4 เม.ย. 2023 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

โลกเปลี่ยนไปมากแค่ไหน เมื่อเรามองลงมาจากอวกาศ

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 มนุษยชาติได้มีโอกาสเห็นภาพโลกทั้งใบเป็นครั้งแรก
มันเหมือนกับลูกแก้วกลมๆ สีฟ้าที่ลอยอยู่ท่ามกลางความมืดมิดของอวกาศ
เคว้งคว้าง อ้างว้าง โดดเดี่ยว
แต่ภาพที่ถูกเรียกว่า เดอะบลูมาร์เบิล (The Blue Marble) กลับเปี่ยมด้วยความหมายของชีวิต
โดยเฉพาะเมื่อถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของวัน Earth Day - วันคุ้มครองโลก 22 เมษายน มานานหลายทศวรรษ
ลูกแก้วสีฟ้าใบนี้คือสถานที่ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต
เป็นโลกใบเดียวที่เรารู้จักว่าอนุญาตให้เราหายใจโดยไม่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีใดๆ
เพียงมีเงื่อนไขว่าต้องดูแลสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ไว้
อย่าป่วน อย่าทำโลกป่วย อย่าให้โลกรวน
The Blue Marble
นับวันจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยังมีภาพ The Blue Marble V.2, V.3 ตามออกมาอีกหลายภาพ
และภาพล่าสุด ถูกถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2565 โดยดาวเทียม DSCOVR - Deep Space Climate Observatory
หรือ 50 ปีต่อมาหลังจากที่เราได้เห็น The Blue Marble เป็นครั้งแรก
ซึ่งมันได้แสดงให้เห็นว่า โลกใบเดิม ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เมื่อนับภาพจากภารกิจอพอลโล 17 มาเทียบกับภาพของดาวเทียม DSCOVR ในมุมเดิม แต่เวลาห่างกัน 50 ปี เราจะพบความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ในการประชุม ‘The whole Earth: Blue Marble at 50’ ของมหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ได้อธิบายความเปลี่ยนแปลงเอาไว้หลายประเด็น
เริ่มจากพื้นที่สีขาวที่ปกคลุมด้วยหิมะบนภาพมีปริมาณไม่เท่าเดิม
หิมะบางส่วนดูเหมือนจะมองเห็นได้บนเทือกเขา Zagros และตอนกลางในอิหร่าน (ทางเหนือของอ่าวอาหรับ) ได้หายไปหมดแล้วในภาพใหม่
แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือการลดลงของพืชสีเขียวเข้มในเขตร้อนของแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขอบเขตทางตอนเหนือ
เงามืดของทะเลสาบชาดทางตอนเหนือของทะเลทรายซาฮาราได้ลดขนาดลง และตอนนี้พืชพรรณไม้ในป่าก็เริ่มห่างออกไปทางใต้หลายร้อยไมล์
สิ่งนี้สอดคล้องกับหลักฐานการแปรสภาพเป็นทะเลทรายในภูมิภาค Sahel ของแอฟริกาเหนือ
การวิจัยพบว่าความหนาแน่นของต้นไม้ใน Sahel ตะวันตกลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี พ.ศ. 2497 - 2545
และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติประเมินว่าระหว่างปี พ.ศ. 2533 - 2553 แอฟริกาสูญเสียพื้นที่ป่า 3-4 ล้านเฮกตาร์ต่อปี
ประเด็นต่อมา ภูมิประเทศที่เคยเขียวขจีของมาดากัสการ์ตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
มาดากัสการ์ เคยขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่ร่ำรวยทางนิเวศวิทยา
ปัจจุบันประเทศนี้ถูกคุกคามจากการสูญเสียแหล่งทรัพยากรอย่างรวดเร็ว สัตว์หลายชนิดที่พบเฉพาะถิ่นอาจถึงกาลอวสานในเร็ววัน
ในการประชุม ยังอธิบายถึงสิ่งที่เรามองไม่เห็นใน The Blue Marble แต่เป็นที่ทราบกันดีว่ากำลังหายไป
นั่นคือการหายไปของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติก
อันมีสาเหตุมาจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อแผ่นน้ำแข็งมีขนาดเล็กลง ผลที่ตามมามีทั้งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล
และยังนำไปสู่การพังทลายของระบบหมุนเวียนของกระแสน้ำลึก ซึ่งกระแสน้ำในมหาสมุทรลึกมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศทั่วโลก
เราจะเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น และพายุที่รุนแรงและถี่มากขึ้น แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค
ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่เรามองเห็นเหล่านี้ กำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเรา
ในอนาคต หากความเปลี่ยนแปลงยังไม่หยุดลง ดาวอนุญาตให้เราหายใจ อาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป
อ้างอิง
The whole Earth: Blue Marble at 50 https://www.the-whole-earth.com/
Melting Antarctic ice predicted to cause rapid slowdown of deep ocean current by 2050 https://shorturl.asia/xErYS
โฆษณา