24 เม.ย. 2023 เวลา 08:00 • อสังหาริมทรัพย์

ปิดฉาก 'ตึกหุ่นยนต์' กับวิบากกรรม 'สถาปัตยกรรมโมเดิร์น' ที่มักไม่ได้ไปต่อ!

เมื่อ "ตึกหุ่นยนต์" ในแบบที่คุ้นตาบนถนนสาทรกำลังจะหายไป สะท้อนวิบากกรรม "สถาปัตยกรรมโมเดิร์น" ตึกกลางเก่ากลางใหม่ ไม่สวยทันสมัย แล้วก็ไม่เก่าร้อยปีที่ต้องอนุรักษ์ จนตึกยุคโมเดิร์นที่เคยมีจำนวนมากลดน้อยลงทุกที
ข่าวการรื้อเพื่อรีโนเวท “ตึกหุ่นยนต์” หรือ Robot Building ถนนสาทร ที่ดูเหมือนจะส่งเสียงดังแบบเงียบๆ ในวงจำกัด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ นี่ไม่ใช่การ “ทุบทั้งหมด” แต่เป็นการปรับดีไซน์บางส่วนใหม่
1
แต่ดีไซน์ใหม่ “ในบางส่วน” ที่ว่านั้น กลับเป็นประเด็นสำคัญในมุมมองนักออกแบบรวมถึงกลุ่มคนที่ชื่นชอบ “สถาปัตยกรรมโมเดิร์น” เมื่อได้เห็นภาพ “น็อตยักษ์” อันเป็นส่วนหนึ่งในเอกลักษณ์ของตึก และเป็น "หน้าต่าง" ที่ไม่เหมือนใคร ถูกถอดออกมากอง จนอดหวั่นใจไม่ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงภายนอกว่า อาจจะมากถึงขั้น "ปิดฉากตึกหุ่นยนต์" ในแบบที่เราคุ้นตากันดีเลยก็เป็นได้
1
รวมถึงมีข่าวว่า ดีไซน์ใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ จะเปลี่ยนโฉมด้านข้างตึกที่เคยปูนให้เป็นกระจกทั้งหมด จนอาจไม่เหลือเค้าของความเป็นหุ่นยนต์อย่างเดิม!
1
เสียงคัดค้านจึงเกิดขึ้น ทั้งโดย “ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา” สถาปนิกผู้ออกแบบตึกหุ่นยนต์ ที่ได้เขียนจดหมายส่งถึงธนาคารยูโอบีสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ เพื่อขอให้ทบทวนการรีโนเวทใหม่ โดยเฉพาะการรื้อ "ภายนอกอาคาร" จนอาจเสียเค้าโครงงานออกแบบเดิม
1
"ผมติดต่อไป เขาบอกว่า เขาก็ภูมิใจตึกนี้เหมือนกัน และจะสร้างตึกหุ่นยนต์เล็กๆ วางตั้งโชว์ที่ล็อบบี้ข้างล่าง​ เป็นการล้อเลียนแบบ โห..ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า add salt to injury เจ็บใจอยู่แล้ว ยังมาทำให้เจ็บแสบอีก”
1
เป็นใจความตอนหนึ่งที่ ดร.สุเมธ ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ suthichai live สัมภาษณ์โดย สุทธิชัย หยุ่น เมื่อ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา
ก่อนจะมาเป็น "ตึกหุ่นยนต์"
สำหรับประวัติของตึกหุ่นยนต์ (Robot Building) เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคารเอเซีย แต่ภายหลังถูกขายต่อ และเป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารยูโอบี (ประเทศไทย) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548–2565 มีความสูง 20 ชั้น ตั้งอยู่ที่ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร อาคารออกแบบโดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย) ตึกก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529
1
ที่มาที่ไปของดีไซน์กว่าเป็นตึกหน้าตาน่าเอ็นดูอย่างที่เห็นนั้น ดร.สุเมธ เล่าผ่านในหลายๆ บทสัมภาษณ์ว่า เพราะต้องการสื่อถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคาร ขณะเดียวกันก็นึกถึงศัพท์คำว่า user friendly ว่า ธนาคารเอเชียควรมีภาพลักษณ์แบบ user friendly ประกอบกับอนาคต(จากมุมมองเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว) เครื่องยนต์และหุ่นยนต์จะเป็นองค์ประกอบของชีวิตมนุษย์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา จึงเป็นแนวคิดที่มาของตึกหุ่นยนต์
1
อย่างไรก็ตาม ในฐานะ “เพื่อนกัน” เมื่อ ยศ เอื้อชูเกียรติ มอบหมายงานมาให้ “ดร.สุเมธ" ทำการออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารเอเชีย จึงค่อนข้างให้อิสระทางความคิดโดยส่วนใหญ่ แต่ก็มีที่ "ไอเดียถูกปัดตก" ไปเหมือนกัน!
“ตอนที่ออกแบบเสร็จใหม่ๆ ที่โถงทางเข้า เราก็เสนอให้สร้างหุ่นยนต์ 2 ตัว พอลูกค้าเข้ามา หุ่นยนต์ก็จะมาทักทายลูกค้าและนำลูกค้าเดินไปหาเจ้าหน้าที่ที่ประสงค์จะพบ โดยควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลที่หลังเคาน์เตอร์
1
ตอนนั้นออกแบบหุ่นยนต์ดังกล่าวไปแล้ว และคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังบอกว่าทำได้ในราคา 300,000 กว่าบาท ในสมัยนั้นก็แพงเอาการอยู่ พอผมนำไปเสนอกับเจ้าของอาคาร เขาก็บอกว่า ‘แค่นี้ก็บ้าพอแล้ว’ ก็เลยจบกัน”
หรืออีกหนึ่งไอเดียที่ถูกปัดตก คือ..
“ในระหว่างการก่อสร้าง ก่อนที่จะถึงส่วนยอดของอาคาร ผมได้เสนอเจ้าของให้เพิ่มงบประมาณอีกเล็กน้อยเพื่อให้ส่วนหัวของตึกหุ่นยนต์ค่อยๆ หมุนกลับไป-มาได้ ในทางก่อสร้างนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ยาก ตอนนั้น อาคารที่มีร้านอาหารบนชั้นหลังคาซึ่งหมุนได้รอบมีเยอะแยะไป เขาก็บอกกลับมาเช่นเดิมว่า ‘พอแล้ว ไม่เอาแล้ว แค่นี้ก็บ้าพอแล้ว’ ก็เลยจบไปอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย” ดร.สุเมธ เล่าไว้ในวารสาร ASA journal
และบอกว่า ในตอนนั้น เขาได้เขียนจดหมายถึง Guinness Book of World Records เพื่อขอเคลมว่า อาคารนี้เป็นหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
“เขาก็ตอบผมว่าเขาได้ตั้งไฟล์สำหรับอาคารหลังนี้ไว้แล้ว แต่ก็เสียใจที่ไม่สามารถทำเรื่องให้ได้ เนื่องจากว่าตัวอาคารไม่ได้ขยับ ถ้ามีการขยับเขยื้อนแม้เพียงนิดเดียว เขาก็จะลงบันทึกให้ได้เลย ทำให้ผมนึกเสียดายแทนเจ้าของที่ว่า ถ้าเจ้าของยอมนะ เมืองไทยก็ได้รับชื่อเสียงในส่วนนี้ด้วย”
อ่านต่อ:
โฆษณา