15 เม.ย. 2023 เวลา 11:15 • การเมือง

สามคำถามที่ควรถามต่อนโยบายหาเสียง — คาถาป้องกันนโยบายประชานิยม

ช่วงเลือกตั้งเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ข้อเสนอและระดมความคิดใหม่ๆในการทำนโยบายเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ประเทศเผชิญอยู่
2
แต่เพราะเรามีทรัพยากรจำกัด (เราเก็บภาษีได้แค่ 18% ของ GDP และขาดดุลการคลังประมาณ 2-3% ของ GDP เกือบจะทุกปี ในขณะที่ขนาดของรัฐใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น) และเพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เวลาเราได้ยินข้อเสนอด้านนโยบายเรื่องใดๆก็ตาม เราควรตั้งคำถามสามข้อกับผู้เสนอนโยบายนั้นเสมอ
1
  • หนึ่ง นโยบายนั้นมีผลกระทบอย่างไร ใครได้ประโยชน์ และใครเสียประโยชน์
4
เพราะนโยบายรัฐคือการใช้ทรัพยากรของรัฐที่ได้มาจากทั้งอำนาจภาษี อำนาจการนำเงินรัฐไปใช้จ่าย และการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น แน่นอนว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายใดๆ ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เสมอ
1
ยากมากที่จะหานโยบายอะไรที่มีแต่ผู้ได้ประโยชน์เท่านั้น (ไม่งั้นเราน่าจะทำไปตั้งนานแล้ว)
1
การเมืองจึงเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองผลประโยชน์อย่างสันติระหว่างผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ โดยเปิดเผยผ่านการเลือกตั้ง (ไม่ใช่การคอร์รัปชั่น หรือการยึดอำนาจ)
เวลาเราได้ยินข้อเสนอด้านนโยบายจึงต้องคิดดีๆว่านอกจากคนที่จะได้รับประโยชน์แล้ว ใครเป็นผู้เสียประโยชน์บ้าง และบางทีรายละเอียดของนโยบายที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกันนี่แหละเป็นสิ่งที่ควรตั้งคำถามกันเยอะๆ
และควรมีการศึกษาวิจัยกันมากๆว่าผลกระทบของแต่ละนโยบายเป็นอย่างไร ประชาชนจะได้มีข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจอย่างครบถ้วน ไม่ใช่ฟังข้อมูลจากผู้เสนอเพียงฝ่ายเดียว และควรเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูล ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่ใช่นั่งเทียนเอาเอง
ในหลายประเทศ มีสถาบันวิจัยหรือ Think Tank ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลในหลายมิติ และมีความชำนาญในด้านที่ต่างกันไป เพื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่กัน แต่มีความเห็นต่างกันตามความเชื่อทางเศรษฐกิจและการเมือง
เช่น ในสหรัฐมี Brookings Institute, Heritage Foundation, Peterson Institute, Tax Foundation เป็นต้น ที่ได้รับความเชื่อถือ และผลิตงานที่มีคุณภาพ และส่วนใหญ่มีเงินสนับสนุนจากเงินบริจาค จากคนที่อยากสนับสนุนงานเหล่านี้ หรือต้องการผลักดันนโยบายที่ตัวเองชมชอบ
หรือหลายประเทศมีหน่วยงานรัฐที่เป็นอิสระที่ทำหน้าที่นี้ เช่น ในสหรัฐ มี Congressional Budget Office หรือ CBO ที่ได้รับความเชื่อถือจากทุกพรรคการเมือง และในเมืองไทยก็มีสำนักงบประมาณ ของรัฐสภา ที่ควรจะทำหน้าที่นี้
นอกจากนี้ สื่อมวลชนเองก็อาจจะควรมีหน้าที่คำถาม และหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ และนำข้อกังวลไปถามผู้เสนอนโยบาย
เช่น ถ้ามีข้อเสนอนโยบายอะไรสักอย่าง ก็ควรมีการวิเคราะห์กันลึกๆ ถึงความเหมาะสม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ประชาชนจะได้ใช้ประกอบในการตัดสินใจ
  • สอง นโยบายนั้นมีต้นทุนเท่าไร?
อย่างที่บอกนะครับ เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การทำนโยบายก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีต้นทุนเสมอ และของที่ดี ไม่ว่าดีขนาดไหน แต่ถ้ามันราคาแพงมาก เราก็อาจจะไม่อยากมันได้ก็ได้ (ไม่งั้นทุกคนคงอยากได้เฟอร์รารีกันไปหมดแล้ว)
2
บางทีเวลาเราฟังนโยบายหาเสียง ที่เป็นนโยบายลดแลกแจกแถมกันบ่อยมาก จนเหมือนว่านโยบายพวกนี้มันฟรี ถ้าคิดว่าเราไม่ต้องจ่าย เราก็อยากได้ทุกนโยบาย แต่ถ้าเรารู้ว่ามันมีราคาเท่าไร และเราต้องจ่ายมันอย่างไร เราอาจจะต้องคิดหนักหน่อยว่าทำได้จริงไหม หรือเลือกอันไหนดี
เช่นกันครับ การวิเคราะห์ต้นทุนของนโยบายก็ควรได้รับการวิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ และถูกต้องตามหลักวิชาการ การนั่งเทียนเรื่องต้นทุน หรือการประมาณผลกระทบที่ดีเกินจริง อาจจะทำให้เกิดการประเมินต้นทุนของนโยบายที่ผิดพลาด
ในอดีต เราเห็นนโยบายหลายอันที่เสนอมาแล้วบอกว่าไม่มีต้นทุนด้านการคลัง เพราะมีการใช้มาตรการกึ่งการคลัง การใช้ธนาคารของรัฐมาหลบกระบวนการด้านงบประมาณ หรือนโยบายที่เมื่อนำมาทำจริงๆแล้วมีต้นทุนสูงกว่ามีสัญญาไว้หลายเท่าตัว
เวลาได้ยินว่านโยบายนี้มีต้นทุนน้อยมาก ต้องคิดกันหนักๆนะครับ ว่าโดนหลอกอยู่หรือเปล่า
การวิเคราะห์ต้นทุนของนโยบายจึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ต่างจากการประเมินผลกระทบของนโยบายเลย
  • สาม จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย?
เพราะเรามีทรัพยากรจำกัด ถ้ามีข้อเสนอเรื่องนโยบายใหม่ที่มีต้นทุนเกิดขึ้น มีแค่สามทางที่เราจะทำนโยบายนั่นได้ คือ
- หนึ่ง ตัดเงินจากนโยบายอื่น
- สอง ขึ้นภาษี สร้างรายได้ใหม่มาจ่าย
- สาม เพิ่มการขาดดุล และสร้างหนี้ใหม่ ให้ลูกหลานมาจ่ายในอนาคต
1
ถ้าเราตั้งคำถามแบบนี้เสมอจะบังคับให้พรรคการเมืองคิดให้ครบ และทำให้เราต้องฉุกคิดว่า นโยบายที่เราคิดว่าดี มีต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นอย่างไร ถ้าเราอยากจะได้นโยบายใหม่มา เราต้องตัดงบประมาณอะไรไป (แต่งบบางอย่างเราอยากจะให้ตัดก็ได้) หรือต้องจ่ายภาษีใหม่อะไรบ้าง หรือต้องยอมรับหนี้เพิ่มขึ้นเท่าไร และคุ้มกันหรือไม่
ในหลายประเทศ คำถามว่าจะ “จ่าย” นโยบายอย่างไร อาจจะเป็นคำถามที่ตัดสินผลชนะหรือแพ้การเลือกตั้งได้เลย
สามคำถามนี้จึงเป็นคำถามที่เราควรช่วยกันตั้งกับผู้เสนอนโยบายกันนะครับ ไม่งั้นนโยบายหาเสียงจะกลายเป็นการแข่งกันแจก แข่งกันซื้อความนิยมกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ได้คิดว่านโยบายเหล่านั้นต้องแลกมาด้วยอะไร
เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีครับ…
โฆษณา