4 เม.ย. 2023 เวลา 03:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ

5 กระบวนท่าสู้มิจฉาชีพ

ช่วงนี้มิจฉาชีพระบาดหนักใช้ทั้งมุกเก่ามุกใหม่มาหลอกลวง พวกเราที่ทำงานสุจริตนอกจากต้องสู้กับงานเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายและสร้างฐานะให้มั่นคงแล้ว ยังต้องคอยระแวดระวังป้องกันตัวไม่ให้โจรเอาเงินเราไปด้วย Financial Wisdom ฉบับนี้ จึงเป็นตัวช่วยของผู้อ่านด้วยข้อแนะนำ 5 กระบวนท่าไว้สู้กับมิจฉาชีพที่วนเวียนมาหลอกเราในหลากหลายช่องทาง ดังนี้
1. ตั้งสติ หยุดคิด ไม่หลงเชื่อใครง่าย ๆ มิจฉาชีพจะพยายามหาจุดอ่อนมาหลอกล่อให้หลงเชื่อและโอนเงินให้ เช่น
• หลอกให้รัก ให้เห็นใจ อาศัยจุดอ่อนคือ “ความเหงา”
• หลอกให้ลงทุนโดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูง อาศัยจุดอ่อนคือ “ความโลภ”
• ขู่ว่าทำผิดกฎหมายและจะดำเนินคดี อาศัยจุดอ่อนคือ “ความกลัว”
แต่ไม่ว่ามิจฉาชีพจะใช้มุกแบบไหน เราควรตั้งสติ หยุดคิดก่อนว่าที่เขาบอกเรามานั้นจริงหรือมั่ว และถ้าบอกให้เราโอนเงินไปให้ก่อนที่จะปล่อยเงินกู้หรือส่งเงินส่งของมาให้ ให้โอนเงินมาเพื่อเคลียร์คดี หรือโอนผลตอบแทนก้อนเล็ก ๆ มาล่อก่อนที่จะชวนลงทุนเพิ่ม ก็มั่นใจได้เลยว่าเราเจอมิจฉาชีพเข้าให้แล้ว
อีกจุดหนึ่งที่ต้อง “ตั้งสติ หยุดคิด” ก็คือ เวลาที่เราได้ SMS ข้อความทางไลน์หรืออีเมลที่มีลิงก์แนบมาพร้อมข้อความชวนให้คลิก เช่น คลิกเพื่อรับเงินกู้หรือรางวัล คลิกเพื่อตรวจสอบข้อมูล เราต้องสังเกตก่อนว่าเป็นลิงก์ที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ถ้าดูแล้ว “ไม่แน่ใจ” ก็อย่าคลิก เพราะอาจเป็นช่องทางให้มัลแวร์หรือแอปพลิเคชันแปลกปลอมจากมิจฉาชีพเข้ามาแฝงตัวเพื่อดูดข้อมูลสำคัญจากโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ของเรา
และหากจะเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว username และ password เราควรพิมพ์ URL ของเว็บไซต์เอง หรือถ้าค้นหาด้วย search engine ก็ควรตรวจสอบตัวสะกดของ URL ให้ถูกต้อง (ระวังอักษรที่คล้ายกัน เช่น O (ตัวอักษรโอ) กับ 0 (เลขศูนย์) หรืออีกกลุ่มหนึ่งคือ a (ตัวอักษรเอ) @ และ o(ตัวอักษรโอเล็ก)) สังเกตสัญลักษณ์แม่กุญแจ และตัว “s” ที่ https ซึ่งแสดงว่าเว็บไซต์นั้นมีการเข้ารหัสเพื่อปกป้องข้อมูล ก็จะช่วยทำให้มั่นใจได้อีกขั้น
2. เช็กก่อนชัวร์กว่า มิจฉาชีพมักแอบอ้างชื่อหน่วยงานหรือคนที่เรารู้จักเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ก่อนจะเชื่อ เราต้องค้นหาความจริงด้วยตัวเองก่อน ถือคติว่า “เสียเวลาเช็กสักนิด ดีกว่าเสียเงินที่หามาทั้งชีวิตให้มิจฉาชีพ” โดยทำได้ง่าย ๆ ด้วยการโทรศัพท์สอบถามหน่วยงานหรือบุคคลนั้นโดยตรงด้วยเบอร์โทรจากหน้าเว็บไซต์หรือเบอร์โทรที่เราเคยใช้ติดต่อ หรือดูจากแหล่งตรวจสอบข้อมูลที่ทางการรวบรวมไว้ เช่น
• ผู้ให้บริการสินเชื่อ และผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติ ตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์แบงก์ชาติ (www.bot.or.th) หัวข้อเช็กแอปเงินกู้ และ BOT License Check
• ผู้ให้บริการในตลาดทุนภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th) หัวข้อ SEC Check First
• ผู้จดทะเบียนนิติบุคคล ตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) หัวข้อ DBD DataWarehouse+
3. ดูแลอุปกรณ์ที่ใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ควร jailbreak หรือ root ระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขการตั้งค่าหรือติดตั้งโปรแกรมบางชนิดที่ปกติไม่สามารถติดตั้งได้ เพราะอาจถูกโจมตีด้วยไวรัสหรือถูกติดตั้งมัลแวร์ลงบนอุปกรณ์เพื่อส่งข้อมูลสำคัญให้มิจฉาชีพได้ นอกจากนี้ การใช้ Wi-Fi สาธารณะก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพจะดักขโมยข้อมูล เช่น รหัสผ่าน จึงไม่ควรใช้ Wi-Fi สาธารณะเมื่อต้องทำธุรกรรมทางการเงินหรือกรอกข้อมูลสำคัญ
และควรติดตั้งแอปพลิเคชันจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น App store หรือ Google play store รวมถึงติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสจากผู้ผลิตโปรแกรมต่อต้านไวรัส (anti-virus) ก็จะช่วยปิดช่องโหว่ไม่ให้มิจฉาชีพเข้ามาล้วงข้อมูลของเราไปได้
ถ้าเกิดพบว่าแอปพลิเคชันของมิจฉาชีพมาอยู่ในโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ของเราแล้ว ขอแนะนำให้ทำ factory reset ซึ่งจะเป็นการล้างข้อมูล และลบแอปพลิเคชันต่าง ๆ ให้เหมือนเป็นเครื่องมือ 1 ที่เพิ่งซื้อจากร้าน แต่หากไม่สามารถทำ factory reset เองได้ ก็ควรปิดเครื่อง และรีบไปที่ศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือที่เราใช้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยแก้ไข
4. ปกป้องข้อมูลส่วนตัว จดจำขึ้นใจด้วยหลัก 4 ไม่ คือ “ไม่เชื่อ ไม่กรอก ไม่บอก ไม่โพสต์ข้อมูลสำคัญ” เช่น เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต OTP ซึ่งหากมิจฉาชีพได้ข้อมูลไปแล้ว ก็จะสวมรอยเป็นเราเข้าไปทำธุรกรรมเพื่อเอาเงินไป แถมยังปลอมตัวไปหลอกคนรู้จักของเราขอให้โอนเงินมาช่วยหรือให้ยืม กลายเป็นเหยื่ออีกทอดหนึ่ง
5. ติดตามข่าวสาร เพื่อให้รู้ทันกลลวงใหม่ ๆ รู้กฎหมาย ขั้นตอนการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเมื่อเราประสบภัยทางการเงิน รวมถึงไม่หลงเชื่อและไม่ส่งต่อข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่ถูกอ้างถึง แต่เราควรตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์และช่องทางโซเชียลมีเดียของธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) 1213 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ PCT Police และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand)
ภัยทางการเงินอยู่ใกล้ตัวและอาจเกิดขึ้นกับทุกคนได้ทุกเมื่อ แต่หากไม่แน่ใจว่าเรากำลังถูกหลอกอยู่หรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจทำตามที่เขาบอก สามารถสอบถามหรือขอคำปรึกษาได้ที่ ศคง. ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 หรือที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โทร. 1441 แต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว เช่น โอนเงินให้คนร้ายไปแล้ว ก็สามารถแจ้งความได้ที่ www.thaipoliceonline.com หรือที่สถานีตำรวจทุกแห่ง
โฆษณา