11 เม.ย. 2023 เวลา 04:53 • สุขภาพ

ไส้ติ่งอักเสบ หากรอช้าอาจถึงชีวิต

ไส้ติ่งอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องรุนแรงที่ต้องผ่าตัด หากพบมีอาการปวดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวาควรนึกนึกโรคนี้ไว้ก่อนเสมอ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย พบมากในช่วงอายุ 10-30 ปี พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี (เนื่องจากโคนไส้ติ่งค่อนข้างกว้าง) และในผู้สูงอายุ (เนื่องจากไส้ติ่งตีบแฟบมีเนื้อเยื่อหลงเหลือน้อย) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย คาดประมาณว่าในชั่วชีวิตของคนเรามีโอกาสเป็นโรคนี้ร้อยละ 7 หรือในปีๆ หนึ่งมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 1 ใน 1,000 คน
22
สาเหตุ ไส้ติ่งอักเสบ
สาเหตุที่สำคัญคือ เกิดจากภาวะอุดตันของรูไส้ติ่ง* ที่พบบ่อยที่สุดคือจากเศษอุจจาระแข็งๆ ซึ่งเรียกว่า นิ่วอุจจาระ (fecalith) ตกลงไปในรูไส้ติ่ง นอกจากนั้นอาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอม (เช่น เมล็ดผลไม้) เนื้อเยื่อน้ำเหลือง (lymphoid tissue) ของไส้ติ่งที่โตขึ้น หนอนพยาธิ (ที่สำคัญคือ พยาธิไส้เดือน) เนื้องอก เมื่อเกิดการอุดกั้น สิ่งคัดหลั่งที่ไส้ติ่งหลั่งอยู่เป็นปกติก็จะเกิดการคั่งอยู่ในรูไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งบวมและมีแรงดันภายในไส้ติ่งสูงขึ้น
ประกอบกับการบีบขับของไส้ติ่ง ทำให้เกิดอาการปวดท้องรอบๆ สะดือ ขณะเดียวกันเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่เป็นปกติวิสัยในรูไส้ติ่งจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว รุกล้ำเข้าไปในเนื้อเยื่อของไส้ติ่ง ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงตามมา ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวาและในที่สุดเนื้อไส้ติ่งเกิดการเน่าตายและแตกทะลุได้ บางรายอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบจากเชื้อไวรัสไซโตเมกาโล (cytomegalovirus) ซึ่งมักพบในผู้ป่วยเอดส์ บางรายอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้
อาการ ไส้ติ่งอักเสบ
ลักษณะโดดเด่น คือ มีอาการปวดท้องที่มีลักษณะ ต่อเนื่องและปวดแรงขึ้นนานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็มักจะปวดอยู่หลายวัน จนผู้ป่วยทนไม่ไหวต้องนำส่งโรงพยาบาล แรกเริ่มอาจปวดแน่นตรงลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือปวดบิดเป็นพักๆ รอบๆ สะดือคล้ายอาการท้องเดินอาจเข้าส้มบ่อยแต่ถ่ายไม่ออก (บางรายอาจสวนด้วยยาถ่ายเอง) แต่บางรายอาจมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย
ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วยเสมอ ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการเบื่ออาหารเลย อาจต้องคิดถึงสาเหตุอื่น
ผู้ป่วยมักมีอาการอาเจียนตามหลังอาการปวดท้อง (อาจมีอาการคลื่นไส้ก่อนปวดท้อง) ซึ่งมักเป็นเพียง 1-2 ครั้ง ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนก่อนปวดท้อง อาจไม่ใช้ไส้ติ่งอักเสบ
อาการปวดท้องมักจะเป็นอย่างต่อเนื่อง แม้จะกินยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา
ต่อมาอีก 4-6 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายมาที่ท้องน้อยข้าวขวา ลักษณะปวดเสียดตลอดเวลา และจะเจ็บมากขึ้นเมื่อมีอาการขยับเขยื้อนตัว หรือเวลาเดิน หรือไอ จาม ต้องนอนนิ่งๆ บางรายถ้าเป็นมากต้องนอนงอขาและตะแคงไปข้างหนึ่ง หรือเวลาเดินต้องเดินตัวงอจึงจะรู้สึกสบายขึ้น บางรายอาจรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวหรือมีไข้ต่ำๆ
ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบอาจไม่มีอาการตามแบบฉบับดังกล่าว อาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยข้างขวาโดยไม่มีอาการอื่นนำ
มาก่อนเลยก็ได้
ในเด็กเล็กลักษณะอาการอาจไม่แน่นอนหรือชัดเจน แบบผู้ใหญ่ เช่น อาจกดเจ็บทั่วท้อง (ไม่จำกัดอยู่ตรงเฉพาะท้องน้อยข้างขวา) อาจมีไข้และปวดท้องโดยไม่มีอาการกดเจ็บชัดเจน เป็นต้น
ในผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ อาการปวดท้องอาจเป็นไม่รุนแรง และอาจมีอาการไม่ชัดเจน ทำให้ได้รับการรักษาล่าช้าจนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
การป้องกัน ไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งอักเสบ ถือเป็นภาวะร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดฉุกเฉิน การรักษาทางยาไม่ว่ายากินหรือยาฉีด อาจระงับ อาการได้ชั่วคราว และถ้าปล่อยไว้จนไส้ติ่งแตก ก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษา อาจมีการติดเชื้อของแผลผ่าตัด เสียเงิน เสียเวลาอยู่
โรงพยาบาล และเสี่ยงอันตรายมากขึ้น (มีอันตราตายร้อยละ 3 ในขณะที่ไส้ติ่งอักเสบที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนมีอัตราตายต่ำกว่าร้อยละ 0.1)
อาการปวดท้องน้อยข้างขวา นอกจากไส้ติ่งอักเสบแล้ว ยังอาจมีสาเหตุอื่น เช่น นิ่วท่อไต ปีกมดลูกอักเสบ ปวดประจำเดือน ครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น ซึ่งจะมีลักษณะอาการแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามให้ยึดหลักว่า หากมีอาการปวดท้องติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมง หรือขยับเขยื้อนตัวหรือเอามือกดแล้วรู้สึกเจ็บตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ไม่ว่าจะมีไข้หรือไม่ก็ตามควรสงสัยเป็นไส้ติ่งอักเสบหรือภาวะร้ายแรงอื่น ๆ และต้องรีบไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้านทันที อย่าคิดว่าเป็นเพียงอาการปวดท้องธรรมดา เช่น ปวดประจำเดือนซึ่งอาจเคยเป็นอยู่ประจำ
ผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการต่างๆ กันไปได้หลายแบบ มากกว่าครึ่งหนึ่งที่อาจไม่มีอาการปวดท้องรอบๆ สะดือนำมาก่อน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมกับท้องผูกหรือท้องเดินก็ได้ บางรายอาการปวดเจ็บท้องอาจอยู่นอกตำแหน่งท้องน้อยข้างขวา เนื่องจากไส้ติ่งอยู่ในตำแหน่งที่ผิดไปจากปกติ ถ้ารู้สึกปวดท้องอยากถ่ายบ่อยๆ แต่ถ่ายไม่ออกอย่านึกว่าเป็นอาการท้องผูกธรรมดา
และห้ามทำการสวนอุจจาระหรือให้ยาระบาย เพราะอาจทำให้ไส้ติ่งแตกได้ ในระยะแรกผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดตรงใต้ลิ้นปี่หรือรอบ ๆ สะดือคล้ายอาการของโรคกระเพาะจึงควรเฝ้าสังเกต อาการอย่างใกล้ชิด หากกินยาแก้โรคกระเพาะแล้วไม่ทุเลา กลับปวดรุนแรงขึ้น หรือย้ายมาปวดตรงท้องน้อยข้างขวา ก็ควรนึกถึงไส้ติ่งอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการปวดท้องต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง
ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบมักมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ ถ้าพบว่ามีไข้สูงอาจเกิดจากไส้ติ่งแตก หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ไทฟอยด์ ปีกมดลูกอักเสบ กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน
วิธีตรวจดูอาการไส้ติ่งอักเสบอย่างง่าย ๆ ก็คือการใช้นิ้วมือกดเบา ๆ ตรงท้องน้อยข้างขวา ถ้าพบว่ามีอาการเจ็บปวดตรงบริเวณนั้นมากก็พึงสงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ดังนั้น ควรใช้วิธีนี้ตรวจดูผู้ที่มีอาการปวดท้องหรือท้องเดินทุกราย
การรักษา ไส้ติ่งอักเสบ
หากสงสัยควรรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ควรงดอาหารและน้ำดื่ม (ถ้ามีอาการขาดน้ำควรให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย) เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัดฉุกเฉิน
แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคนี้จากประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย และมักทำการตรวจทางทวารหนักโดยผู้ตรวจสวมถุงมือ แล้วใช้นิ้วชี้สอดเข้าทวารหนักของผู้ป่วย หากปลายนิ้วแหย่ถูกปลายไส้ติ่งจะมีอาการเจ็บมาก ซึ่งเพิ่มน้ำหนักของการวินิจฉัย
ในรายที่ต้องการยืนยันให้แน่ชัด หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (ในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบจะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ) ตรวจปัสสาวะ (หากตัวไส้ติ่งอยู่ใกล้ท่อไตหรือกระเพาะปัสสาวะอาจพบเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ) เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ (อาจพบไส้ติ่งที่อักเสบบวม หรือก้อนฝีรอบ ๆ ไส้ติ่ง) เป็นต้น
ถ้าเป็นโรคนี้จริงจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งออกทันที แพทย์จะฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการผ่าตัด โดยเริ่มฉีดตั้งแต่ก่อนลงมือผ่าตัดผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3-5 วัน และมักหายดีโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด
เคลียร์ให้ชัดก่อนตัดทิ้ง ไส้ติ่ง ต้องตัดตอนไหน
‘ไส้ติ่ง’ อวัยวะขนาดเล็กจิ๋วที่ซ่อนตัวอยู่ในช่องท้องด้านขวาและเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งหลายคนสงสัยว่าสำคัญอย่างไรต่อร่างกาย แล้วตอนไหนควรตัดทิ้ง?
ในปัจจุบันเราพบว่า ในวัยเด็กไส้ติ่งช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน และปรับสมดุล ทำให้ลำไส้ติดเชื้อยากขึ้น เต็มไปด้วยแบคทีเรียเจ้าถิ่นที่คอยช่วยดูแลไม่ให้เชื้อโรคต่าง ๆ สร้างปัญหาให้กับร่างกาย แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากไส้ติ่งเกิดอุดตันกลายเป็นไส้ติ่งอักเสบ ก็ควรจะตัดออกไปดีกว่าปล่อยไว้เพราะอาจส่งผลต่อชีวิตได้
ดังนั้นหากพบว่ามีอาการปวดท้องที่ผิดปกติรุนแรงยาวนานกว่า 6 ชม. ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อทำการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง แผลเล็กราว ๆ 5 มิลลิเมตร ผู้ป่วยจะฟื้นตัวไวขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องพักฟื้นนาน
การผ่าตัดไส้ติ่งโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic Appendectomy)
การผ่าตัดไส้ติ่งโดยการส่องกล้อง คือ การรักษาโดยการเจาะรูเล็ก ๆ และสอดกล้องเข้าไปในท้องตรงใต้สะดือ เพื่อทำการรักษาด้วยการตัดไส้ติ่งออกผ่านบริเวณแผลขนาดไม่เกิน 2 ซม.ข้อดีของการรักษาโดยวิธีนี้ คือ แผลเล็ก ฟื้นตัวไว ดูแลแผลง่ายไม่ต้องกลัวการติดเชื้อจากการเปิดแผล แผลเป็นน้อย หลังการผ่าตัดคนไข้ก็จะเจ็บแผลน้อย สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำได้อย่างรวดเร็วมากกว่าการผ่าตัดใหญ่รูปแบบเก่า
หรือ Keyhole Surgery แพทย์จะผ่าตัดเปิดช่องเล็ก ๆ บริเวณหน้าท้อง แล้วสอดท่อขนาดเล็กที่เรียกว่า แคนนูล่า (Cannula) เข้าไปตามช่องเพื่อขยายช่องท้องด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นจะสอดอุปกรณ์ที่เรียกว่า แลพพาโรสโคป (Laparoscope) ซึ่งเป็นท่อบาง ๆ ที่มีความยาว มีหลอดไฟและมีกล้องความละเอียดสูงอยู่ที่ปลายท่อ
ซึ่งจะคอยส่งสัญญาณภาพให้แพทย์ผ่าตัดพบบริเวณที่เป็นไส้ติ่ง แล้วแพทย์จะใช้อุปกรณ์พิเศษขนาดเล็กสอดเข้าไปในช่องเล็กๆ ที่ผ่าบริเวณหน้าท้อง เพื่อทำการตัดแล้วนำไส้ติ่งออกมา จากนั้นจึงทำความสะอาด เย็บปิด และตกแต่งบาดแผลทั้งหมด เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ค่อนข้างเป็นที่นิยม เนื่องจากวิธีนี้จะลดความเสี่ยงที่อวัยวะภายในอาจได้รับผลกระทบจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ทำให้เกิดแผลเล็กกว่า และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหมาะกับผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในภาวะอ้วน
การเตรียมตัวก่อน การผ่าตัดไส้ติ่งโดยการส่องกล้อง
การทดสอบ แพทย์จะถามประวัติอาการและตรวจร่างกายด้วยการกดบริเวณท้องตามจุดต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดท้อง และประเมินว่าเป็นลักษณะไส้ติ่งอักเสบหรือไม่ และอาจแนะนำให้ตรวจเลือดหรือฉายภาพรังสีเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย
อาหารการกิน ต้องงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่ง
ประวัติทางการแพทย์ แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่ากำลังใช้ยารักษาชนิดใด กำลังเจ็บป่วยหรือรักษาอาการป่วยใดอยู่ หรือแพ้ยาชนิดใด เคยเจ็บป่วย หรือเคยได้รับการรักษาประเภทใด
เตรียมความพร้อม หากทราบล่วงหน้าว่าต้องผ่าตัดไส้ติ่ง ควรแจ้งให้ครอบครัว เพื่อน และบุคคลใกล้ชิดทราบ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นคอยดูแล หรือขับรถรับส่งผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัด เนื่องจากนอกเหนืออาการเจ็บปวดที่แผลผ่าตัด อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลบ ผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงซึมและไม่สามารถดูแลตนเองได้
ขั้นตอน การผ่าตัดไส้ติ่งโดยการส่องกล้อง
การใช้ยาชาและยาสลบ ในการผ่าตัดไส้ติ่ง แพทย์จะใช้ยาสลบและยาระงับความรู้สึกบางชนิดฉีดเข้าไปในเส้นเลือดของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวตลอดระยะเวลาที่ทำการผ่าตัด แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดบริเวณที่ต้องทำการผ่าตัดเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความเจ็บปวด แต่จะยังคงรู้สึกตัวอยู่ตลอดระยะเวลาที่ผ่าตัด
การผ่าตัด แพทย์จะมีดุลยพินิจเลือกใช้วิธีการผ่าตัดตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ความรุนแรงของการอักเสบ รวมถึงประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย โดยมีการผ่าตัดไส้ติ่ง 2 วิธี ดังต่อไปนี้
การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้อง (Open Appendectomy) แพทย์จะผ่าเปิดช่องท้องบริเวณช่วงท้องด้านล่างขวาเป็นความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วตัดไส้ติ่งซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่เชื่อมติดกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้นออก จากนั้นแพทย์จะเย็บปิดแผล วิธีการนี้เป็นวิธีที่สะดวกต่อการทำความสะอาดเนื้อเยื่อและอวัยวะบริเวณใกล้เคียงหากมีการอักเสบของไส้ติ่งจนไส้ติ่งแตก และเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ที่เคยผ่าตัดหน้าท้องมาก่อน
การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Appendectomy หรือ Keyhole Surgery)
การผ่าตัดไส้ติ่งโดยการเปิดท้อง (Open Appendectomy)
การผ่าตัดแบบเปิด (Open Appendectomy) โดยมีบาดแผลบริเวณท้องน้อยด้านขวา ตรงตำแหน่งของไส้ติ่งที่อักเสบ
แพทย์จะผ่าเปิดช่องท้องบริเวณช่วงท้องด้านล่างขวาเป็นความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วตัดไส้ติ่งซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่เชื่อมติดกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้นออก จากนั้นแพทย์จะเย็บปิดแผล วิธีการนี้เป็นวิธีที่สะดวกต่อการทำความสะอาดเนื้อเยื่อและอวัยวะบริเวณใกล้เคียงหากมีการอักเสบของไส้ติ่งจนไส้ติ่งแตก และเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ที่เคยผ่าตัดหน้าท้องมาก่อน
ดังนั้น ควรสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของไส้ติ่งอักเสบ เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ก่อนจะพัฒนาอาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ซึ่งได้แก่ ปวดท้องบริเวณรอบสะดือลงมาถึงท้องด้านล่างขวา มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องร่วง ท้องผูก ท้องอืด กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็ง และเมื่อแพทย์ทดสอบด้วยการกดไปที่หน้าท้องบริเวณไส้ติ่งจะมีอาการเจ็บปวด
โฆษณา