13 เม.ย. 2023 เวลา 09:10 • ไลฟ์สไตล์

หนังสือเก่า

1.
ตอนนั้นแถว ๆ เพชรเกษมยังไม่ร้อนเท่าตอนนี้ สายลมฤดูหนาวที่แม้จะไม่ค่อยหนาวตามชื่อยังทำงานพอให้ได้รู้สึกถอนใจบางอย่างกับชีวิตได้อยู่บ้าง แม้จะไม่มากเท่าที่คิดไว้ก็เถอะ
ผมชอบเดินมากินข้าวที่ห้างแถวบริษัท แต่ก็ไม่ได้ซื้อข้าวราคาแพงในฟู้ด คอร์ทแบบที่เพื่อนร่วมงานชอบไปซื้อกัน ผมมักจะตรงดิ่งขึ้นชั้นสี่ เปิดข้าวกล้องที่ทำไว้ตั้งแต่เมื่อเช้า กินไปพลางมองดูกิจวัตรประจำวันของคนอื่น ๆ ไปอย่างเงียบ ๆ
ผมไม่ค่อยเข้าใจการเมืองในบริษัทเท่าไหร่หรอก มันดูน่าเบื่อ และต้องทำอะไรบางอย่างที่ “ผู้ใหญ่ที่เราเกลียด” ชอบทำกัน เฉือนกันไปมาในที่ประชุมเพราะความแค้น และไม่ชอบหน้ากันส่วนตัว หรือแข่งกันเลียขาเจ้านายแบบออกนอกหน้า แต่สุดท้ายเขาก็ยังไปกินข้าวกันเหมือนว่าทั้งหมดทั้งมวลนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
สังคมเพื่อนร่วมงานจึงเป็นเหมือนสนามรบ มากกว่าจะรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องประโยชน์ของลูกจ้าง
“เพื่อนร่วมงาน” สำหรับผมจึงเป็นได้แค่ “เพื่อน” กันแค่ตอน “ร่วมงาน” มากกว่าจะก้าวข้ามไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ของชีวิต
เวลาที่คนอื่น ๆ เขาตั้งวงเม้ามอย หรือเวลาว่างหลังจากทำงานเสร็จ ผมจึงมักจะเอาไปลงกับการ “อ่านหนังสือ” ความเป็นนักเขียนทำให้หนังสือถูกใช้เป็นข้ออ้างในการหลบหนีจากความวุ่นวายรอบ ๆ ตัวได้โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าผมกำลังอู้งาน ว่าก็ว่าเถอะครับ นับรวม ๆ เวลาทำงานแค่สามเดือนกับหนังสือเกือบสิบเล่มที่อ่านจบไป หลาย ๆ ครั้งผมก็แอบรู้สึกว่าผมแค่มาเปลี่ยนที่อ่านหนังสือมากกว่ามาทำงานจริง ๆ
หลังกินข้าวเสร็จจากชั้นสี่ ผมเลยชอบที่จะตรงปรี่ไปที่ร้านหนังสือชั้นใต้ดินว่ามีเล่มไหนบ้างที่น่าอ่าน หลาย ๆ เล่มอยากอ่านตั้งแต่สมัยมหาลัย เพิ่งได้มาซื้ออ่านจริง ๆ ก็ตอนนั้น
กองหนังสือเก่าลดราคาจากร้านนายอินทร์ข้าง ๆ ยามาซากิเรียกความสนใจผมได้ตลอด แล้วผมก็ดันชอบรื้อ ๆ มันออกมายืนอ่านสองสามย่อหน้าทุก ๆ เที่ยง หนังสือหลายเล่มที่นอนเรียงกันในนั้นเป็นหนังสือจากทศวรรษ 2550 ที่ในความคิดของผม มันเป็นจุดรุ่งเรืองของวัฒนธรรมเด็กแนวชาวกรุง ก่อนจะเปลี่ยนร่างเป็น “วัยรุ่นเทสดี” ในปัจจุบัน
เอาจริงอ่านแล้วก็แอบรู้สึกสลดใจอยู่เล็กน้อยเหมือนกัน เพราะหลังจากที่รู้ตัวว่าไม่ได้ชอบเรียนสายวิทย์ตอนม.ปลาย แรงถีบตัวที่ทำให้ผมตัดสินใจกล้ามาเรียนในคณะที่หางานทำไม่ค่อยได้ส่วนหนึ่งคือผมเคยคิดว่าวัฒนธรรมเด็กแนวแบบนั้นจะรุ่งเรืองสถาพร และมีพื้นที่ให้พอจะแทรกตัวไปเป็น Content Creator คูล ๆ ในสื่อออนไลน์ได้แบบที่คนอื่นเขาเป็นกัน
แต่ผมก็คิดผิด สื่อออนไลน์โตเร็วเกินไปจนกลายเป็นสำนักข่าวที่เล่นกับอัลกอริทึ่มของแพล็ตฟอร์มจนมัวแต่สนใจตัวเลข รสนิยมของคนก็เปลี่ยนไปตามสื่อที่เปลี่ยนแปลง การเป็น Blogger ไม่ใช่ความเท่ คนสมัยนี้เขาไม่อ่านตัวอักษรยาว ๆ และแน่นอนว่า Content Creator ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เล่าเรื่องผ่านภาพ หรือตัวอักษร แต่มันรวมไปถือเรื่องของแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ วีดิโอ หรือสื่ออะไรก็ตามที่กำลังเป็นที่นิยม ตำแหน่งงานนี้จึงมักจะพ่วง Requirement ว่าต้องใช้ Photoshop หรือตัดต่อวีดิโอเป็น
ไอ้คนช้า ๆ ที่ชอบตัวหนังสือแบบผมจึงถูกตัดออกจากสารบบการจ้างงานไปโดยปริยาย
2.
หนังสือจากยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านจึงเป็นเพื่อนไม่กี่คนที่เข้าใจ ผมแอบ ๆ แปลกใจที่หนังสือของพิมฐาหลังจากปีที่คนประโคมข่าวเรื่องโลกแตกลงท้ายคำนำผู้เขียนประมาณว่าร่องรอยหมึกที่จารึกลงในหน้ากระดาษกลั่นมาจากประสบการณ์ และความรู้สึกจริงของผู้เขียน ว่ากันตรง ๆ ถ้าผมไม่ได้เจอหนังสือเล่มนี้นอนอยู่ในกอง ผมเองคงนึกไม่ออกว่าเขาเคยเป็นนักเขียนที่อุทิศตัวให้กับงานได้มากขนาดนี้
ความเปลี่ยนแปลงแบบที่ผมเผชิญอยู่ ทำให้ชะตากรรมผมและหนังสือเก่า ๆ กองนั้นลงเอยแบบไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ ผมกลายเป็นพนักงานการตลาดทั้งที่คิดว่าสมัครเข้ามาทำตำแหน่งสื่อสารองค์กร ส่วนหนังสือพวกนั้นก็นอนในกองที่รอโละทิ้ง
โลกนี้ดำเนินไปด้วยกลไกทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนไม่กี่คนครอบครองทรัพยากรจำนวนมาก เขาไม่สนหรอกว่าสุดท้ายแล้วมันจะทำให้โลกร้อน ฝุ่น PM กระจายเต็มอากาศ หรือน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ เขาสนแค่ว่าธุรกิจของเขาจะต้องอยู่ไปอีก 50 ปี ไปอีก 100 ปี ทุกสิ่งที่เราทำต้องก่อประโยชน์ให้กับบริษัท และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี พูดง่าย ๆ คือทุกอย่างต้อง “ขายได้”
ผมไม่แน่ใจว่าคนยุคก่อนหน้านี้เขาคิดเรื่องการขายอะไรกันมากกว่านี้หรือเปล่า? ผมแค่รู้สึกว่ามันดูเป็นธรรมชาติมากกว่านี้ ดูไม่ยัดเยียดแบบที่ทุกวันนี้เป็นกัน ไม่รู้ว่าตอนนั้นยังเด็กเกินไป เลยดูไม่ออกว่ามันเป็นการขาย หรือการแข่งขันไม่ได้ทวีความรุนแรงมากตามความเร็วของโลกอย่างทุกวันนี้กันแน่
บางที โลกอาจจะแตกไปแล้วจริง ๆ ตั้งแต่ปี 2012 ส่วนตอนนี้พวกเรากำลังตกนรกกันอยู่
ผมมักจะให้เหตุผลกับความน่าอดสูบางอย่างของตัวเองว่าผม “เกิดช้าไป” ถ้าเกิดเร็วกว่านี้สักสิบปีผมคงได้ทำอะไร ๆ อย่างที่ฝัน และคงไม่ต้องเผชิญกับเงินเฟ้อ สงคราม สิ่งแวดล้อม รวมถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองไทย และต่างประเทศขนาดนี้
ในอีกมุมหนึ่ง ความเป็นเด็กต่างจังหวัดที่คอยแต่จะรับเศษเหลือความคูลของคนกรุงมันทำให้ผมรับสารพวกนี้ช้าไป ผมเพิ่งชื่นชมกับความคูลของมันได้ไม่กี่ปี ต้นทางในเมืองหลวงเขาก็เปลี่ยนไปฮิตอย่างอื่นกันเสียแล้ว การจะฝากผีฝากไข้ ทำมาหากินกับกระแสความคูลที่มาเร็วไปเร็วแบบนั้นจึงเป็นเรื่องที่อันตราย
3.
สุดท้ายผมก็ลาออกจากงาน และซมซานกลับมาที่บ้านเกิดแบบเงียบ ๆ
ทุกอย่างที่นี่แทบจะเหมือนเดิม ผู้คน บ้านเมือง รวมถึงหนังสือเก่า ๆ ที่ยังคงเป็นเพื่อนปลอบใจที่ดีเสมอ รื้อมาอ่านสองสามเล่มแล้วรู้สึกเหมือนได้นั่งไทม์ แมชชีนกลับไปตอนที่ยังมีไฟ และโลกรอบตัวยังดูสดใสมากกว่านี้ อ่านบางเล่มอ่านแล้วรู้สึกได้แง่มุมใหม่ ๆ ที่ตอนเด็กไม่เคยนึกถึง ในขณะเดียวกัน บางเล่มก็ทำให้รู้สึกว่า ตอนนั้นกูอ่านอะไร Bullsh*t แบบนี้ไปได้ยังไงกันฟระ
นักเขียนหนุ่มตลอดกาลเคยเขียนไว้ทำนองว่า ชีวิตจะหาหนทางของมันเอง ผมเองก็ไม่แน่ใจหรอกว่าในท้ายที่สุดแล้วเราจะรู้จักมันดีพอจะสรุปอะไรแบบนั้นได้หรือเปล่า แต่อย่างน้อยมันก็คงไม่เปล่าดายไปวัน ๆ อย่างน้อยผมก็มีเพื่อน มีความหวัง และมีความรู้สึกถอนใจบางอย่างกับชีวิตแบบที่สายลมฤดูหนาวเคยทำให้ในตอนนั้น
แม้จะไม่มากเท่าที่คิดไว้ แต่มันก็ดีแล้ว
13 เมษายน 2023
นครศรีธรรมราช
โฆษณา