24 เม.ย. 2023 เวลา 14:59 • ไลฟ์สไตล์

- จุดพักรถ vs จุดพักชีวิต -

‘จุดพักรถ’ คือสถานที่ที่ผู้ใช้ทางด่วนสามารถหยุดพักรถชั่วคราวเพื่อพักผ่อนหลังจากเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกล ได้แวะเข้าห้องน้ำเพื่อทำธุระที่จำเป็น ล้างหน้าล้างตาเพิ่มความสดชื่น ซื้อเครื่องดื่มของกินเล่น หรือแม้กระทั่งเติมน้ำมัน ในระหว่างทริปการเดินทางเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ยังอยู่อีกไกล... แล้ว ‘จุดพักชีวิต’ นั้นมีความสำคัญกับชีวิตคนเรามากน้อยเพียงใด
ท่านที่เคยได้มีโอกาสใช้งานระบบทางด่วนในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเที่ยวเองหรือใช้บริการรถบัสขนส่งจากสนามบินหรือเชื่อมระหว่างจังหวัด น่าจะเคยมีประสบการณ์ได้แวะเยี่ยมใช้บริการจุดพักรถ (Parking Area: PA) หรือจุดให้บริการ (Service Area: SA) ซึ่งมีกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศประมาณ 850 แห่ง จุดพักรถเหล่านี้อาจจะดูเหมือนเป็นส่วนเล็กๆ ของระบบทางด่วนที่ยาวรวมทั้งหมดมากกว่า 10,000 กิโลเมตร แต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยสำหรับ ‘ความปลอดภัยทางชีวิต’ ของผู้ขับขี่และเพื่อนร่วมเดินทาง
ในอดีตนั้นวัตถุประสงค์หลักของจุดพักรถคือต้องการให้ผู้ขับขี่ได้หยุดพักชั่วคราวเพื่อทำธุระที่จำเป็น ดังนั้นจึงเน้นให้มีพื้นที่จอดรถและห้องน้ำให้บริการเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นในเขตในเมืองใหญ่ที่สภาพการจราจรค่อนข้างหนาแน่นและมีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ก็จะมีจุดพักรถที่ค่อนข้างถี่และมากกว่าทางด่วนเชื่อมระหว่างจังหวัด หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ต้องทุกข์ทรมานอยากเข้าห้องน้ำเวลารถติดหนึบไม่ขยับบนทางด่วนในบ้านเรา จนบางครั้งการจอดรถทิ้งแล้วลงเดินอาจจะไปถึงจุดหมายเร็วกว่า...
ในปัจจุบันรูปแบบของจุดพักรถในทางด่วนญี่ปุ่นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปค่อนข้างมาก จากที่เคยเป็นเพียงแค่ ‘จุดผ่าน’ เพื่อหยุดพักรถชั่วคราวและทำธุระที่จำเป็น ก็สามารถผันกลายมาเป็น ‘จุดหมาย’ ของการเดินทางได้
ถึงแม้จุดพักรถหรือจุดให้บริการ (PA/SA) บางแห่งนั้นจะมีอองเซนน้ำร้อนให้แช่ดูวิวธรรมชาติสวยๆ (Kariya SA) มีชิงช้าสวรรค์ให้นั่งพร้อมชมวิวภูเขาไฟฟูจิ (Fujikawa SA) เป็นพื้นที่เกาะเทียมโผล่กลางอ่าวโตเกียว (Umihotaru PA) หรือแม้กระทั่งมีสวนสาธารณะและอุปกรณ์ของเด็กเล่นพิเศษเพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่อยู่อาศัยโดยรอบสามารถเข้ามาใช้งานได้ (Kawaguchi PA: Highway Oasis) แต่วัตถุประสงค์หลักของจุดพักรถเหล่านั้นก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
Kariya SA
Fujikawa SA
Umihotaru PA
Kawaguchi PA
หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนไม่ว่าจะในบ้านเราหรือญี่ปุ่นก็คือ ‘การหลับใน’ ซึ่งเกิดจากความเหนื่อยล้าที่ผ่านการขับขี่ที่นานเกินไป จนทำให้ร่างกายและสมองไม่สามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นข้างหน้า เช่น รถเปลี่ยนเลนกะทันหัน รถเสียจอดไหล่ทาง มีของหล่นบนทาง เป็นต้น
พนักงานขับรถบรรทุกขนส่งของระยะทางไกลในญี่ปุ่นจึงมีกฎระเบียบข้อบังคับว่าต้องมีการพักอย่างน้อย 10 นาทีในทุกๆ 2 ชั่วโมงของการขับขี่ หรือท่านที่เคยเช่ารถขับขี่ในญี่ปุ่นน่าจะเคยได้ยินข้อความแจ้งเตือนอัตโนมัติจาก Navigator ในรถว่าควร ‘หยุดพัก’ หลังจากที่ได้ขับขี่มาเกิน 2 ชั่วโมงแล้ว
‘เหนื่อยนักก็พักก่อน’ เป็นคำที่ผมเคยได้ยินมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำคมของนักปราชญ์ในอดีต บทความของนักเขียนที่มีชื่อเสียง บทเพลงของศิลปินแนวเพื่อชีวิต ในตอนแรกก็เข้าใจความหมายเพียงตื้นๆ ว่าถ้าร่างกายเรารู้สึกเหนื่อยควรหยุดพักผ่อนเพื่อรื้อฟื้นพลังกายให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม แต่ถ้าเป็นเรื่อง ‘พลังใจ’ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้นั้น เราจะสามารถหยุดพักอย่างไรดี
หัวหน้าที่เคารพของผมในที่ทำงานเก่าป่วยกะทันหันเป็นโรคซึมเศร้าแบบเฉียบพลันและต้องหยุดพักงานไปเกือบ 3 เดือนเต็ม สาเหตุของโรคร้ายที่แท้จริงนั้นไม่มีใครทราบชัดเจน แต่คนรอบข้างที่ได้มีโอกาสร่วมงานอย่างใกล้ชิดทุกคนคิดเหมือนกันว่า คงเป็นเพราะความเครียดและความกดดันในการทำงานชิ้นใหญ่สำคัญซึ่งเค้าไม่เคยทำมาก่อน รวมถึงภาระทางครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปโดยมีสมาชิกเจ้าตัวเล็กฝาแฝดเพิ่มขึ้นมา... ในขณะที่พี่เค้าต้องกลับบ้านดึกรถไฟเที่ยวสุดท้ายเกือบทุกวัน
หรือเหตุการณ์หัวหน้าที่เคารพอีกท่านได้ปลิดชีพตัวเองในห้องน้ำบริษัท หลังจากที่ถูกย้ายมาหน่วยงานใหม่ซึ่งไม่ถนัดและเจ้าตัวก็เป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว คำถามที่ตามมาหลังจากเหตุการณ์นี้คือใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ HR ที่โยกย้ายเค้าทั้งที่สภาพจิตใจไม่พร้อมที่จะทำงานในตำแหน่งใหม่
หรือตัวเค้าเองที่ไม่บอกให้สังคมรอบข้างได้รับรู้ว่า ‘เหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ’ จนไม่สามารถรับอะไรได้อีกแล้ว.. คล้ายๆ กับผู้ขับขี่ที่เหนื่อยล้าจากการเดินทางที่ยาวนานเกิน 2 ชั่วโมง และต้องการเพียงแค่ได้ ‘หยุดพักรถ’ เพื่อต่อเวลาชีวิต
การได้มีเวลาพักผ่อนเพื่อพักฟื้นร่างกายและจิตใจจากการใช้พลังชีวิตในแต่ละวันที่แสนจะเหน็ดเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การงาน เงินทอง สุขภาพ เพื่อน ครอบครัว ความรัก ฯลฯ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าคนเราไม่ใช่หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
“Life is not measured by the number of breaths we take, but by the moments that take our breath away” Maya Angelo
คำว่า ‘จุดพักชีวิต’ นั้นจริงๆ แล้วก็ไม่น่าจะต่างจาก ‘จุดพักรถ’ ถ้าเริ่มรู้สึกและรับรู้ทางกายและใจว่าเหนื่อยล้า ก็ควรจะหยุดพักและมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการได้ไตร่ตรองถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมาว่าทำไมเราถึงรู้สึกเหนื่อยล้ากับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งในบางครั้งจุดพักชีวิตอาจจะผันตัวเองให้กลายเป็นจุดพักรถที่ไม่ธรรมดาได้ เช่น ทำให้เราได้เข้าใจว่าอะไรที่สำคัญกับชีวิตเราผ่านเหตุการณ์ ผิดพลาดในอดีต หรือสิ่งที่เราเผลอให้ความสำคัญทั้งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตเรา
EP035
Kenko2022
2023/04/24
โฆษณา