17 เม.ย. 2023 เวลา 10:01 • ดนตรี เพลง

#MainStand : Skrrt : จากเสียงเบิร์นยาง สู่เสียงดนตรี Hip-hop

“อีกี้มันเป็นสก๊อย ชอบเปลี่ยนผู้บ่อย ผู้พาไป Skrrt”
ท่อนเพลงนี้ของ ธาตุทองซาวน์ ซิงเกิ้ลของ ยังโอม แรปเปอร์ชื่อดัง ที่กำลังครองใจวัยรุ่นทั่วประเทศไทยอยู่ ณ ตอนนี้ อาจทำให้ใครหลายคนที่ได้ฟังแล้วนึกสงสัยว่า ศัพท์ที่เขียนชวนงงหากเปิดคำบรรยายภาพตอนรับชม MV โดยอ่านออกเสียงว่า สเกิร์ต (Skrrt) นี้คืออะไรกันแน่
ซึ่งเมื่อสืบสาวราวเรื่องแล้ว พบว่าศัพท์นี้มีความเกี่ยวพันกับวงการยานยนต์อย่างน่าเหลือเชื่อ
จากข้อมูลของ Dictionary.com ได้ให้ความหมายของ Skrrt ไว้ว่า เป็นศัพท์ของชาวอเมริกันที่มาจากการเลียนเสียงแวดล้อมธรรมชาติ (Onomatopoeia) ของการ “เบิร์นยาง (Tires Screeching)” หรือมาการทำให้ยางเสียดสีกับพื้นยางมะตอย ทั้งการดริฟท์ การเข้าโค้ง หรือการบั๊มรถ โดยจะมีเสียงออกมาว่า Skrrt ตามที่หูคนอเมริกันได้ยิน (หากศัพท์สร้างที่ไทยอาจจะเป็น เอี๊ยดอ๊าด)
ซึ่งศัพท์ดังกล่าวคนดำนิยมใช้กันจนติดปากมาตั้งแต่ยุค 1990s นั่นเพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักมีวิถีชีวิตวนเวียนอยู่กับ “การแต่งรถซิ่ง” เพื่อใช้สำหรับการแข่งขันชิงชัยตามท้องถนนยามวิกาล ซึ่งในการแข่งขันย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้ยินเสียงนี้จากกิจกรรมดังกล่าว หรือที่มากไปกว่านั้นบรรดาคนดำเอง นอกจากจะประลองความเร็วแล้ว การแข่งเบิร์น แข่งดริฟต์ และแข่งบั๊ม ก็ถือได้ว่าเป็นความบันเทิงในรูปแบบหนึ่ง
อีกทั้งพวกเขายังเป็นเจ้าแห่ง “การสร้างและใช้ศัพท์แสลง” ประหนึ่งเป็นคุณสมบัติติดตัวมาแต่กำเนิด และแน่นอนคำว่า Skrrt ได้แพร่กระจายการใช้ไปอย่างรวดเร็วทั่วอเมริกา
และเมื่อศัพท์ Skrrt ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังดินแดนเอเชียก็ถูกใช้ในกลุ่มสายซิ่ง สายแว๊น สายสก๊อย โดยไม่มีการนำมาใช้กับการแข่งแบบทางการอย่าง F1 หรือ MotoGP เพราะถือว่า “คนละคลาส”
นอกจากนี้ยังมีการนำไปปรับแปรความหมายอื่น ๆ ตามมา อาทิ Skrrt สามารถใช้อุทานเมื่อเกิดอารมณ์ “ตื่นเต้นเร้าใจ” ได้ หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อบรรยายการ “ขอตัว” เวลาเจอผู้หญิงที่ไม่ตรงปกหรือเมาหัวราน้ำ
กระนั้นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการแต่งรถซิ่งและศัพท์แสลงอย่างที่ทราบกัน คนดำเหล่านี้ยังเป็นต้นกำเนิดในการสร้างสรรค์ “ดนตรี Hip-hop” อีกด้วย นั่นจึงทำให้ยามใดที่คนเหล่านี้มีการแต่งเพลง หรือแรปแบตเทิลกัน ศัพท์แสลงทั้งหลายจึงถูกขุดขึ้นมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอน Skrrt คือหนึ่งในนั้น
Skrrt ดำรงอยู่ข้ามยุคข้ามสมัย แต่คนทั่วไปก็ไม่ได้คุ้นเคยกับมัน จนกระทั่งบรรดาศิลปิน Hip-hop ได้หยิบยกขึ้นมาใช้ประกอบในเพลง โดยเพลงแรกที่สามารถสาวไปได้ นั่นคือเพลง “O Let's Do It” ของศิลปิน Waka Flocka Flame ฟีตเจอริ่งกับ Riverdale Shawty ท่อนที่ปรากฏอยู่ในนาทีที่ 2.35-2.40 มีเนื้อร้องว่า
“We got the Glocks, whips and the knots. Even got the spots (Scurt! Scurt!) off the block.” (ฟังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=W9GT9OvGufc)
และในปี 2013 Chief Keef ก็ได้ทำการออกเพลง “Chiefin Keef” โดยท่อนที่ Skrrt ปรากฏอยู่ในนาทีที่ 0.28-0.33 มีเนื้อร้องว่า
“Pull off in that foreign, skrr skrr skrr, she thought she seen a beast.” (ฟังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=v5bYChmx1KE)
จะสังเกตเห็นว่าช่วงแรกยังไม่มีรูปแบบการเขียนแบบที่ตกลงกัน อาจเขียนเป็น Scurt และ Skrr ก็ได้ เพราะเป็นการนำมาจากการออกเสียง จนเมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2015 มันค่อยถูกเขียนเป็น Skrrt นั่นเพราะมันถูกนำมาอยู่ในชื่อเพลงของ 21 Savage ที่ออกซิงเกิ้ล “Skrrt Skrrt” และ Famous2Most ที่ออกซิงเกิ้ล “SKRRRT” มาในช่วงไล่เลี่ยกัน
ซึ่งศัพท์ดังกล่าว ณ ปัจจุบันถือว่าเสื่อมความนิยมไปมาก และไม่ค่อยได้เห็นศิลปิน Hip-hop ในอเมริกาหยิบยกมาใช้
ผิดกับในแถบเอเชียโดยเฉพาะประเทศไทยที่ Skrrt เพิ่งจะได้รับความสนใจในแง่ของการหยิบยกขึ้นมาประกอบในการแต่งเพลง Hip-hop
โดยเฉพาะเพลง “Skrrt” ของกอล์ฟ F.HERO จากค่าย High Cloud Entertainment ที่ชักชวน ‘แบมแบม’ กันต์พิมุกต์ ภูวกุล สมาชิกวง GOT7 และ แรปเปอร์ชื่อดัง ‘ยังโอม’ มาร่วมฟีตเจอริ่งด้วย โดยให้แบมแบมมากระชากใจสาว ๆ ด้วยการแร๊ปว่า “Skrrrtt,,, Skrt Skrt” (ฟังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=LMvJOZX2TKo)
และศัพท์คำนี้ ยังโอม นำมาใช้อีกครั้งในเพลงธาตุทองซาวน์ อย่างที่กล่าวไป
ปล. มีนักวิชาการโลกออนไลน์ได้ให้ข้อเสนอว่า Skrrt อาจมีที่มาจาก “เสียงขูดส้อม” ขณะที่พวกคนดำกำลัง “ผสมสารเคมี” ในการ “ทำยาเสพติด” แต่ประเด็นนี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่น่าเชื่อถือเพราะไม่มีหลักฐานรองรับ
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา