22 เม.ย. 2023 เวลา 04:45 • ไลฟ์สไตล์

“คนอื่นสร้างปัญหาให้เราได้ แต่เราสร้างความทุกข์ให้ตัวเอง”

“ … การที่จิตเราปรุง
จะปรุงดีมันก็เป็นภาระ จะปรุงชั่วมันก็เป็นภาระ
ปรุงสุขมันก็เป็นภาระ ปรุงทุกข์มันก็เป็นภาระ
1
ตรงปรุงชั่วมันเป็นภาระ อันนี้ดูง่าย
ตรงที่มันปรุงดีแล้วเป็นภาระ ดูยากกว่า
ตรงที่มันปรุงทุกข์แล้วเป็นภาระ ดูง่าย
ตรงที่มันปรุงสุขแล้วเห็นว่าสุขเป็นภาระ นี่ดูยากกว่า
ค่อยๆ หัดสังเกต หัดรู้หัดดูไปเรื่อยๆ
ต่อไปก็จะเห็นความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีใด
ความทุกข์เกิดขึ้นทีนั้น
ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทีนั้น
ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ แล้วเราจะรู้เลยว่าความทุกข์ในใจของเรา มันมาจากความปรุงแต่งของจิตทั้งนั้นเลย
แล้วความปรุงแต่งของจิตไม่มีใครทำ เราทำขึ้นมาเอง
เพราะฉะนั้นความทุกข์ในจิตในใจเราเราสร้างขึ้นเอง
ด้วยอำนาจของตัณหาผลักดันให้จิตใจดิ้นรนปรุงแต่ง
เลยเกิดเป็นภาระทางจิตใจขึ้นมา
ฉะนั้นความทุกข์หรือภาระทางจิตใจ
ไม่มีใครมาทำให้เราได้ เราปรุงของเราขึ้นมาเอง
ฉะนั้นเวลาเรามีความทุกข์ในใจ อย่าโทษคนอื่น โทษตัวเอง
ก็เรามีความอยาก เรามีความดิ้นรนของจิต มันก็เลยมีภาระ
มีความทุกข์เกิดขึ้น
คนอื่นสร้างปัญหาให้เราได้ แต่เราสร้างความทุกข์ให้ตัวเอง
ถ้าเราเข้าใจกระบวนการของจิต
เราจะไม่ค่อยโกรธใคร
ในโลกมันสารพัดปัญหา เรื่องธรรมชาติธรรมดา
สัตว์ทั้งหลายมันก็แย่งกัน แย่งกันอยู่ แย่งกันกิน
แย่งกันสืบพันธุ์อะไรอย่างนี้
คนมันก็คือสัตว์นั่นล่ะ มันก็แย่งกันอยู่ แย่งกันกิน
แย่งกันสืบพันธุ์เหมือนกัน
มันเป็นธรรมชาติธรรมดาของสัตว์โลก
แต่เราไม่ใช่สัตว์โลก เรามาฝึกจิตฝึกใจเราด้วยธรรมะ
เราเลยแปรสภาพจากคนซึ่งเป็นสัตว์โลก
มาเป็นมนุษย์คือผู้ที่มีจิตใจสูงขึ้นๆ
มนุษย์ มนะ อุษยะ ผู้มีใจสูง เป็นผู้มีจิตใจสูง
ฉะนั้นเราจะมีจิตใจสูงก็ด้วยธรรมะ
ธรรมะที่เราใช้ก็คือมีสติ
คอยรู้การทำงานของจิตของใจเราไปเรื่อยๆ
ฝึกเรื่อยๆ เราจะเห็นเลย
พอมันกระทบอารมณ์ มันก็มีการตีค่าอารมณ์
ตีค่าออกมาว่าอารมณ์นี้ดี อารมณ์นี้ไม่ดี
เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าชอบ
อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าชอบ
พอมีการตีค่าอารมณ์ มันก็เกิดความรู้สึกขึ้นมา
อารมณ์ที่น่าพอใจ ก็เกิดความสุข
อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ก็เกิดความทุกข์
พอมีความสุข ราคะก็แทรก ยินดีพอใจ รักใคร่หวงแหน
พอมีความทุกข์ โทสะก็แทรก อยากให้มันหมดไปสิ้นไป
แล้วตรงที่มันปรุงสุขปรุงทุกข์ขึ้นมาแล้วเราไม่รู้
มันปรุงราคะ โทสะ เราก็ไม่รู้
นั่นล่ะตัวโมหะ ตัวไม่รู้
พอมันปรุงกิเลสแล้ว มันก็จะผลักดันให้เกิดความอยาก
พอมีราคะก็อยากได้อารมณ์ที่ดีมา
อยากรักษาอารมณ์ที่ดีไว้
พอได้กระทบอารมณ์ที่ไม่ถูกอกถูกใจ ไม่พอใจ มีโทสะ
ก็อยากให้อารมณ์นั้นหมดไปสิ้นไป
แล้วบางทีกังวลล่วงหน้า กังวลก็เป็นโทสะ
กังวลล่วงหน้า ไม่อยากให้ปัญหา อารมณ์ที่ไม่ดีตัวนี้มันมาอีก รู้สึก
พอจิตใจมันมีความอยากเกิดขึ้น
อยากได้มา อยากรักษาไว้ อยากให้หมดไปสิ้นไป
จิตก็เกิดความดิ้นรน มันจะทำงานหมุนจี๋ๆๆ ขึ้นมา
แล้วมันจะมีภาระทางใจเกิดขึ้น
ทุกครั้งที่จิตทำงาน ภาระทางใจก็เกิดขึ้น
ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้
แล้วรู้เลยความทุกข์มันเกิดได้อย่างไร
ความทุกข์มันเกิดขึ้นในจิตในใจเราไม่มีใครทำให้
เราปรุงแต่งขึ้นมาเอง
พอเราเรียนรู้มากเข้าๆ จิตก็รู้ว่าความปรุงแต่งนำความทุกข์มาให้
ใจมันก็ค่อยคลายออกจากความปรุงแต่ง
มันปรุงแต่งก็เพราะตัณหา เพราะความอยาก
รู้ความจริงของกาย รู้ความจริงของจิตใจ
แล้วจะหมดความอยาก
ตัณหาเกิดจากเราไม่ยอมรับสิ่งที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่
อย่างตอนนี้ไม่มี นี่คือความจริง เราอยากให้มี
ตัวนั้นก็คือกามตัณหา
สิ่งที่มีอยู่ เรายอมรับความจริงไม่ได้ว่าวันหนึ่งมันต้องหมดไปสิ้นไป
เราอยากให้มันอยู่ตลอดไป นั่นคือภวตัณหา
สิ่งที่มีอยู่ที่เราไม่ชอบใจ
เรายอมรับความจริงไม่ได้ว่าตอนนี้อกุศลให้ผล
เราต้องกระทบอารมณ์ที่ไม่ดีที่เราไม่ชอบใจ เป็นวิบาก
เรายอมรับไม่ได้ เราอยากให้อารมณ์ที่ไม่ดีหมดไปสิ้นไป
เพราะฉะนั้นตัวตัณหาจริงๆ
มันเกิดจากการที่จิตยอมรับความจริงไม่ได้
มันยอมรับความจริงไม่ได้
แล้วทำอย่างไรจิตจะยอมรับความจริงได้
ก็พาจิตเรียนรู้ความจริง
เรียนรู้ความจริงของกายของใจไปเรื่อยๆ
ความอยากมันย่อๆ ลงมา
มันอยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์
ก็แค่นั้นล่ะ
พอเราเรียนรู้ความจริงของกายของใจไปเรื่อยๆ
จิตใจมันยอมรับความจริง
อย่างถ้าเราเรียนรู้ความจริงของร่างกายเรื่อยๆ
เราจะเห็นร่างกายไม่ใช่ของดีอะไร
ร่างกายถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลาเลย
นั่งนานๆ ก็ทุกข์ ยืนนานๆ ก็ทุกข์
เดินนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์
กินมากไปก็ทุกข์ ไม่มีจะกินก็ทุกข์
ความหิวเป็นทุกข์อันยิ่งใหญ่ของสัตว์ทั้งหลาย
ฉะนั้นเราอยากทำบุญ เห็นคนหิว เห็นสัตว์หิว
สงเคราะห์เขา เขาก็มีความสุข
เราค่อยเรียนค่อยรู้ ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์
ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
พอเห็นอย่างนี้ ต่อไป ใจมันก็คลายความอยากที่จะให้กายมีแต่ความสุข อยากให้กายไม่ทุกข์อะไรอย่างนี้ ตัณหาไม่มี
พอเห็นความเป็นจริง ตัณหาจะไม่เกิด
ถ้าไม่เห็นความจริงของรูปนามกายใจ ตัณหามันจะเกิด
อย่างเราเห็นคนสวยมา ถ้าเราเคยภาวนา รู้จิตรู้ใจของตัวเอง
เราจะรู้เลยตอนที่เราเห็นผู้หญิงสวยๆ จิตเราเฉยๆ
มันต้องมีการตีค่าก่อน ถึงจะเกิดชอบเกิดไม่ชอบขึ้นมาอะไรอย่างนี้
ถ้าสติปัญญาเราเร็ว เราเห็นผู้หญิงสวยๆ
ก็สักแต่ว่ารูป ก็สิ่งที่ตามองเห็นเท่านั้น
รูปที่สวยๆ เอาเข้าจริงมันคืออะไร
มันคือสีที่ตัดกันเป็นโครงสร้างแบบนี้ เป็นรูปร่างอย่างนี้
มันคือสี ฉะนั้นสีเขียว สีแดง สีมันตัดกัน
สีอ่อน สีแก่ตัดกัน แล้วเราก็แปรความหมาย
สีนี้คือผู้หญิงสวย สีนี้คือผู้ชายหล่อ สีนี้คือหมา
ที่จริงแล้ว ลองมองที่หลวงพ่อสิ แล้วเห็นหลวงพ่อเป็นสีไหม
เห็นสีที่ตัดกันไหม สีตรงนี้สีเหลืองน้ำตาล
สีตรงนี้สีจีวรเป็นอีกแบบหนึ่ง ตัดกับภาพพื้นหลัง
ข้างหลังก็สีไม่เหมือนกัน มันทำให้ตรงนี้ชัดขึ้นมา
ฉะนั้นสิ่งที่ตาเราเห็นจริงๆ มันก็แค่สีเท่านั้นล่ะ
แล้วเราก็ไปแปลว่านี่คือผู้หญิง นี่คือผู้ชาย
อันนั้นเกิดจากจิตไปแปล เกิดจากการแปลความทั้งหมดเลย
แล้วก็ตีความให้ค่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี
ก็เลยเกิดความสุขความทุกข์ เกิดกุศลอกุศลขึ้นมา
ฉะนั้นสิ่งที่ตาเราเห็นก็แค่สีเท่านั้นล่ะที่มาตัดกันเป็นรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วสัญญาเข้าไปหมายรู้ โอ้ นี่ผู้หญิง นี่ผู้ชาย ทั้งๆ ที่ความจริง มันคือสีที่ตาเราเห็น
เสียงที่เราได้ยิน เสียงนี้เพราะ เสียงนี้ไม่เพราะ นี่เสียงชม นี่เสียงด่า ที่จริงมันก็คือคลื่นเสียงผ่านอากาศมากระทบความรับรู้ทางหูแล้วสัญญาก็ไปแปลความหมาย นี่เขาชมเรา นี่เขาด่าเรา โทสะก็เกิดบ้าง ราคะก็เกิดบ้าง
เราค่อยๆ เรียน ค่อยดูไป ตัวรูปนี้ไม่มีอะไร
ตัวรูปนี้ก็ประกอบไปด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย
ทำไมเรารักตามาก เพราะว่าตานี้เอาไว้ดูรูป
หู เรารักหู เพราะมันได้ยินเสียง
เรารักจมูก เพราะมันได้กลิ่น
เรารักลิ้น เพราะมันได้รส
เรารักร่างกาย เพราะมันสัมผัสความเย็น
ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอะไรพวกนี้ได้
ถ้าเราดูลึกลงไป ตาเราก็ไม่ยั่งยืน
รูปที่ตาเห็นมันก็แค่สี จะไปหลงอะไรนักหนา
หูมันก็ไม่ยั่งยืน เสียงที่มันได้ยินก็ไม่ยั่งยืน
จะเอาอะไรนักหนา
อยากได้เสียงชม เสียงชมมันเกิดแล้วมันก็หายไป
เสียงด่ามันเกิดแล้วมันก็หายไป
จะเอาอะไรนักหนา
ค่อยๆ เรียน จะรู้เลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
โผฏฐัพพะคือสิ่งที่กระทบกาย
ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป
มีแล้วหายไปทั้งหมดทั้งสิ้น
ร่างกายเราในองค์รวมนี้ วันหนึ่งก็แตกสลายไป
ตอนที่ยังไม่แตกสลาย ก็ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
ทุกข์มากบ้าง ทุกข์น้อยบ้าง
พอเราเห็นอย่างนี้ เราจะรู้เลย ร่างกายนี้คือตัวทุกข์
พอเราเห็นทุกข์ เรียกว่าเราล้างอวิชชาได้
ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ นั่นล่ะคืออวิชชา
พอเราเห็นร่างกายมันคือตัวทุกข์ มันก็ล้างอวิชชาไปบางส่วนแล้ว หายโง่ไปบางส่วน การดิ้นรนมีความอยากอะไรในกายมันก็ลดลงๆ หายไป
แล้วเราก็เห็นความจริงของจิตใจ
จิตใจเราที่ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าดี ว่าชั่วอะไร
ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับไปทั้งสิ้น
มีแล้วก็หายไปทั้งสิ้น
ถ้าจิตใจมันเข้าใจตรงนี้ มันก็หมดความดิ้นรน
พอมันเข้าใจความจริง หายโง่
เรียกว่ามันล้างอวิชชาได้
จิตใจมันก็หมดตัณหา หมดความดิ้นรน
มันรู้เลยทุกอย่างมันผ่านมาแล้วมันก็ผ่านไป
จะเอาอะไรกันนักหนา
จิตใจก็ฉลาด ก็หมดความอยาก
หมดความอยากที่ว่าจะต้องได้อารมณ์ดีๆ
ทำไมไม่ได้อยากได้อารมณ์ที่ดีๆ
เพราะรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว
อารมณ์ไม่ว่าจะดีแค่ไหน เดี๋ยวมันก็ไป
ได้อารมณ์ที่ดีๆ มาแล้ว ก็ไม่ได้อยากให้มันอยู่ตลอดไป
เพราะรู้ว่าเดี๋ยวมันก็ไป
อย่างเราได้แฟนมาแต่งงานอยู่ด้วยกันอะไรอย่างนี้
อยากให้เขาอยู่นิรันดร อันนั้นพอเขาตายไป
หรือเขาทิ้งเราไป จิตก็ทุกข์เยอะ
แต่ถ้าเราเห็นความจริง มาอยู่ด้วยกัน
เราได้อารมณ์ที่พอใจ มันก็ของชั่วคราว
วันหนึ่งก็ต้องพลัดพรากอยู่ดี
ไม่จากเป็นก็จากตาย
ฉะนั้นมีอยู่ เราก็ไม่ได้มีความอยากว่าเขาจะต้องอยู่กับเราตลอดกาล
เพราะความจริงก็คือไม่มีทางอยู่ด้วยกันตลอดกาล
พอจิตใจยอมรับความจริงได้ จิตใจจะหมดอยาก
ที่จิตใจมีความอยากเพราะจิตใจยอมรับความจริงไม่ได้ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
2 เมษายน 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา