11 เม.ย. 2023 เวลา 05:22 • สิ่งแวดล้อม

อีโค่บริค ประโยชน์สองทาง ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ยากเลย

อีโค่บริค คืออะไร สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร เรามาทำความรู้จักกับมันกันครับ
อิโค่บริค (ecobrick) หรือแปลตรงตัวว่า อิฐนิเวศ เกิดจากความคิดในการนำขวดพลาสติก PET ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำดื่ม ขวดเครื่องดื่มต่างๆ ที่เป็นพลาสติกใส ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน นำมายัดเศษถุงพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการในการอุปโภค บริโภคของเรา เช่นถุงพลาสติกจากการแกะห่อบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่นพลาสติกห่อโค้กกระป๋อง หรือฉลากที่ห่อขวด หรือคาดขวดเพื่อแสดงโลโก้ หรือรูปต่างๆ เศษพลาสติกจากการใส่อาหาร หรือสิ่งของ ถุงข้าวสาร ฯลฯ ที่สะอาด ย้ำว่าต้องสะอาด
โดยเศษพลาสติกนั้นๆ หากมีคราบเปื้อนไม่มาก อาจนำไปล้างน้ำเปล่าแล้วผึ่งแห้ง จึงค่อยนำมายัดลงขวด
โดยกระบวนการในการยัดนั้น ควรใช้ไม้ที่มีความยาวกว่าขวดที่จะยัดประมาณมือจับถนัด และขนาดที่เล็กกว่าปากขวด  เพื่อใช้ในการยัดเศษพลาสติกต่างๆ ให้แน่น ยิ่งแน่น ยิ่งดี เพราะจะยิ่งทำให้อิฐที่เรากำลังทำอยู่นั้นหนาแน่น และรับน้ำหนักได้ดีนั่นเอง
จากประสบการณ์ของผม มันน่าประหลาดใจมากในครั้งแรกๆ ของการทำ เพราะการยัดขวดน้ำดื่ม PET ขนาด 600ml ให้เต็มได้นั้น คุณต้องใช้เศษพลาสติกจำนวนมากกว่าที่คุณจินตนาการได้ และอาจจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อขวดเลยทีเดียว เนื่องจากเศษพลาสติกสามารถถูกอัดให้แน่นได้มากกว่า 90% ของขนาดปกติ เมื่อยัดจนเต็มที่ คุณจะพบว่าอีโคบริคที่คุณทำเสร็จนั้น มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และพร้อมที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในแบบต่างๆ ได้แล้ว
อาจจะมีคำถามว่า แล้วทำไมเราควรต้องทำสิ่งนี้ด้วยล่ะ ชั้นเอาเวลาครึ่งชั่วโมงที่ต้องยัดขวด สู้เอาเวลาไปไถมือถือดูติ๊กต่อก หรือโซเชียลอื่นๆ ดีกว่าเป็นไหนๆ
นั่นสิครับ ทำไมเราต้องมาเสียเวลาทำมันด้วยล่ะ และคุณอาจจะคิดว่าถ้าเราไม่ทำ และทิ้งขยะพลาสติกเหล่านี้เหมือนเดิม เดี๋ยวก็มีหน่วยงานที่คอยดูแล มาเก็บ และมันก็คงจะถูกนำไปรีไซเคิล หรือฝังกลบได้อยู่แล้วนี่นา
ถ้าเป็นการนำไปรีไซเคิลเท่าที่ผมทราบ พลาสติกประเภทที่เป็นแผ่นบางๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการห่อ หรือใส่สินค้าต่างๆ เช่นถุงพลาสติกที่เราใช้กันอยู่นั้น ไม่สามารถนำมารีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ส่วนการฝังกลบนั้น เนื่องจากมันเป็นขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ เป็นแผ่นๆ ทำให้มันสามารถล่องลอยลงสู่แม่น้ำ และทะเลได้ง่ายมาก ซึ่งหากเราทิ้งขยะพลาสติกพวกนี้ออกไป ก็จะกลายเป็นภาระกับโลกใบนี้ นี่ยังไม่รวมไปถึงการที่ขยะพลาสติกเหล่านี้เริ่มย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติก วนกลับมาสู่เรา และลูกหลานของเรา
ซึ่งการกักเก็บมันไว้แบบอัดแน่นให้อยู่ในขวดพลาสติกเพื่อให้มันเป็นอีโค่บริคนั้น ได้ประโยชน์ถึงสองทางด้วยกัน
ประโยชน์ประการแรกที่ได้คือเราสามารถช่วยลดขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ และเป็นขยะที่ใช้เวลาย่อยสลายนานมากๆ หลักร้อยปี ด้วยการยัดมันไว้ในขวด เพื่อที่จะไม่ต้องไปเป้นภาระของสิ่งแวดล้อม รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อให้โลกของเราน่าอยู่ จากการทำอีโค่บริคของผมนั้น พบว่าหากเราใช้ขวดน้ำ 600ml ในการทำ มันสามารถรองรับเศษพลาสติกต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นจำนวนมาก มากกว่าที่เห็น
และขวด 1 ใบนี้ สามารถนำมายัดขยะพลาสติกจากการอุปโภค บริโภค อย่างพวกพลาสติกที่ห่อหลอดที่มากับกล่องนม UAT หากไปกินข้าวข้างนอก หรือพวกพลาสติกห่อตะเกียบตามร้านก๊วยเตี๋ยว ผมจะยัดใส่กระเป๋าเสื้อ หรือกางเกง พอถึงบ้าน ก็นำมันยัดใส่ขวดเอาไว้ สะสมไปเรื่อยๆ อย่างตอนอยู่บ้าน พวกพลาสติกพวกที่ห่อฝาขวดสินค้าต่างๆ หรือห่อขนม (ที่ไม่เปื้อน หากเปื้อนไม่มาก ก็นำไปล้างน้ำนิดหน่อย ผึ่งแห้ง)  ก็สามารถนำไปยัดลงในขวดแบบหลวมๆ ไปก่อน พอเริ่มเต็ม ก็นำไม้ หรือตะเกียบ ยัดแน่นสักที
ผมเชื่อว่าเราสามารถทำให้มันดีขึ้นด้วยมือ ด้วยแรงของเรา เริ่มที่ตัวเราครับไม่ต้องไปคาดหวังให้ใครมาทำ
Simple Me
สำหรับประโยชน์ข้อสองนั้น คือการนำอีโค่บริคที่บรรจุจนแน่น เต็มขวดแล้วไปใช้งาน เอาตรงๆ ตอนแรกผมก็คิดไม่ออกว่ามันจะไปทำอะไรดี เพราะที่เค้าแนะนำว่าให้ไปใช้แทนอิฐ ทำเก้าอี้ หล่อปูนต่างๆ นั้น ผมไม่มีถนัด และไม่ได้มีความต้องการใช้งานแบบนั้น จนผมเจอสิ่งที่เหมาะกับผม นั่นก็คือผมใช้มันมาอุดช่องว่างระหว่างตัวบ้าน กับที่ด้านข้างบ้านที่ทรุดลง เพื่อลดปริมาณสเปรย์โฟม
โดยการทำอีโคบริคจากขวดเครื่องดื่มน้ำอัดลมขนาดเล็กๆ แล้วเอาไปวางเรียงบริเวณร่องที่เป็นแนวยาว ตามด้วยการพรมน้ำด้วยฟอกกี้ แล้วค่อยใช้สเปรย์โฟมฉีด วิธีนี้เป็นการใช้อีโคบริคในการลดปริมาณของโฟมที่หากฉีดเปล่าๆ แบบไม่ใช้อีโคบริคมาช่วย จะเปลืองกว่ากันมาก รวมถึงเสริมความแข็งแรงให้กับตัวโฟมให้สามารถคงตัวอยู่ได้ดีขึ้นด้วย
แม้ว่าจะเสียเวลาไปบ้าง แต่สิ่งที่ได้คือการช่วยลดภาระให้กับโลกใบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรช่วยกันทำ แถมยังได้ออกกำลังกายแขน และมือตอนที่ต้องยัดพลาสติกให้แน่นๆ และประหยัดเงินในกระเป๋าเวลาที่เอามันไปใช้ประโยชน์ต่างๆ หรือถ้าคิดไม่ออกว่าจะเอาไปทำอะไร เห็นว่าเค้ามีรับบริจาคได้โดยเราสามารถหาใน Google หรือถาม ChatGPT ก็น่าจะสามารถหาแหล่งในการบริจาคได้อย่างแน่นอน
ถึงตรงนี้ หวังว่าบทความของผมจะช่วยส่งเสริม ทำให้คุณสนใจ และลองเริ่มทำอีโคบริคกันนะครับ
ปล. หากมีถามสงสัย สามารถถามทิ้งไว้ในเม้นท์ได้เลยครับ
โฆษณา