Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธเนศเล่าขาน "ทานทางปัญญา"
•
ติดตาม
16 เม.ย. 2023 เวลา 03:13 • การศึกษา
พระราชบัญญัติประถมศึกษาพ.ศ. 2464
เรื่องการศึกษาภาคบังคับนี้ เป็นเรื่องที่อยู่ในความคิดของนักการศึกษามานานแล้ว แต่ยังขัดข้องด้วยเครื่องมือที่มีไม่พร้อม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ได้มีการเริ่มวางแผนเป็นการกรุยทางไว้บ้างแล้วในเรื่องการศึกษาของทวยราษฎร์ โดยอาราธนาพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ให้ช่วยสั่งสอนเด็กที่อยู่ในปกครองตามแบบโรงเรียนหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2441
ต่อมาในพ.ศ. 2451 ถึง 2452 ได้จัดให้มีการประชุมเทศาภิบาล หารือเรื่องการจัดการศึกษาให้แพร่หลายออกไปตามหัวเมือง กระทรวงมหาดไทยรับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้จัดการศึกษาเบื้องต้นให้ราษฎรได้เล่าเรียนทั่วกันทุกคน เพราะถือว่าเป็นกระทรวงปกครองท้องที่ทั่วพระราชอาณาจักร
แต่การจัดของกระทรวงมหาดไทยในชั้นต้นเป็นเพียงจัดให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้เท่านั้นก่อน จัดให้มีกรรมการตำบลขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยกำนัน แพทย์ประจำตำบล และเจ้าอธิการวัดสำคัญในท้องที่นั้นรวม 3 คน มีหน้าที่จัดให้เด็กที่มีอายุควรเรียนหนังสือได้ ได้รับการศึกษาหนังสือไทย และเมื่อถึงคราวสำรวจสำมะโนครัว ก็ให้เด็กลองอ่านหนังสือดู ถ้าเด็กอายุ 13 ปีอ่านหนังสือออกก็เป็นอันใช้ได้
ต่อมาในพ.ศ. 2454 ได้มีการตกลงระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงนครบาลในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาประชาบาลอีกว่า เรื่องการศึกษาชั้นต้นนั้น จำเป็นต้องมีอยู่ทุกตำบลทุกหมู่บ้าน ให้เพียงพอแก่จำนวนเด็กชายและหญิงที่มีอายุระหว่างศึกษาเล่าเรียน โดยจัดให้มีโรงเรียนที่บรรดาประชาชนตั้งขึ้น ดำรงอยู่ได้ด้วย ภาษี อากร ส่วย หรือเงินอื่นที่จะพึงหาได้ เรียกว่า"โรงเรียนประชาบาล"
เป็นหน้าที่ของกระทรวงนครบาลที่จะจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้น ให้เพียงพอสำหรับเด็กชายและหญิง ที่มีอายุระหว่างเล่าเรียน ซึ่งกำหนดไว้ว่ามีอายุย่างเข้า 8 ปี ตลอดจนมีหน้าที่ชักนำให้เด็กเข้าเรียน หาครู และหาเงินมาดำเนินการทั้งสิ้น
การศึกษาประชาบาลได้ก่อตั้งขึ้นทีละเล็กละน้อยตามกำลัง แต่ยังมิได้มีการบังคับทั่วไป แม้ว่าในโครงการศึกษาพ.ศ. 2458 จะได้มีการกล่าวถึงการศึกษาภาคบังคับ คือการประถมศึกษาอยู่แล้วก็ตามแต่ยังคงผ่อนผันกันตลอดมา
จนถึง พ.ศ. 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชดำริว่า เป็นเวลาสมควรที่จะบังคับให้ประชาชนได้รับการศึกษา อย่างน้อยที่สุดในชั้นประถมศึกษาโดยทั่วถึงกันแล้ว จึงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาพ.ศ. 2464 ขึ้น เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2464 โดยมีสาระสำคัญพอที่จะสรุปได้สั้นๆ ดังนี้
1. บังคับให้ผู้ปกครองส่งเด็กทุกคนที่มีอายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ เข้าศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนประชาบาลจนกระทั่งอายุครบ 14 ปีโดยไม่ต้องเสียงเงินค่าเล่าเรียนแต่อายุที่กำหนดไว้นี้ อาจขยับขึ้นไป 8 หรือ 9 หรือ 10 ปีก็ได้(แต่ไม่เกิน 10 ปี)ในกรณีที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับท้องถิ่นที่ยังไม่มีโรงเรียนประชาบาล เด็กที่ไม่อยู่ในเกณฑ์บังคับ จะเข้าในโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนราษฎร์ที่สอนตามหลักสูตรประถมศึกษา หรือหลักสูตรอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าเทียบเท่าก็ได้ แต่ต้องเสียค่าเล่าเรียนตามที่หวังไว้
2. ในปีหนึ่งโรงเรียนจะต้องมีเวลาเปิดเรียนไม่น้อยกว่า 320 เวลา(วันหนึ่งนับเป็น 2 เวลา คือเช้าและบ่าย) หรือ 800 ชั่วโมง และเด็กขาดเรียนติดต่อกันเกิน 30 วันโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีเหตุผลอันสมควรไม่ได้
3. ให้มีสารวัตรศึกษาคอยตรวจตราดูแล ถ้าผู้ปกครองไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับในพระราชบัญญัตินี้ ให้สารวัตรศึกษาแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ปฏิบัติตามภายในเวลาอันสมควร ถ้ายังขัดขืนโดยไม่มีเหตุผลจะต้องได้รับโทษปรับไหมมากน้อยตามความผิด
4. พระราชบัญญัตินี้บัญญัติเรื่อง การยกเว้นเด็กที่อยู่ในเกณฑ์บังคับให้เข้าเรียนโรงเรียนประถมศึกษาไว้ด้วยเหมือนกัน ได้แก่เด็กที่มีผู้ปกครองขอทำการสอนเองในครอบครัว แต่จะต้องส่งเด็กนั้นไปให้ศึกษาธิการอำเภอทำการสอบไล่ดูปีละครั้งถ้าได้ผลไม่เป็นที่พอใจ จะต้องให้เข้าศึกษาในโรงเรียน คือถูกถอนการยกเว้น
นอกจากนั้นยังยกเว้นเด็กที่เรียนจบชั้นประโยคประถมศึกษา หรือเทียบเท่าที่ยังมีอายุไม่ถึง 14 ปี หมายความว่า ถ้าเรียนจบแล้วก็ไม่ต้องเรียนซ้ำซากอยู่จนกว่าอายุจะครบ 14 ปี จึงจะพ้นเกณฑ์ เด็กที่กำลังกาย กำลังความคิดไม่สมประกอบ หรือเด็กเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง หรืออยู่ห่างจากโรงเรียนที่เปิดทำการสอนเกินกว่า 3,200 เมตร หรือไม่สามารถจะไปให้ถึงโรงเรียนได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ก็ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องถูกเกณฑ์ให้เข้าเรียน
โรงเรียนประชาบาลอาจตั้งขึ้นได้โดยประชาชนในท้อง ถิ่นนั้นสมัครใจ รวมกันตั้งขึ้นเอง หรือมิฉะนั้นก็ให้นายอำเภอเป็นผู้จัดตั้ง โรงเรียนประชาบาลที่นายอำเภอเป็นผู้จัดตั้ง อาจมีรายได้มาจับจ่ายใช้สอยโดยเรียกเก็บเงินจากราษฎรเป็นรายปีเรียกว่า"เงินศึกษาพลี" เก็บจากผู้ชายทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 60 ปี อัตราที่เรียกเก็บ ระหว่าง 1 บาทถึง 3 บาทแล้วแต่ท้องที่จะกำหนด มียกเว้นไม่เก็บจากผู้ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ได้ บรรพชิตในศาสนาต่างๆ พลทหารและตำรวจประจำการ
ส่วนคนที่ได้ออกเงินบำรุงโรงเรียนประชาบาลที่พวกตนจัดตั้งขึ้นแล้วในปีนั้น เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าเงินที่จะพึงชำระเป็นค่าศึกษาพลี ก็ได้รับการยกเว้นไม่เก็บด้วยเช่นเดียวกัน
พระราชบัญญัติประถมศึกษาพ.ศ. 2464 มิได้ประกาศใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร ท้องที่ใด ตำบลใดพร้อมที่จะจัดการศึกษาชั้นประถมศึกษาได้ เช่นมีตัวโรงเรียนและมีครูผู้สอนพร้อมแล้ว ก็ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาเฉพาะตำบลนั้นๆ
ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติประถมศึกษาแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2473 และครั้งสุดท้ายได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช 2478 บังคับใช้ทั่วทุกตำบลในพระราชอาณาจักร ยกเลิกเก็บเงินศึกษาพลีตามพระราชบัญญัติเดิม และยกเว้นบังคับเด็กที่อยู่ให้ห่างโรงเรียนจาก 3,200 เมตร เหลือเพียง 2,000 เมตรเท่านั้น
--------------------
ประมวล/สรุปจาก..พงศ์อินทร์ ศุขขจร(ประวัติการศึกษาไทย, 2512)
Cr. เจ้าของภาพ
โรงเรียน
ความรู้รอบตัว
ประวัติศาสตร์
1 บันทึก
3
2
1
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย