24 เม.ย. 2023 เวลา 05:08 • ประวัติศาสตร์
อินเดีย

The Grand Trunk Road: ถนนเชื่อมประวัติศาสตร์ชมพูทวีป

เมื่อครั้งที่เอเชียใต้ยังไม่ได้แบ่งเขตแดนอย่างปัจจุบัน และเต็มไปด้วยอาณาจักรน้อยใหญ่ที่ผลัดกันครองอำนาจ การเดินทางระหว่างเมืองน่าจะยากลำบากและใช้เวลาหลายสัปดาห์ เพราะไม่มีทั้งมอเตอร์เวย์และสะพานข้ามแม่น้ำ ได้แต่ขี่ม้า นั่งเกวียน และลงเรือข้ามฟาก ความสะดวกอย่างเดียวที่อาจจะมีคือไม่ต้องใช้หนังสือเดินทางและวีซ่า อย่างไรก็ดี การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมก็เป็นนโยบายที่รัฐให้ความสำคัญไม่ต่างจากสมัยนี้ที่ connectivity เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สำคัญ
1
ทางหลวงแผ่นดินแห่งเมารยะ
อุตรบถหรือ “เส้นทางตอนเหนือ” เป็นความพยายามของพระเจ้าจันทรคุปต์แห่งอาณาจักรเมารยะเมื่อ ๒,๓๐๐ กว่าปีก่อนที่จะเชื่อมโยงหัวเมืองทั้งหลายเข้าด้วยกัน ตั้งต้นจากเมืองคาบูล ตักศิลา ละฮอร์ อัมริตสาร์ นิวเดลี อักรา กัลกัตตา Sonargaon จนไปสิ้นสุดที่ Teknaf ซึ่งปัจจุบันอยู่ชายแดนบังกลาเทศ - เมียนมา ถ้าลากเส้นในแผนที่จะเห็นว่าเป็นเส้นทางที่พาดเฉียงจากตะวันตกเฉียงเหนือไปตะวันออกเฉียงใต้
เมือง Panam Nagar ในบังกลาเทศตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็น Sonargaon เมืองท่าสำคัญและศูนย์กลางส่งออกฝ้ายและผ้ามัสลินบนเส้นทางอุตรบถ ปัจจุบันเป็นเมืองร้างหลังจากพ่อค้าชาวฮินดูย้ายไปอยู่อินเดียหลังการแบ่งประเทศในปี ๒๔๙๐
ในยุคโบราณที่ระบบโลจิสติกส์มีทางเลือกไม่มาก การคมนาคมขนส่งผ่านอุตรบถเป็นเสมือนเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงอาณาจักรทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ เพราะทำให้ลำเลียงกองทหารไปได้ถึงชายแดน และช่วยให้พ่อค้าขนส่งสินค้าได้สะดวก อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่จึงชอบสร้างถนนที่เชื่อมดินแดนส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
หลายประเทศในยุโรปยังมีร่องรอยถนนโรมันที่ปูด้วยหินก้อนโต ๆ แถวบ้านเราก็มีเส้นทางสมัยอาณาจักรขอมจากเมืองพิมายผ่านปราสาทพนมรุ้งไปนครวัด โดยมีการขุดพบจารึกและธรรมศาลาหรือที่พักแรม สำหรับคนเดินทางหลายแห่งในไทยและกัมพูชา
อุตรบถอยู่ยืนยงผ่านหลายยุคสมัยตั้งแต่อาณาจักรเมารยะ ซึ่งเกือบจะย้อนถึงยุคพุทธกาล และมีการขยายเส้นทางมาเรื่อย ๆ จนยาวถึง ๒,๔๐๐ กิโลเมตร ถนนเส้นนี้จึงคล้ายบันทึกประวัติศาตร์ที่รับรู้เหตุการณ์สำคัญในแต่ละช่วง เช่น การเผยแผ่พุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช การเดินทัพของจักรวรรดิโมกุลไปยึดครองอาณาจักรทางตะวันออก และการลำเลียงพลของกองทัพอังกฤษจากแคว้นปัญจาบไปปราบกบฏ ซีปอยที่กรุงเดลีเมื่อปี ๒๔๐๐ (ค.ศ. ๑๘๕๗)
1
อุตรบถอยู่ยืนยงผ่านหลายยุคสมัยตั้งแต่อาณาจักรเมารยะ ซึ่งเกือบจะย้อนถึงยุคพุทธกาล และมีการขยายเส้นทางมาเรื่อย ๆ จนยาวถึง ๒,๔๐๐ กิโลเมตร
ด้วยความเป็นมาเช่นนี้ GT Road จึงมี “ความเก๋า” ในฐานะถนนเก่าแก่ของโลก และเป็นเส้นทางน่าสนใจสำหรับการเที่ยวแวะชมบ้านเมืองรายทางแบบ road trip โดยเฉพาะนักเที่ยวสาย “ชมเมืองเก่า เข้าโบราณสถาน” เช่น อาจไปดูโบราณสถานทางพุทธศาสนาที่ตักศิลาในปากีสถาน โดยแวะสักการะพระบรมสารีริกธาตุในพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศไทยได้สร้างที่บรรจุถวายเป็นพุทธบูชาและเป็นของขวัญให้ประชาชนปากีสถาน
(ซ้าย) ป้อม Rohtas ที่เมือง Jhelum บนเส้นทาง Grand Trunk Road จากตักศิลาไปละฮอร์ในปากีสถาน (ขวา) มัสยิด Badshahi สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิ Aurangzeb ในช่วงที่ละฮอร์เป็นศูนย์กลางจักรวรรดิโมกุล
ระหว่างทางจากตักศิลาไปละฮอร์มีป้อม Rohtas สร้างโดยพระเจ้า Sher Shah Suri แห่งอาณาจักร Sur จากอัฟกานิสถาน และเป็นมรดกโลกในฐานะที่เป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมมุสลิมเพื่อการทหารที่โดดเด่นในเอเชียใต้ ส่วนละฮอร์มีทั้งป้อมปราการและมัสยิดที่เป็นร่องรอยความรุ่งเรืองมั่งคั่งของจักรวรรดิโมกุล
หนึ่งถนน สามประเทศ
อุตรบถเป็นเมกะโปรเจกต์ของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่เชื่อมหัวเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรเข้าด้วยกันมาหลายศตวรรษ ในช่วงที่อังกฤษปกครองอินเดีย อุตรบถเปลี่ยนชื่อเป็น GT Road ซึ่งน่าจะหมายถึงเส้นทางที่เป็นแกนกลางการคมนาคมเหมือนลำต้นของไม้ใหญ่ แต่แล้วความพลิกผันของประวัติศาสตร์ก็ทำให้ดินแดนที่เคยเป็นแผ่นดินเดียวกันกลายเป็น ๓ ประเทศ
เริ่มจากการแยกปากีสถานออกจากอินเดียเมื่อปี ๒๔๙๐ ต่อมาในปี ๒๕๑๔ ปากีสถานตะวันออกได้ขอแยกตัวจากปากีสถานตะวันตกแล้วตั้งประเทศใหม่ในนามบังกลาเทศ จึงต้องขีดเส้นเขตแดนกันใหม่ และ GT Road เปลี่ยนสถานะเป็นทางหลวงแผ่นดินในปากีสถาน อินเดีย และบังกลาเทศ ทำให้ความสะดวกในการเดินทางสัญจรแบบไร้รอยต่อบนเส้นทางนี้หมดไป โดยเฉพาะในช่วงที่อินเดียกับปากีสถานมีความสัมพันธ์ตึงเครียด
ตอนที่ปากีสถานกับอินเดียแบ่งดินแดนกันในปี ๒๕๙๐ โดยให้ประชากรมุสลิมแยกไปตั้งประเทศปากีสถาน ประกอบด้วยปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออกที่มีอินเดียคั่นกลาง มีการโยกย้ายถิ่นฐานสลับประเทศกันครั้งใหญ่ หลายครอบครัวถูกแบ่งไปอยู่คนละฝั่งประเทศ โดยเฉพาะเบงกอลตะวันตกและเบงกอลตะวันออก กับปัญจาบที่ถูกแบ่งเป็นฝั่งปากีสถานและฝั่งอินเดีย ละฮอร์ที่เป็นเมืองเอกของปัญจาบไปอยู่กับปากีสถาน แต่ก็ไม่ไกลจากชายแดนที่เพิ่งกำหนดขึ้นใหม่
ป้อมละฮอร์เป็นทั้งพระราชวังและป้อมปราการ และถูกดัดแปลงเป็นค่ายทหารในยุคอังกฤษปกครอง มีบันไดที่ทำกว้างเป็นพิเศษให้ช้างเดินขึ้นลงได้ เรียกว่า Elephant Stairs
GT Road จากคาบูลในอัฟกานิสถานจนถึงนิวเดลีน่าจะเป็นช่วงที่มีเมืองและสถานที่สำคัญมากที่สุดจากตลอดเส้นทาง ๒,๔๐๐ กิโลเมตร และเกี่ยวข้องกับจุดเปลี่ยนผันในประวัติศาสตร์ชมพูทวีปหลายครั้งคราว เช่น ละฮอร์ซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่มากว่าสองพันปีหรือพอ ๆ กับอายุของ GT Road และเจริญรุ่งเรืองที่สุดตอนเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุลช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๖ ถึงต้นศตวรรษที่ ๑๘ หลักฐานที่หลงเหลืออยู่คือเมืองเก่าละฮอร์ที่มีป้อมละฮอร์และมัสยิด Badshahi เป็นโบราณสถานสำคัญ
ป้อมละฮอร์เป็นทั้งพระราชวังของจักรพรรดิและป้อมปราการทางทหาร จึงอยู่บนเนินที่มีกำแพงมั่นคง มองเห็นบ้านเรือนชาวละฮอร์อยู่เชิงเนินด้านล่าง ล้อมรอบด้วยกำแพงตามลักษณะเมืองโบราณที่พร้อมปิดประตูเมืองถ้ามีข้าศึกโจมตี
รูปแบบสถาปัตยกรรมของ Lahore Fort คล้ายกับ Red Fort ที่นิวเดลี คือ แบ่งพื้นที่ตามการใช้งาน เช่น ท้องพระโรงสำหรับให้ขุนนางเข้าเฝ้า ที่ประทับของจักรพรรดิ และส่วนที่เป็นที่พักอาศัยของฝ่ายใน ลักษณะอาคารเป็นทรงเรขาคณิตสมมาตร มีสวนที่ตกแต่งด้วยไม้พุ่มและน้ำพุตามแบบเปอร์เซีย ซึ่งมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมอย่างมากต่อจักรวรรดิโมกุล อาทิ การใช้ภาษาเปอร์เซียในราชสำนัก ส่วนชาวบ้านใช้ภาษาฮินดี
ดังนั้น ภาษาฮินดี เบงกาลี และอูรดูจึงมีคำยืมจากภาษาเปอร์เซียหลายคำ เช่น sipahi ที่แปลว่าทหาร ในภาษาเบงกาลีออกเสียงว่า ซีปอย เป็นที่มาของชื่อกบฏซีปอยเมื่อปี ๒๔๐๐ ซึ่งเป็นการลุกฮือของนายทหารท้องถิ่นชาวฮินดูและมุสลิมในสังกัดบริษัท British East India
จากละฮอร์ข้ามชายแดนไปไม่ไกลคือเมืองอัมริตสาร์ในรัฐปัญจาบของอินเดียและเป็นที่ตั้งของวิหารทองคำ ศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของชาวซิกข์ ซึ่งก็เคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และตั้งเมืองหลวงที่ละฮอร์ ซิกข์เป็นดินแดนท้าย ๆ ที่อังกฤษยึดครองได้ในอินเดีย เมื่อเกิดกบฏซีปอย อังกฤษใช้นายทหารซิกข์เป็นกำลังสำคัญในการปราบกบฏที่เดลี โดยเคลื่อนทัพไปตาม GT Road
เมื่อปี ๒๕๒๗ นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธีเคยส่งกองทหารบุกเข้าวิหารทองคำเพื่อจับกุมแกนนำชาวซิกข์ที่เรียกร้องให้ปัญจาบมีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น และพยายามตั้ง “รัฐบาลคู่ขนาน” ประจำรัฐปัญจาบ ปฏิบัติการ Blue Star ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๘๓ คน และบาดเจ็บ ๒๔๙ คน หลังจากนั้นเพียง ๕ เดือน นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดียก็ถูกองครักษ์ชาวซิกข์ลอบสังหารเป็นการแก้แค้น
วิหารทองคำแห่งอัมริตสาร์
ย้อนกลับไปที่ละฮอร์ เมืองเก่าละฮอร์มีประตูเมือง ๒ แห่ง ที่สะท้อนแนวคิดของการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม คือ Delhi Gate และ Kashmiri Gate เพราะตั้งอยู่ด้านที่มุ่งไปเดลีและแคชเมียร์ ในขณะที่ Red Fort ที่กรุงนิวเดลีก็มีประตู Lahori Gate ที่เป็นทิศพุ่งตรงไปละฮอร์เช่นกัน
นอกจากนี้ เมืองเก่าเดลียังมีประตูเมืองชื่อ Kashmiri Gate และ Ajmeri Gate ที่ตั้งชื่อตามแนวคิดเดียวกัน ในยุคจักรวรรดิโมกุลต่อเนื่องถึงยุคที่อังกฤษปกครอง GT Road เป็นเส้นทางหลักในการสัญจรระหว่างเดลีและละฮอร์ ซึ่งมีความสำคัญทั้งด้านการปกครองและยุทธศาสตร์ความมั่นคง
GT Road ช่วงระหว่าง Delhi Gate ที่ละฮอร์ไปบรรจบกับ Lahori Gate ที่ Red Fort ในเดลีจึงดูจะมีสีสันเร้าใจมากกว่าส่วนอื่น และมีส่วนร่วมในหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้อนทับกันหลายสมัยจนเหมือนทำหน้าที่ถนนเชื่อมประวัติศาสตร์ต่างยุคไปพร้อมกันด้วย
แต่ใช่ว่า GT Road ฝั่งตะวันออกจากกัลกัตตาไป Teknaf จะไม่มีเรื่องราวน่าสนใจ
เพราะกัลกัตตาเคยเป็นศูนย์กลางของบริษัท British East India ในการปกครองอังกฤษก่อนจะย้ายไปเดลี และในบังกลาเทศก็มีเมือง Sonargaon ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการส่งออกฝ้ายและมัสลินไปยุโรปจนเป็นแหล่งรายได้หลักของเบงกอล แต่โดยที่เบงกอลตะวันออกเป็นเพียงหัวเมืองรองของจักรวรรดิโมกุล จึงไม่มีป้อมปราการหรือเมืองเก่าที่ยิ่งใหญ่อลังการเท่าละฮอร์ เดลี หรืออักรา
กัลกัตตาเคยเป็นศูนย์กลางของบริษัท British East India ในการปกครองอังกฤษก่อนจะย้ายไปเดลี และในบังกลาเทศก็มีเมือง Sonargaon ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการส่งออกฝ้ายและมัสลินไปยุโรปจนเป็นแหล่งรายได้หลักของเบงกอล
Lahori Gate เป็นทางเข้าหลักสู่ Red Fort ที่นิวเดลี คนสัญชาติประเทศสมาชิกบิมสเทครวมทั้งไทยสามารถซื้อบัตรเข้าชมโบราณสถานในอินเดียได้ในราคาที่มีส่วนลด โดยต้องแสดงหนังสือเดิน
เครือข่ายแห่งอนุทวีป
ทุกวันนี้อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ มีเส้นทางคมนาคมที่พัฒนามาไกลแล้ว และ GT Road ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเส้นทางนั้น เช่น ในบังกลาเทศแนวถนน GT Road ได้รับการยกระดับเป็นทางหลวง N1 ระหว่างธากากับจิตตะกอง และทางหลวง N6 จาก Natore ไป Purnea ในรัฐพิหารของอินเดีย ส่วนในอินเดียทางหลวง NH 3 จาก Jalandhar ไป Attari เพื่อเชื่อมต่อสู่ละฮอร์ในปากีสถาน ก็อยู่บนแนวถนน GT Road เช่นกัน
ทุกวันนี้อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ มีเส้นทางคมนาคมที่พัฒนามาไกลแล้ว และ GT Road ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเส้นทางนั้น
น่าเสียดายที่การเดินทางตาม GT Road จาก Teknaf ในบังกลาเทศไปคาบูลในอัฟกานิสถานแบบ “ไร้รอยต่อ” เหมือนสมัยเมารยะหรือโมกุลเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในตอนนี้ แม้ถนนจะเชื่อมถึงกันแต่กฎระเบียบ ในการข้ามแดนหรือ software connectivity ยังไม่สะดวกพอที่จะทำให้ขับรถจากธากาไปกัลกัตตา หรือจากเดลีไปละฮอร์ได้ง่าย ๆ ทางเลือกที่มีอยู่คือนั่งรถบัสหรือรถไฟเท่านั้น แต่หากจะไปรถส่วนตัวยังจำเป็นต้องเปลี่ยนรถเป็นรถที่จดทะเบียนในประเทศอีกฝั่งหนึ่งเมื่อข้ามแดนไปแล้ว
ไม่เหมือนในยุโรปที่ความตกลงเช็งเกนได้ยกเลิก การตรวจคนเข้าเมืองตามด่านชายแดนประเทศที่เข้าร่วม และนักเดินทางสามารถขับรถจากบูดาเปสต์ไปปารีส หรือจากเบอร์ลินไปมาดริดได้อย่างสบาย ๆ นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การข้ามแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถานเป็นเรื่องไม่ธรรมดาเหมือนการข้ามแดนระหว่างประเทศอื่น ๆ การขับรถจากอินเดียไปปากีสถานเป็นเรื่องทีเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับนักท่องเที่ยว แต่อย่างน้อยยังสามารถเดินข้ามแดนที่ด่าน Attari – Wagah ได้
Grand Trunk Road ตัดผ่านหัวเมืองสำคัญของจักรวรรดิโมกุล ได้แก่ ละฮอร์ เดลี และอักรา
มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาข้างต้นในกรอบบิมสเทคที่มีสมาชิก ๗ ประเทศ คือ ไทย เมียนมา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน เนปาล และศรีลังกา โดยไทยเป็นผู้ประสานงานด้านความเชื่อมโยง และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างความตกลง BIMSTEC Motor Vehicles Agreement for the Regulation of Passenger, Personal and Cargo Vehicular Traffic ซึ่งจะทำให้การขับรถและขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างประเทศสมาชิกสะดวกขึ้นมาก และจะทำให้ GT Road ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง อย่างน้อยก็ระหว่างบังกลาเทศกับอินเดีย
รวมทั้งอาจเชื่อมโยงกับเส้นทางอื่น ๆ เช่น โครงการถนนสามฝ่ายไทย - เมียนมา - อินเดีย ซึ่งจะส่งผลให้การสัญจรทางบกจาก GT Road ไปรัฐอัสสัมในอินเดีย ผ่านเมียนมา แล้วเข้าไทยทางด่านแม่สอดเป็นเรื่องที่ทำได้สะดวกสบายเช่นเดียวกับที่อุตรบถเคยทำหน้าที่นี้มาแล้วสมัยอาณาจักรเมารยะ
นายพนม ทองประยูร
อัครราชทูตที่ปรึกษา
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงธากา
โฆษณา