นวัตถุ เป็นของที่ถูกรู้
เป็นอันเดียวกับโลกธาตุข้างนอก
ปัญญามันเกิด วิปัสสนาปัญญา
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่า ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัว ในการที่เราจะฝึกตัวเอง จนพ้นจากอาสวกิเลสทั้งหลาย ความรู้สึกตัวสำคัญที่สุด เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ
มันก็คือสภาวะที่จิตตั้งมั่น
มีสติระลึกรู้อะไร ด้วยจิตที่ตั้งมั่น จิตที่เป็นกลาง
ไม่เข้าไปแทรกแซง
ปัญญามันก็จะเกิด
จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ก็ได้เป็นพระโสดาบันกันตรงนี้
ลองไปทำดูสัก 4 เดือน ลองไปทำดูอย่างที่หลวงพ่อบอก ทำให้ได้ทุกวัน ยุ่งกับโซเชียลให้น้อยๆ
ไม่มีทางรอดเลยถ้ายุ่งกับโซเชียล
อย่าว่าแต่โยมเลย พระก็ไม่รอด
เมื่อเช้าก็มีพระองค์หนึ่งมาเล่าให้ฟัง วัดที่ท่านเคยอยู่ ทั้งพระ ทั้งเณร ก็เล่น เล่นเกมส์ออนไลน์ เล่นอะไร เล่นกันเองด้วย เล่นกับเด็กวัดด้วย ไม่ได้ภาวนา
ไม่ได้ภาวนาแล้วทำอะไร วันๆ หนึ่งกินข้าวชาวบ้าน อยู่กุฏิที่ชาวบ้านสร้าง นุ่งห่มผ้าที่ชาวบ้านบริจาค กินอาหารที่ชาวบ้านให้ เป็นหนี้นะ ติดลบไปเรื่อยๆ เรียกว่ายิ่งบวชยิ่งบาป
ฉะนั้นเรายิ่งเป็นพระ ยิ่งต้องระวัง มีความรู้สึกตัวไว้
พยายามรู้สึกตัวไว้
เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า
ถ้าเรารู้สึกตัวไว้ แล้วมันจะพัฒนาตัวเองไปได้
อย่าหลงกับโลก โลกไม่มีอะไร
โลกมีแต่หลอกให้คนหลง
โยมก็เหมือนกัน โซเชียลอะไรไม่จำเป็น ก็อย่าไปยุ่งกับมันมาก เอาเวลามารู้สึกตัวให้มากๆ ไว้ ซ้อมไว้ แล้วชีวิตเราจะดีขึ้น ค่อยสมกับการเป็นลูกพระพุทธเจ้าหน่อย …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
25 มีนาคม 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา