24 เม.ย. 2023 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

ลีเมอร์ ในมาดากัสการ์ ไม่อาจวิวัฒนาการให้รอดจากวิกฤตโลกร้อนได้

‘ลีเมอร์’ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลลิงโบราณที่มีความเกี่ยวดองกับบรรพบุรุษของมนุษย์
เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบเพียงป่าฝนของประเทศมาดากัสการ์
คาดว่ามีมากกว่า 100 สปีชีส์ แต่บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะถูกคนล่า และสูญเสียที่อยู่อาศัย
สำหรับส่วนที่เหลืออีกหลายชนิดกำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
PHOTO : Mongabay.com
ผลการศึกษาหลายๆ ชิ้นยืนยันในทิศทางเดียวกันว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของลีเมอร์
ในการศึกษาชิ้นล่าสุด (เผยแพร่ มีนาคม ค.ศ. 2023) ก็ยังยืนยันเช่นนั้น
ตามข้อมูลอธิบายว่า นับจากปลายยุค 90 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่ป่าฝนในมาดากัสการ์เริ่มอบอุ่นขึ้น และปริมาณน้ำฝนเริ่มลดน้อยลง ลีเมอร์ในมาดากัสการ์ได้พยายามเอาตัวรอดด้วยการสืบพันธุ์ให้บ่อยขึ้น
สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการเพื่อเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม - เป็นพฤติกรรมที่พบได้ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น หนู
แต่การสืบพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้นกลับไม่มีความหมายใดๆ มากนัก เนื่องจากลีเมอร์ยังมีอัตราการตายที่สูงและเร็วขึ้น
เกิดมาก แต่จำนวนโดยรวมไม่เพิ่ม
นักวิจัยวิเคราะห์ว่า อัตราการตายกับอัตราการสืบพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น หรือแนวโน้มที่เป็นปฏิปักษ์กันนี้จะทำให้ประชากรขาดเสถียรภาพ เนื่องจากวงจรชีวิตถูกเร่งให้เร็วแบบผิดปกติ
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า แม้แต่สายพันธุ์สัตว์ที่คาดว่าสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายด้วยอัตราการสืบพันธุ์ที่สูง ก็ยังไม่สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันได้
เพียงแค่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเพียง 1.1 องศา ก็หนักหนาสาหัสเอาการแล้ว
แล้วถ้าอุณหภูมิเกิน 1.5 องศา หรือทะลุเกิน 2 องศา จะหนักขนาดไหน ?
PHOTO : Mongabay.com
วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลโดยตรงต่อทั้งตัวลีเมอร์และถิ่นที่อยู่อาศัย
สภาพอากาศที่แล้งขึ้นทำให้อาหารของสัตว์ป่าลดลง
ประกอบกับการฟื้นฟูตัวเองของป่า เรือนยอด ถิ่นที่อยู่อาศัยก็ลดตาม
เมื่อที่อยู่ลดลง อาหารลดลง ลีเมอร์ก็ลดลง
และเมื่อลีเมอร์ลดลง ผู้ทำหน้าที่ปลูกป่าก็ลดลงไปด้วย เกิดเป็นวัฏจักรด้านลบสืบต่อกันไป
ลีเมอร์บางชนิดพยายามปรับตัวย้ายจากที่สูงลงมาที่ต่ำ ย้ายจากเรือนยอดมาอาศัยบนพื้นดิน
แต่ไม่ใช่ทุกสปีชีส์ที่ทำอย่างนั้นแล้วจะรอด
วิถีเช่นนี้เหมาะสายพันธุ์ที่กินอาหารได้หลากหลาย ไม่เหมาะกับกลุ่มที่เลือกกินหรือกินเพียงน้อยชนิด
และมีอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักกับการปรับตัวเช่นนี้
แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียป่าฝน ชี้ให้เห็นอนาคตที่มืดมนสำหรับลีเมอร์ โดยที่อยู่อาศัยของพวกมันอาจหายไปทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2080
นอกจากปัจจัยทางตรงแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลทางอ้อมต่อจำนวนประชากรของลีเมอร์
ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง ภัยแล้งที่มากขึ้น ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่สอดคล้องกับความหิวที่ดังระงม
ปัญหาความยากจนที่ไม่ได้รับการแก้ไข กองทุนช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เดินทางไปไม่ถึงดินแดนไกลปืนเที่ยง บีบบังคับให้ผู้คนต้องเข้าป่าล่าลีเมอร์มาเป็นอาหารบ่อยยิ่งขึ้น
และมีแนวโน้มว่าอาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ในทางตรงกันข้าม ป่าบางแห่งของมาดากัสการ์ต้องเผชิญพายุโหมกระหน่ำใส่อย่างรุนแรง ต้นไม้ล้ม ถนนพังทลาย กระทบต่อปริมาณการตรวจตราพื้นที่ของนักอนุรักษ์
เมื่อการป้องกันเป็นไปได้ยาก ภัยคุกคามก็บุกจู่โจมได้อย่างไม่ต้องกังวล
ปัจจุบัน นอกจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ลีเมอร์ในมาดากัสการ์ยังเผชิญกับวัฏจักรแห่งการทำลายล้างอีกหลายอย่าง
การตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่อนุรักษ์ ที่มีกฎหมายควบคุมเพียงแค่ในกระดาษ แต่แทบไม่เคยถูกนำมาปฏิบัติ
การล่าในพื้นที่ชนบทยังคงเกิดขึ้นราวกับเป็นเรื่องปกติ แต่ยังพบการค้าในเขตเมือง กระทั่งมีเนื้อลีเมอร์วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต
รายงานชิ้นหนึ่งระบุว่าคนรวยกินลีเมอร์มากกว่าคนจน เพราะมีกำลังซื้อมากกว่า
ถนนที่ตัดผ่านป่า อุบัติทางรถยนต์ ก็เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามในป่าหลายแห่ง
มากไปกว่านั้น ยังมีเรื่องที่โรงแรมหรูในประเทศลักลอบซื้อลีเมอร์จากขบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายมาประดับโชว์ สร้างจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาพัก
เหล่านี้คือชะตากรรมที่ลีเมอร์แห่งป่ามาดากัสการ์ต้องเผชิญ
สำหรับสัตว์ที่หาจากที่ใดในโลกมาแทนไม่ได้
เมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงตอนจบ
เราคงไม่มีโอกาสได้ชมหนังภาคต่อของมันอีกแล้ว
...
อ้างอิง
Climate change threatens lemurs on Madagascar https://shorturl.asia/J1qFR
Madagascar’s famous lemurs could lose their rainforest by 2080 https://shorturl.asia/C4TcV
How Climate Change is Impacting Madagascar https://shorturl.asia/vbzsY
Lemurs of Madagascar https://shorturl.asia/egVvq
โฆษณา