เปลี่ยนข้าวแช่ตลาดสดประชานิเวศน์ 50 บาท ให้เป็นข้าวแช่ไฮโซหรูหรา 800 บาท

หน้าร้อนปีนี้ เมืองไทยมีอากาศร้อนมากกว่าทุกปี ในหลายจังหวัดอุณหภูมิขึ้นไปสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
เนื่องจากอากาศที่ร้อนอย่างมาก ก็เลยอยากจะหาอะไรเย็นๆมาทานคลายร้อนหรือดับร้อนเสียหน่อย
ประกอบกับผู้เขียนเป็นคนเพชร( จังหวัดเพชรบุรี) ขนานแท้โดยกำเนิด เกิด เติบโต และเรียนหนังสือที่จังหวัดเพชรบุรี
ข้าวแช่เมืองเพชรแปลงร่างแล้ว
จึงทำให้นึกถึงข้าวแช่ โดยเฉพาะข้าวแช่ตำรับชาวบ้านของเพชรบุรีแท้แท้
ซึ่งผู้เขียนมีประสบการณ์ และมีความประทับใจด้านบวกกับข้าวแช่เมืองเพชรมาโดยตลอด ตั้งแต่เด็ก
โดยที่จะมีป้านิด หาบข้าวแช่มาขายที่หน้าบ้าน กระจาดด้านหนึ่งจะเป็นคนโทดินเผา ภายในบรรจุน้ำลอยดอกไม้และอบเทียนหอมกรุ่น
ข้าวสวยหุงสุกที่ขัดยางออกแล้ว
กระจาดอีกด้าน จะมีชั้นล่างเป็นผ้าขาวห่อเมล็ดข้าวสวยหุงสุกเรียงเม็ดสวยงาม
และชั้นบนก็จะวางเครื่องเคียง 3 ชนิด ใช่แล้วครับเครื่องเคียง 3 ชนิดนี้ จะเป็นตัวบอกว่าเป็นข้าวแช่ตำรับเมืองเพชรแท้หรือไม่
เครื่องเคียงสามชนิด สูตรเมืองเพชร
คือจะมี ลูกกะปิทอด ปลาหวาน ไช้โป๊วหวาน ถ้าเกินกว่านั้นแล้ว จะเป็นตำรับอื่น ไม่ว่าจะเป็นพริกหยวกสอดไส้ หรือหอมแดงยัดไส้ เป็นต้น
1
เมื่อสองสามวันก่อน มีเพื่อนเตรียมอุดมฯ ซึ่งบ้านอยู่ซอยเดียวกัน(คุณตุ๊ก) ได้โพสต์ Facebook ว่า
ไปเจอข้าวแช่ตำรับเมืองเพชรแท้ที่ตลาดประชานิเวศน์หนึ่ง จากคำบรรยายและรูปภาพ คิดว่าน่าจะเป็นข้าวแช่เมืองเพชรจริง
ข้าวแช่ชุดละ 50 บาท ที่ตลาดประชานิเวศน์ 1
และยังได้ทราบในรายละเอียดต่อไปว่า รสชาติดีมาก จนมีร้านอาหารระดับหรูหราของกรุงเทพแห่งหนึ่ง
ได้ส่งคนมาประเมินคุณภาพ และทำการจัดซื้อเพื่อไปประกอบเป็นชุดข้าวแช่สวยงามอลังการ ในราคาเกือบ 800 บาทต่อคน
1
ผู้เขียนจึงรีบไปซื้อมา พบว่าขายเพียงชุดละ 50 บาทเท่านั้น
แต่เพื่อให้ได้บรรยากาศในการทานข้าวแช่ตำรับชาวบ้านของคนเพชรบุรี
ชุดเครื่องแก้ว ที่เอามาอัพเกรดข้าวแช่
แต่มีกลิ่นอายแบบหรูหราดูดี มีราคาเสียหน่อย จึงนำเครื่องแก้วเจียระไนที่มีอยู่แล้วในบ้าน มาจัดให้เข้าชุดกัน(ก็ถือว่าสวยงามพอไปวัดไปวาไหว)
เมื่อได้ลองชิมข้าวแช่ดังกล่าวแล้ว ลิ้นคนเพชรก็ส่งสัญญาณทันทีว่า ใช่เลย เป็นตำรับเพชรบุรีแน่นอน
เพราะปลาหวานที่ใช้ ก็เป็นปลากระเบนยี่สนที่เหนียวนุ่มหนึบ เมื่อผัดกับน้ำตาลปึกหรือน้ำตาลโตนดจากต้นตาลของเพชรบุรี ก็จะได้รสชาติที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์คือ หวานกลมกล่อม ไม่หวานแหลมแบบใช้น้ำตาลทราย
ส่วนไช้โป๊หวานหรือหัวผักกาดหวานก็ผัดด้วยน้ำตาลปึกเมืองเพชรเช่นกัน จึงทำให้มีรสหวานกลมกล่อมกำลังดี และมีกลิ่นหอมของน้ำตาลโตนด แตกต่างจากการใช้น้ำตาลชนิดอื่นมากทีเดียว
ข้าวแช่เมืองเพชร มีประวัติมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากข้าวแช่นั้นเป็นอาหารของมอญ ที่นิยมทำขึ้นในช่วงฤดูร้อนคือเทศกาลสงกรานต์
มีเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ซึ่งมีเชื้อสายมอญ ได้เข้าถวายตัวกับรัชกาลที่ 4
ในครั้งที่ติดตามพระองค์เสด็จไปราชการที่จังหวัดเพชรบุรี และประทับที่พระนครคีรีหรือเขาวัง ก็ได้นำสูตรข้าวแช่ชาววังไปเผยแพร่ด้วย
มีการปรับปรุงให้เข้ากับสภาพภูมิศาสตร์และข้าวของที่มีของเมืองเพชรในสมัยนั้น
จึงมีเครื่องเคียงเพียง 3 ชนิดดังกล่าวข้างต้น แทนที่จะเป็น 5-6 ชนิด และไม่เน้นการแกะสลักที่สวยงาม
หากแต่เน้นเรื่องรสชาติที่อร่อย และมีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นที่ทรงโปรดของรัชกาลที่ 4
และเป็นที่ถูกปากของชาวบ้านจังหวัดเพชรบุรี จึงเกิดเป็นข้าวแช่ตำรับชาวบ้านขนานแท้ของเพชรบุรีคู่ขนานกับตำรับชาววัง
น้ำอบควันเทียน ลอยหน้าด้วยกลีบดอกไม้
มีเกร็ดเล่ากันว่า น้ำที่จะนำมาทำข้าวแช่นั้น จะต้องทำการอบกระดังงา ลอยดอกมะลิ อบควันเทียนค้างคืน
นอกจากจะเป็นน้ำฝนแล้ว ก็อาจจะใช้น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์มากๆก็ได้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ใช้น้ำกลางแม่น้ำเพชรบุรี หน้าวัดน้อยหรือวัดไชยสุรินทร์
ซึ่งตอนเด็ก ผู้เขียนจะขี่จักรยานไปโรงเรียนอรุณประดิษฐ โดยผ่านหน้าวัดน้อยทุกวัน จึงอินกับเรื่องข้าวแช่เมืองเพชรกับน้ำกลางแม่น้ำเพชรมาก
ข้าวแช่ 50 บาท ที่ถูกอัพเกรดเป็น 800 บาท
สุดท้าย ก็ได้ทานข้าวแช่ตำรับเมืองเพชรแท้แท้ของแม่เจริญ จากตลาดประชานิเวศน์หนึ่ง ในราคาชุดละ 50 บาท
แต่นำมาปรับแต่งนิดหน่อย ก็เสมือนได้ทานข้าวแช่ชุดพิเศษที่หรูหรามูลค่าเกือบ 800 บาทเลยทีเดียว
หมายเหตุ : เข้าแช่ตำรับเมืองเพชรของแม่เจริญ ขายประจำที่ตลาดประชานิเวศน์หนึ่ง ใกล้ห้างเซเว่น-อีเลฟเว่น ทุกเช้าวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่ 6:00-10:00 น. เลยจากนั้นแล้ว ส่วนใหญ่ของจะหมดครับ
โฆษณา