10 เม.ย. 2023 เวลา 09:30 • การเกษตร

สูงสุดคืนสู่ ... บรรพกาล

เมื่อวานระหว่างที่ท่องโลกอินเตอร์เน็ทอยู่ผมเหลือบไปเห็นวลีภาษาอังกฤษว่า "regenerative grazing" เข้า ด้วยความที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยเกิดความรู้สึก ...อิหยังวะ ขึ้นมา อดคลิ้กเข้าไปดูไม่ได้
แล้วก็ถึงบางอ้อว่ามันคือเหล้าเก่าในขวดใหม่ คนรุ่นผมเรียกสิ่งนี้ว่า rotational grazing ซึ่งในบทความที่เข้าไปอ่านเขาก็บอกล่ะว่า เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่าอย่างนี้ ความหมายของมันคือการแบ่งทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ออกเป็นโซนๆ แล้วหมุนเวียนปศุสัตว์ให้และเล็มหญ้า (graze) หากินไปทีละโซน พอเห็นว่าทุ่งหญ้าเริ่มจะโทรมก็ต้อนฝูงสัตว์ไปหากินในโซนอื่น ทำนุบำรุงโซนที่โทรมให้ฟื้นตัวขึ้นมา
ตามประสบการณ์ของผม ถ้าปศุสัตว์ที่ว่าคือวัวก็ไม่สู้กระไรนัก เพราะปากและลิ้นของวัวไม่สามารถเล็มกินหญ้าได้หมดจด แม้ทุ่งหญ้าจะทรุดโทรมอย่างไรก็เหลือตอไว้ แต่ถ้าเป็นแกะมันสามารถทำให้ทุ่งหญ้าจะโล้นเลี่ยนเตียนโล่งเหลือแต่ดินเปลือยๆ เลยทีเดียว
ทางที่ดีก็คือให้ฝูงสัตว์ไปหากินที่อื่นเสียบ้าง
ส่วนที่เรียกว่า regenerative grazing ก็เพราะผู้เขียนบทความหันมาให้ความสำคัญกับการปล่อยให้ระบบนิเวศของทุ่งหญ้าฟื้นฟูตัวทุ่งหญ้าเอง มากกว่าการให้น้ำให้ปุ๋ยดื้อๆ เหมือนที่เคยทำกันมา แล้วก็ใช้น้ำสิ้นเปลืองจำนวนมากจนส่งผลกระทบกับแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือไม่ก็มีทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลงปนเปื้อนกระจายไปในสิ่งแวดล้อม
อ่านแล้วก็ขำดี เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าเสต็ปป์ทำแบบนี้มานานก่อนที่เจงกิสข่านจะยึดครองจีนและส่งกองทัพถล่มยุโรปตะวันตกจนราบคาบเสียอีก
ที่ว่าเร่ร่อนนั้นไม่ได้ร่อนไปไหนไกล แค่ต้อนฝูงสัตว์หมุนเวียนใช้พื้นที่ตามที่เคยใช้กันมาและยึดครองเป็นอาณาเขตของตนเองคร่าวๆ เท่านั้น ใครจะต้อนฝูงสัตว์ไปตายเอาดาบหน้าในที่ที่ไม่รู้ว่ามีน้ำหรืออาหารพอหรือเปล่า
ไม่เพียงแต่ชุมชนที่เลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าเท่านั้น ชุมชนบรรพกาลที่เลี้ยงชีพตามป่าเขาด้วยวิธีเก็บของป่าล่าสัตว์ก็รู้จักวิธีการนี้ แม้แต่วิธีการทำไร่ที่ถกเถียงกันว่ามันคือไร่เลื่อนลอยหรือไร่หมุนเวียน ก็อาศัยหลักการที่ว่าใช้ที่ดินจนเสื่อมโทรมแล้วให้ธรรมชาติฟื้นฟูที่ดินนั้นให้กลับมาอุดมเหมือนเดิมก่อนจะเวียนกลับมาใช้อีกเหมือนกัน
ส่วนที่ว่าไร่เลื่อนลอย ทำแล้วทิ้งย้ายไปทำที่ใหม่เรื่อยไปนั้นไม่มีหรอก กว่าจะปลูกบ้านสร้างเรือนเป็นชุมชนขึ้นมาได้นั้นลงทุนลงแรงไปไม่น้อย ถ้าไม่เจอเรื่องร้ายแรงจริงๆอย่างโรคระบาด จู่ๆ ใครจะถอนเสาเรือนหนี
อเมริกันเพิ่งคิดเรื่องนี้ได้ และหันมายอมรับภูมิปัญญาโบราณ
มาถึงตรงนี้ก็เลยคิดไปถึงเรื่องเมื่อเดือนก่อน เพื่อนนักวิจัยชาวฝรั่งเศสของผมตีพิมพ์งานเขียนสั้นๆ ฉบับใหม่ และถือวิสาสะใส่ชื่อผมเป็นผู้เขียนคนหนึ่งด้วย ค่าที่ผมมีส่วนในงานชิ้นนั้นพอสมควร และเป็นหัวข้อที่เราถกกันพอสมควรระหว่างที่ทำวิจัยด้วยกัน
เนื้อหาในบทความนั้นอธิบายถึงทางรอดของเจ้าของสวนยางรายย่อยในประเทศไทยเมื่อต้องเผชิญกับภาวะโลกรวนว่าต้องปลูกพืชให้หลากหลายเข้าไว้ ทางหนึ่งเพื่อให้มีรายได้หลายทาง ทางหนึ่งเพื่ออาศัยความหลากหลายในระบบนิเวศของสวนยางเกื้อกูลความอุดมสมบูรณ์ของที่ดิน ลดต้นทุนค่าปุ๋ยค่ายาลง
พูดง่ายๆ คือทำแบบที่ชาวสวนยางเมื่อสามสี่สิบปีก่อนทำกัน เพราะวิธีนั้นรับมือกับความเสี่ยงทุกอย่างได้ดีที่สุด
พัฒนากันมาตั้งนาน วนกลับไปหาภูมิปัญญาของบรรพชนเราดีกว่า หยิบยกมันขึ้นมาดูใหม่แล้วศึกษาลงไปให้ลึกถึงวิทยาศาสตร์ที่อยู่ข้างหลังมัน
โฆษณา