14 เม.ย. 2023 เวลา 13:45 • ไลฟ์สไตล์

“อนาคตของเราเอง ก็อยู่ที่ปัจจุบันของเรานี้”

“ … เราศึกษาร่องรอย แบบอย่างของนักรบรุ่นก่อน ในพระไตรปิฎก ในอรรถกถา ธรรมบทอะไรพวกนี้ จะมีเรื่องราว มีร่องรอยของท่านเหล่านี้เยอะแยะเลย
ถ้าเราศึกษาแล้ว ใจเราที่กำลังห่อเหี่ยวท้อแท้ มันก็จะฮึกเหิม หรือเราได้เห็นครูบาอาจารย์ที่ดี ใจเราก็จะฮึกเหิมขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้จักปลุกเร้าตัวเอง เข้มงวดกับตัวเอง
หมายถึงมีวินัยในการปฏิบัติ
ไม่ใช่เข้มงวดแบบเคร่งเครียด อันนั้นไม่ใช่เข้มงวด อันนั้นโง่
เข้มงวดก็คือรักษาข้อวัตรปฏิบัติของเรา อย่างไรก็ไม่เลิกปฏิบัติ ต้องรักษาไว้ แล้วก็ภาวนาของเราทุกวันๆ ท้อใจขึ้นมาก็รู้จักวิธีปลุกเร้าตัวเอง
แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ ต้องผ่านสเต็ปที่หนึ่งก่อน
เรียนให้รู้เรื่องก่อน รู้หลักของการปฏิบัติเสียก่อน
เราต้องรู้ว่าเราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร
เราปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อความดีวิเศษวิโส เพื่อความสุข
เพื่ออย่างโน้นอย่างนี้
เราปฏิบัติธรรมเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น
นี่จุดหมายปลายทางเลย เพื่อนิพพาน เพื่ออนุปาทิเสสนิพพาน
นิพพานที่ไม่มีเชื้อเหลือ ไม่มีรูปนามเหลือ
นี่จุดหมายปลายทางตรงนี้
การปฏิบัติ สิ่งที่เราต้องปฏิบัติ ต้องเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง
พระพุทธเจ้าท่านสอน ธรรมะที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง
ตัวมรรคนี้มี 2 อัน สมถกรรมฐาน กับวิปัสสนากรรมฐาน
2 ตัวนี้ต้องทำ
เรารู้แล้วว่าเราจะต้องทำอะไร สมถะจะทำอย่างไร
สมถะก็ไม่ยาก ถ้าอยากสงบ
ก็น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง
ด้วยความมีสติ ถ้าขาดสติก็เป็นมิจฉาสมาธิ
ถ้าจะเจริญปัญญา ก็คือมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
1
ถ้าเรารู้หลักอย่างนี้ เราก็ลงมือทำ
ไม่มีใครชวนให้เราทำ เราก็ชวนตัวเองให้ทำ
หลวงพ่อก็ชวนตัวเองให้ทำ โดยการดูผู้เฒ่าทั้งหลายที่ว่านี้ เมื่อก่อนท่านก็ทุกข์แบบเรา มีกิเลสเหมือนเรา ทำไมท่านบริสุทธิ์หมดจดขึ้นมาได้ มันมีความต้องการที่จะปฏิบัติ ต้องการเดินตามรอยเท้าของครูไป
ไม่ได้เดินเหยียบรอยเท้า เดินตาม ไม่ใช่วัดรอยเท้า
แล้วเวลามีปัญหา ข้อที่หนึ่ง ต้องเรียนหลักให้ได้
ข้อที่สอง ชักชวนให้ปฏิบัติ ไม่มีพระพุทธเจ้าชักชวน เราชักชวนตัวเองให้ปฏิบัติ
แล้วเวลาเกิดปัญหา ถ้ามีพระพุทธเจ้าท่านก็บอก แก้ไขให้
ตอนนี้ไม่มีพระพุทธเจ้า เราใช้ความสังเกตเอา
ที่เราทำอยู่นี้มันถูกหรือมันผิด
อย่างถ้าเราปฏิบัติ แล้วกิเลสเราแรงขึ้น อันนี้ผิด
หรือปฏิบัติแล้วเราก็ยังงมงาย นับถือผีสางเทวดาอะไรเป็นที่พึ่งอยู่ อันนี้ก็ยังไม่ถูก
ก็ต้องปรับต้องแก้ สังเกตตัวเอง
แล้วที่เราปฏิบัติอยู่นั้น กิเลสลดลงไหม กุศลเจริญขึ้นไหม
สังเกตเอาอย่างนี้
บางทีภาวนาจิตสว่างว่างอยู่อย่างนั้นเป็นปีเลย
นึกว่าดี ไม่เห็นกิเลส
ดูไปดูมา เห็นแต่ โอ้ จิตนี้เที่ยง สงบนิ่งอยู่อย่างนี้ทั้งวันทั้งคืน
จิตนี้เที่ยงเสียแล้ว จิตนี้มีแต่ความสุข จิตนี้เป็นของบังคับได้
พอรู้อย่างนี้ก็ผิดแล้ว
ถ้ามันขัดกับหลักของไตรลักษณ์ แสดงว่าภาวนาผิดแล้ว
ไปเห็นกายเห็นใจว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้ถึงจะเห็นถูก
ความสุข ความสงบ จนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
เราค่อยๆ สังเกตตัวเอง
หรือภาวนาแล้วอกุศลไม่ลดเลย
หรือภาวนาแล้วกุศลไม่เจริญเลย อันนี้ผิดแน่นอน
ต้องค่อยๆ สังเกตเอา การที่เราสังเกตอย่างแยบคาย
เรียกว่าโยนิโสมนสิการ
แล้วเราก็จะผ่านปัญหาได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์
ปัญหา 100 ข้อ สังเกตเอาสู้ได้ อย่างน้อย 90 ข้อสู้ได้
พวกเราก็ทำได้ถ้ารู้หลัก รู้หลักธรรม
แล้วช่วงไหนเฉื่อย รู้จักกระตุ้นตัวเอง มีวินัยแล้วก็สู้ไป
ถ้าเราเดินในเส้นทางที่หลวงพ่อบอกมานี้ วันหนึ่งเราก็จะสะอาดหมดจด เหมือนครูบาอาจารย์ของเรา แต่ละองค์ๆ งดงาม
เราเห็นคนแก่ทั่วๆ ไป ดูน่าสงสาร แต่เราเห็นครูบาอาจารย์ของเราที่แก่ๆ ไม่ได้น่าสงสาร แต่น่าเลื่อมใส ไม่เหมือนกัน
คนที่ไม่ได้ภาวนา พอแก่ๆ ขึ้นมาช่วยตัวเองไม่ได้ ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรอก ช่วยตัวเองหมายถึง ช่วยตัวเองให้พ้นทุกข์ไม่ได้
ลูกหลานไม่มาเยี่ยมก็โมโห ลูกหลานมาเยี่ยมก็ด่ามันอีก โทษฐานที่ทำไมมาเยี่ยมน้อยนัก มีแต่หงุดหงิด
คนอายุมากขึ้น อายุมากขึ้นแล้วมันภาวนาไม่เป็น จิตใจมักจะเต็มไปด้วยโทสะ จิตใจไม่ค่อยมีความสุข ไม่แช่มชื่น เพราะร่างกายเดี๋ยวก็เจ็บตรงโน้น เดี๋ยวก็ปวดตรงนี้ จะกินข้าวก็ไม่อร่อย จะขับถ่ายก็ลำบาก จะนอนก็ไม่ค่อยจะหลับ เวลาควรหลับก็ตื่น เวลาควรจะตื่นก็หลับ
ชีวิตไม่มีความสุขเลย เคยมีความสุขกับการไปกิน ไปเที่ยว ร้องรำทำเพลง ก็ไปไม่ได้ นอนป่วยแซ่วอยู่อย่างนั้น อยู่กับบ้านไปไหนไม่ได้ ลูกหลานไปทำงานหมด คนแก่ๆ ก็อยู่บ้าน ใจเหี่ยว เศร้าๆ เยอะมาก
แต่ไปเห็นครูบาอาจารย์นอนป่วย ตาใสแจ๋วเลย สดชื่น ดูมีความสุข
มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ตอนนั้นหลวงพ่อไปเยี่ยมอุปัชฌาย์ ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แล้วห้องข้างๆ มีครูบาอาจารย์ผู้เฒ่าองค์หนึ่งอายุ 90 กว่า ท่านมาอาพาธ ท่านมาอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น
หลวงพ่อก็ขอหมอเข้าไปกราบท่านหน่อย ไปถึงท่านก็นอนพูดไม่ค่อยได้แล้ว พูดได้ไม่กี่คำท่านก็เหนื่อย บอกท่านไม่ต้องพูดแล้ว มากราบท่าน ก็ดูท่านไปเรื่อยๆ โอ้ จิตใจ ดูท่านเบิกบาน
ร่างกายโทรม ทรุดโทรมเต็มที่แล้ว แต่ดูท่านมีความสุข ผ่องใส เบิกบาน
คนที่ภาวนากับคนที่ไม่ภาวนา แตกต่างกันสิ้นเชิงเลย
เราก็เลือกเอา
อนาคตของเราเอง ก็อยู่ที่ปัจจุบันของเรานี้ล่ะ
ถ้าปัจจุบันของเราลงมือปฏิบัติธรรมไป อนาคตของเรามันต้องดี
ถ้าทำตามหลักที่ว่า รู้หลักที่ถูกต้อง ก็ลงมือทำไป
แล้วก็สังเกตไปที่ทำนี้ถูกหรือผิด
ช่วงไหนมันท้อแท้ มันอ่อนแอ ก็ปลุกเร้าตัวเองขึ้นมาต่อสู้
ถ้ามีเพื่อนร่วมทางที่ดี มันก็ช่วยเรา
กระตุ้นให้เราต่อสู้ร่วมกัน ไปด้วยกัน สู้ด้วยกัน อย่างนี้ดี
ถ้าไม่มีก็สู้ด้วยตัวเอง รู้จักอุบายในการปลุกเร้าตัวเอง
แล้วสิ่งที่เราจะได้ เราจะมีความสุขตั้งแต่ปัจจุบัน
ตอนที่เราแก่ตอนที่เราเจ็บ เราพึ่งใครไม่ได้หรอก
ลูกหลานทุกวันนี้ มันทำมาหากิน ไม่มานั่งเฝ้าเรา
ไม่ได้เฝ้าอย่างนั้น
อย่างดีที่สุดก็จ้างคนมาดูแล
มันก็ดูแลอย่างดีเลยต่อหน้าเรา ลับหลังเรามันอาจจะดูไม่ดีก็ได้
เราจะฟ้องลูกหลานก็ฟ้องไม่ไหวแล้ว
แต่ถ้าใจเราเคยฝึก เคยปฏิบัติมา
มันมีความสุข มีความสงบ จนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม ให้ความสุขในปัจจุบัน
ให้ความสุขในอนาคตตลอดชีวิตเลย
แล้วก็ให้ความสุข จะตายก็ยังไปสุคติได้
ความสุขสูงสุดคือพระนิพพาน
1
ถ้าเราลงมือปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ตั้งแต่วันนี้
จิตใจเราก็มีแนวโน้มที่จะก้าวไปสู่พระนิพพาน
แต่ถ้าเราไม่ได้เดินอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง
ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ไม่เจริญปัญญาอย่างถูกต้อง
แล้วก็ไม่ได้อยู่ในเส้นทาง เราก็จะสุดโต่งไป
หลงโลกบ้าง เคร่งเครียดบ้าง
แต่ถ้าเรารู้หลัก แล้วเราเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง
ค่อยๆ สังเกตตัวเอง
ตอนนี้เดินเอียงซ้ายมากไป ตอนนี้เดินเอียงขวามากไป สังเกตเอา
ก็คือตอนนี้หลงโลกมากไปหน่อยแล้ว
ตอนนี้ภาวนาเคร่งเครียดเกินไปแล้ว
ไปมุ่งบังคับกายบังคับใจมากไปแล้ว
จิตมันก็จะเดินเข้าในทางสายกลาง
จิตที่อยู่ในทางสายกลางนั้น มีแนวโน้มไปสู่พระนิพพาน
เหมือนท่อนไม้ที่ลอยในแม่น้ำ
มีพระสูตรบอก เหมือนท่อนน้ำลอยในแม่น้ำคงคา ไม่ติดฝั่งซ้าย ไม่ติดฝั่งขวา ไม่จมลงไป ไม่เน่าใน ไม่ถูกใครเขามาเก็บไปก่อน มันก็มีแนวโน้มที่จะออกไปสู่ทะเล
จิตของเราถ้าเดินอยู่ในทางสายกลาง
มีศีล มีสมาธิที่ถูกต้อง มีปัญญาที่ถูกต้อง
ก็มีแนวโน้มไปสู่พระนิพพาน
ถ้าเราไม่ท้อแท้ พยายามอดทนก้าวเดินไปเรื่อยๆ
เดี๋ยววันหนึ่งเราก็ไปนิพพาน
แล้วค่อยไปเจอกันในนิพพานไหม เอาไหม
ถ้าเอาละก็ไม่นิพพาน โดนหลอกแล้ว
ถ้ายังเอาอยู่ ไม่มีทางหรอก
มันต้องวาง ไม่ใช่เอา
ถามเอานิพพานไหม … เอา
ไม่นิพพาน
วางอะไรแล้วจะนิพพาน
วางขันธ์ 5 วางความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 นี้ ในกายในใจนี้ ถึงจะนิพพาน
จะวางได้ก็ต้องเห็นความจริงของกายของใจ
ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เห็นอย่างนี้แล้วมันก็วาง
เราจะเห็นกายเห็นใจไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้
จิตเราต้องตั้งมั่นเป็นผู้เห็น
เห็นกายมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เห็นจิตมันทำงานไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จิตตั้งมั่นเป็นผู้เห็น ต้องมีสมาธิ ไปฝึกเอา
เส้นทางนี้เป็นเส้นทางของคนซึ่งไปคนเดียว
ถึงจะมีเพื่อนสหธรรมิก มีเพื่อนคู่ชีวิตประคับประคองกัน
มันก็ได้ให้กำลังใจกัน
แต่เวลาจะแตกหักมันแตกหักคนเดียว ก็ต้องสู้เอา
เหมือนเวลาจะตาย ถึงจะมีเพื่อนเยอะ มีลูกหลานเยอะ เวลาตาย ตายคนเดียว มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว มรรคผลมันก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว
เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ คนชอบบอกหลวงพ่อเทศน์ยากไป วันนี้ปรับตัวเทศน์ให้ง่ายหน่อย เทศน์ยากก็ไม่ทำ เทศน์ง่ายก็ไม่ทำ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
1 เมษายน 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา