26 เม.ย. 2023 เวลา 12:03 • ไลฟ์สไตล์

“ชีวิตเหมือนความฝัน”

“… การที่เรารู้ความจริงเรียกว่าเรามีวิชชา ล้างอวิชชาไป
ค่อยๆ รู้ลงเรื่อยๆ เรียนรู้ตัวเองไปเรื่อยๆ
เรารู้ความจริงของกาย รู้ความจริงของจิตใจ
แล้วมันจะหมดความอยาก
การที่เรารู้ความจริงเรียกว่าเรามีวิชชา ล้างอวิชชาไป
กายนี้ก็ไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย ก็คือก้อนทุกข์ก้อนหนึ่ง
มีสภาวะ มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จิตนี้ก็เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์
มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน
ความหิวโหย ความอยากทั้งหลาย มันก็จะไม่เกิดขึ้น
เพราะมันเห็นความจริงแล้ว
เห็นความจริงของกาย มันก็ไม่มีความอยากเกี่ยวกับกาย
เห็นความจริงของจิต มันก็ไม่มีความอยากเกี่ยวกับจิตเกิดขึ้น
เมื่อไม่มีความอยาก ความดิ้นรนของจิตก็ไม่มี
เรียกว่าไม่มีภพ ไม่มีความดิ้นรนปรุงแต่ง
เมื่อจิตไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง ความทุกข์ก็ไม่มี
จิตมันก็ไม่ทุกข์
ฉะนั้นที่จิตมันทุกข์เพราะมันดิ้นรนปรุงแต่ง
ที่มันดิ้นรนปรุงแต่งเพราะมันอยาก
ที่มันอยากเพราะมันไม่รู้ความจริงของรูปนามกายใจ
นี่คือกระบวนการที่จิตปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา
ถ้าเราดับความไม่รู้ได้ ความปรุงแต่งมันก็ดับ
พระพุทธเจ้าท่านสอน อวิชชา ยะเตววะ อะเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ ความดับไม่เหลือ ของอวิชชา ของความไม่รู้ ก็ทำให้สังขารดับ ความปรุงแต่ง
สังขารก็คือตัวความปรุงแต่ง คือตัวภพ มันก็ดับ
พอสังขารดับ วิญญาณ ตรงนี้ไม่ต้องเรียนมาก เดี๋ยวเยอะเกิน
สังขารดับ ใจมันก็ไม่ทุกข์
สังขารทั้งหลายสงบเสียได้ เป็นสุข
พระอรหันต์องค์หนึ่ง ท่านอุทานอันนี้ขึ้นมา
สังขารทั้งหลายสงบเสียได้ เป็นสุข
1
พระอรหันต์องค์นี้ แต่เดิมท่านอยู่สมัยพุทธกาล ท่านไปนั่งภาวนาในป่าช้า คนเฝ้าป่าช้ามาเจอ ท่านมาทำอะไรตรงนี้ มันเป็นที่เขาเผาศพกัน มานั่งอะไรเกะกะตรงนี้
ท่านบอกว่าท่านจะมาพิจารณาร่างกาย พิจารณาซากศพอะไรนี่ พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานอันนี้เหมือนกัน
เขาบอกว่า เอาอย่างนี้ ถ้ามีการเผาศพ เขาจะไปบอกท่าน ให้ท่านมาดู แต่ตอนนี้ท่านไปอยู่ที่ของท่าน อย่ามาเกะกะอยู่ในป่าช้านี้ เดี๋ยวชาวบ้านเขาเห็นแล้วตกใจ ว่าพระหัวเหม่งๆ ไปนั่งตะคุ่มๆ อยู่ คนก็กลัว
ท่านก็เลยต้องออกมาจากป่าช้า แล้วพอถึงเวลาเขาจะเผาศพ มีผู้หญิงสวยงามตาย คนอินเดีย ตายแล้วก็เผาเลย ไม่มาเก็บไว้อย่างเราหรอก ไม่รู้เก็บไว้ทำไม เดี๋ยวนี้เก็บหนักขึ้นทุกที เก็บใส่ตู้กระจกไว้ น่าดู
คนอินเดีย ตายแล้วก็เผาวันนั้น หมดเรื่องหมดราว พอจะเผาศพ เขาก็ไปเรียกท่านมาดู ท่านก็เห็น หูย ผู้หญิงคนนี้สวยจังเลย เนื้อหนังก็ยังเปล่งปลั่ง พอเริ่มถูกไฟเผา หนังเริ่มลอก ท่านก็รู้สึก หึย จากคนสวยๆ ตอนนี้ตัวด่างๆ แล้ว เพราะหนังมันลอก เหมือนวัว หนังมันลอก น่าเกลียด
ก็ดูไปเรื่อยๆ ถูกไฟเผาไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็เผาศพจนหมด ท่านก็บรรลุพระอรหันต์ในขณะนั้นเลย เพราะท่านเห็นว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สังขารทั้งหลาย สงบเสียได้ สงบระงับเสียได้ เป็นสุข
สังขารอันนี้ ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ครอบคลุม ท่านเห็นอย่างนี้ ท่านก็บรรลุพระอรหันต์
เห็นไหม เพราะเห็นตามความเป็นจริง ก็หมดความอยาก
ไม่มีความอยาก ก็ไม่มีความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต
ไม่มีความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต ก็ไม่มีความทุกข์ของจิต
นี่คือเส้นทางที่พวกเราจะต้องพากันเดิน
เรียนรู้ความจริงของกาย
เรียนรู้ความจริงของจิตใจ
ไปจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้วมันก็วาง
ไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง
ทำอย่างไรจะเรียนรู้ความจริงของกายของใจ
ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
นี่คือคีย์เวิร์ด
มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ไม่ได้นั่งปรุงแต่งกาย ปรุงแต่งใจ
อย่าไปนั่งปรุงแต่งจิตให้จิตดี จิตสุข จิตสงบ
เราจะต้องภาวนาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นว่า
ไม่ว่าจิตปรุงอะไร จิตก็ทุกข์ทั้งนั้นล่ะ
ปรุงดีก็ทุกข์ ปรุงสุขก็ทุกข์ ปรุงสงบก็ทุกข์
ไม่ปรุงต่างหากที่ไม่ทุกข์
พอไม่ปรุง เข้าถึงความสงบอีกระดับหนึ่ง
พระนิพพานเป็นสภาวะที่ไม่ปรุงแต่ง
เป็นความสงบจากความปรุงแต่งทั้งปวง
ตรงนั้นล่ะคือบรมสุข
ส่วนความปรุงแต่งทั้งหลายเจือทุกข์อยู่ทั้งสิ้น
ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ค่อยๆ ปฏิบัติไป
คอยเรียนรู้กายเรียนรู้ใจของตัวเองเรื่อยๆ ไป
รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็นไป
แต่ทุกวันต้องแบ่งเวลามาไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม มาทำความสงบให้จิตใจมีเรี่ยวมีแรง
ถ้าไม่ทำในรูปแบบ จิตจะไม่มีกำลัง ไม่มีแรง
พอจิตไม่มีกำลัง จิตก็ไม่ตั้งมั่น
จิตไม่ตั้งมั่น ขันธ์มันก็ไม่แยก
มันก็เลยเห็นไม่ได้หรอกว่ากายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ความสุข ความทุกข์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
กุศล อกุศลไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นจะเห็นไม่ได้
เพราะฉะนั้นเราต้องค่อยๆ ฝึกเอา เราก็ต้องทำ
ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูป
วันไหนจิตฟุ้งซ่าน น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง
อย่าไปอยากสงบ อยากสงบ จะไม่สงบ
น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์ที่เรามีความสุข
1
อย่างหลวงพ่อจะมีความสุขอยู่กับลมหายใจ มีความสุข หรืออยู่กับแสงสว่าง อย่างนี้มีความสุข ถ้าน้อมไปอยู่อย่างนี้ จิตมันก็ได้พัก ไม่ดิ้นไปดิ้นมา
จิตของเราดิ้นตลอดเวลา
เดี๋ยวดิ้นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ยิ่งจิตยิ่งดิ้น จิตก็ยิ่งทุกข์ จิตก็หมดแรง
เราก็ให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียวสบายๆ
จิตก็จะมีกำลังขึ้นมา อันนี้คือสมถะ
พอจิตมีกำลังแล้ว อย่าเอาแต่ความสุขความสบาย
ให้คอยสังเกตจิตไป จนกระทั่งจิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มีผู้รู้ขึ้นมา
แต่ที่จริงถ้าทำสมาธิเต็มรูปแบบ อย่างจิตเราสว่างว่างแล้วจิตเดินเข้าฌานไปอย่างนี้ มันจะมีตัวรู้ แต่ในขณะที่เข้าฌาน ต้องมีสติกำกับ ตัวรู้ถึงจะเกิด ถ้าเข้าสมาธิแล้วก็เคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว ตัวรู้ไม่มีหรอก
พอเราได้ตัวรู้ วิธีได้ตัวรู้ง่ายๆ ทำกรรมฐานไปแล้วจิตไหลแล้วรู้ๆ อันนั้นตัวรู้จะเกิดง่ายๆ เลย จิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ นั่นล่ะสมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิด
พอสมาธิตั้งมั่นมากพอ ขันธ์จะแยกเองเลย
กายกับจิตคนละอัน
เวทนากับจิตคนละอัน
สังขารกับจิตก็คนละอัน
จิตเองก็เกิดดับ จิตรู้กับจิตคิดก็คนละอันกัน
สุดท้ายแล้วแต่ละอันๆ นั้น ล้วนตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
หาสาระแก่นสารไม่ได้ เหมือนฝันอยู่แท้ๆ เลย
ชีวิตเหมือนความฝัน
พอเข้าใจความเป็นจริงแล้ว ความอยากก็ไม่เกิด
ความปรุงแต่งก็ไม่เกิด ความทุกข์ก็ไม่เกิด
นี่คือเส้นทางที่เราจะปฏิบัติ
ส่วนรายละเอียดนั้นเป็นชั้นเชิง เป็นลีลา
เป็นความถนัดของแต่ละคน ทางใครทางมัน …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
2 เมษายน 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา