23 เม.ย. 2023 เวลา 15:07 • การศึกษา

ปัญหาการศึกษาไทย

วันก่อนได้เจอ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยบังเอิญ​ จึงได้มีโอกาสสนทนากันถึงปัญหาของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันอย่างสนุกสนาน จึงขอนำมาแบ่งปันกัน เผื่อจะทำให้เกิดการสนทนาที่นำไปสู่การแก้ปัญหาได้
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความสามารถของนักเรียนไทยทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเวทีโลก ส่วนนักเรียนที่เรียนในสาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์​ ICT และวิศวกรรมก็มีแนวโน้มที่ลดลง หลาย ๆ ภาควิชาทางวิทยาศาสตร์ของหลายมหาวิทยาลัยมีนักเรียนเข้าศึกษาต่อไม่ครบตามจำนวนเสียด้วยซ้ำ
หากประเทศไทยอยากที่จะยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพยายามผลิตบุคคลากรในสายนี้ให้ออกมามากขึ้น ให้มีความสามารถในการทำวิจัย เพื่อที่จะพัฒนาผลิตภาพของอุตสาหกรรมไทยให้ได้ดีขึ้น
แต่มหาวิทยาลัยไทยกลับอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมเอาเสียเลย จำนวนนักศึกษาที่น้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปิดตัวลง งบประมาณที่รัฐเคยให้กับการศึกษาที่เคยสูงมาก ๆ วันนี้ลดลงต่ำกว่า 15% ของงบประมาณทั้งหมด ทั้งๆ ที่งบจำนวนมากเป็นค่าใช้จ่ายประจำ ส่วนค่าเล่าเรียนก็อยู่ในระดับที่สูง เมื่อเทียบกับรายได้ จนทำให้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เก็บค่าเล่าเรียนต่ำกว่าต้นทุนจริง
ส่วนอาจารย์เองก็ต้องทำงานไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานบริหาร งานประเมินผล งานสอน งานวิจัย จนไม่สามารถทุ่มเทให้กับการสอนให้นักเรียนออกมาเป็นนักเรียนที่มีคุณภาพได้
ประกอบกับมหาวิทยาลัยในวันนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์นักศึกษา ได้เพียงเอาความสะดวกของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ให้คนเลือกมาเรียน ถ้าอยากเปลี่ยนสาขาการเรียน ก็ต้องออกไปสอบเข้าใหม่ เรียนก็ต้องเรียนได้จบในเวลา จบเร็วเกินก็ไม่ได้ ถึงเวลาหรือยังที่มหาวิทยาลัยเองต้องเริ่มคิดใหม่ ทำใหม่ สร้างมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์คนเรียนจริง ๆ
1
มหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งจึงเริ่มที่จะเปลี่ยนโมเดลในการประกอบธุรกิจ อย่างมหิดลเริ่มที่จะคิดว่า การที่รอให้เด็กมาเลือกเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ แล้วกลับได้คนที่ไม่มีคุณภาพ หรือมาค้นพบว่าตัวเองไม่อยากเรียน ทำไมไม่หาวิธีที่จะสร้าง Pipeline ที่จะสร้างเด็กที่มีความสนใจ เพื่อมาเรียนต่อในสายวิทยาศาสตร์ล่ะ
คณะจึงมีความพยายามที่จะร่วมมือกับเอกชนในการสร้าง Platform ขึ้นมาเพื่อที่จะให้การศึกษาเพิ่มเติมกับเด็กในระดับมัธยมให้มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้น มีการแนะแนวอาชีพสายวิทยาศาสตร์กับเด็ก โดยเริ่มต้นในลักษณะคล้ายการกวดวิชาให้กับเด็ก เป็น Profit Center และ Business Model ใหม่ให้กับมหาวิทยาลัย
1
ในขณะเดียวกัน พยายามทำ Backward Integration นั้น เพื่อค้นหา และสร้างนักเรียนที่ชอบการเรียนในสาขานี้จริง ๆ รวมทั้งมีศักยภาพในสายวิทยาศาสตร์ มาเป็นส่วนหนึ่งของ Pipeline ที่จะเข้ามาเป็นนักศึกษาในอนาคต และลดโอกาสที่นักศึกษาจะเปลี่ยนใจไปศึกษาในคณะอื่น
2
ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีการปรับตัวเช่นกัน มีการทดลองการเปิดโครงการ Computer Engineering & Digital Technology (ป.ตรี วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล) ในปีการศึกษา 2566 เพื่อรับนิสิตใหม่ปีละ 300 คนเข้าเรียนในหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาวิชาที่สามารถทำไปทำงานได้จริง และให้โอกาสนิสิตไปฝึกงานจริงทุกปี ตั้งแต่ปี 1-4 เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่ตลาดต้องการได้ตรงจุดมากกว่า
2
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของความพยายามของการศึกษาไทยในการปรับตัว เพื่อที่จะยังคงแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ที่เด็กเริ่มเห็นว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษา 4 ปี เป็นเวลาที่นาน ไม่จำเป็น และอาจจะไม่ตรงกับอาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน และในอนาคตอีกต่อไป
โฆษณา