25 เม.ย. 2023 เวลา 11:52 • ความคิดเห็น

ร้อนจะตายอยู่แล้ว (โว้ย)

มีนาเมษาที่ผ่านมาทุกคนคงรู้สึกถึงความร้อนของอุณหภูมิที่รู้สึกได้ถึงความผิดปกติเป็นอย่างมาก ทั้งเริ่มร้อนเร็วกว่าปกติ มีทั้งข่าวการเสียชีวิตเพราะ Heatstroke. ไฟป่า เดินออกไปนอกบ้าน นอกตึกทีก็แทบผงะด้วยคลื่นความร้อน และพอร้อนมากๆ ก็นำมาถึงเสียงก่นด่าเรื่องค่าไฟแพงตามมาตามที่เห็นในข่าว
ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้นโดยสถิติ USA today ถึงกับพาดหัวว่าเป็น Monster Heatwave Like None Before เพราะอุณหภูมิที่ตรวจจับได้นั้นสูงเป็นประวัติการณ์ให้หลายพื้นที่ของเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เรื่องคลื่นความร้อนรุนแรงเดี๋ยวก็คงจบๆ ไปเมื่อฝนเริ่มมา เราคงไม่ได้คิดอะไรกันไปไกลๆ นัก เรื่องวิกฤตโลกร้อนก็ดูไกลตัวเสียเหลือเกิน นโยบายพรรคต่างๆที่ปักอยู่ตามท้องถนนก็ไม่มีใครพูดเรื่องนี้ สะท้อนถึงความไม่สนใจ
ผมเคยเขียนเรื่องนี้อยู่ครั้งหนึ่งก็ไม่ค่อยมีใครแชร์ แต่ในช่วงหลังๆ ผมได้ยินได้ฟังและได้อ่านจากคนที่รู้เรื่องนี้มาพอสมควร และเมื่อมาเจอกับคลื่นความร้อนรุนแรงในสองเดือนที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องยืนยันถึงหายนะที่อยู่ใกล้ตัวมากๆกว่าที่เราคิดมากได้เป็นอย่างดี
1. ในวงการนักวิทยาศาสตร์ที่ตื่นตระหนกในเรื่องโลกร้อนนั้นมีค่าสำคัญอยู่สองค่า ก็คืออุณหภูมิที่สูงขึ้นโดยวัดจากอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม
ค่าแรกคือสูงขึ้นแตะ 1.5 องศา
ส่วนค่าที่สองคือ 2 องศา
ในระดับที่สององศานั้นจะถึงระดับภัยพิบัติล้างเผ่าพันธุ์ มนุษย์จะแทบอยู่ไม่ได้ด้วยพิบัติภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นมา ที่ 1.5 องศาก็เลวร้ายในระดับที่เกิดทุพภิกขภัยและพิบัติภัยอยู่มากแล้ว และเมื่อแตะ 1.5 นักวิทยาศาสตร์ที่รวมตัวกันศึกษาก็บอกว่ามันจะย้อนกลับไปเหมือนเดิมไม่ได้อีก (Irreversible)
2. เหล่าผู้นำประเทศหลักๆของโลกก็เลยมีการตกลงที่เรียกว่า Paris Agreement โดยพยายามจะหยุดยั้งหายนะภัยครั้งนี้ก่อนสายเกินแก้ โดยพยายามไม่ให้โลกร้อนไปถึงสององศา และพยายามจะคุมให้อยู่ไม่เกิน 1.5 องศาและต้องลดลงภายในปี 2030 เขาประชุมกันตอนปี 2020 และมีมาตรการกันออกมามากมายในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เป็นต้นเหตุหลักอย่างเข้มข้น โดยตกลงว่าจะมีรายงานวัดผลกันออกมาทุกๆ 3-5 ปี
3. รายงานล่าสุดออกมาเมื่อเดือนก่อนตอนที่ผมไปอังกฤษ หนังสือพิมพ์ลงกันทุกฉบับ (เมืองไทยไม่มีข่าวใดๆ) ว่านักวิทยาศาสตร์หัวกะทิออกมาบอกว่าเป็น Final Warning เพราะโลกร้อนไปแตะ 1.2 องศาแล้ว และน่าจะถึง 1.5 องศาก่อนปี 2030 แน่ๆ
มาตรการอะไรที่ออกมานั้นไม่เพียงพอและหยุดการเพิ่มของอุณหภูมิไม่อยู่ ต้องทำอะไรที่เข้มข้นและรุนแรงมากๆเท่านั้นถึงจะพอมีหวังได้ การประชุม COP ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่หาทางหยุดยั้งเรื่องนี้จะมีครั้งต่อไปที่ดูไปปลายปี บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ทั้งหลายก็บอกว่าจะหวังพึ่งเอกชนก็ไม่มีทางทัน รัฐเท่านั้นที่จะหยุดยั้งการปล่อยคาร์บอนได้แต่ต้องใช้มาตรการที่โหดมากๆเท่านั้น
4. เมื่ออุณหภูมิโลกแตะ 1.5 องศาจะเกิดอะไรขึ้นนอกจากเรื่องไกลตัวเราอย่างหิมะละลาย ปะการังจะตายเกือบหมด เราจะเจอคลื่นความร้อนที่หนักกว่าที่เราเจอเมื่อสองเดือนที่แล้ว เกาะหลายเกาะจะจมน้ำหายไป ไฟป่าจะเกิดขึ้นบ่อยมากกว่าเดิมมาก
1
น้ำจะท่วมหลายพื้นที่และแล้งหนักอีกหลายพื้นที่ สัตว์จะสูญพันธ์หลายชนิด และที่น่าสนใจก็คือ ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้นอยู่แถวเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยเราจะได้รับผลกระทบอันดับ 9 ของโลก!
5. ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็จะหนักไม่แพ้กัน ส่วนแรกเกิดจากตัวผลกระทบจาก Climate Change ที่ทำให้ราคาอาหาร ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะเพิ่มสูงขึ้นมาก จากหลัก Demand Supply GDP จะลบไปเป็นสิบจุดจากการประเมิน
จะเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพงแน่ๆ ส่วนที่สองที่จะกระทบไทยหนักมากแน่ๆคือเรื่องการส่งออกที่จะถูกบีบจากมาตรการ “หนีตาย” ที่เข้มข้นจากฝั่งยุโรปอเมริกาที่จะทำให้ผู้ส่งออกที่มีมาร์จิ้นต่ำไม่มีทางออกเพราะจะไปปรับ Decarbonize Process ก็ต้นทุนสูงเกิน
1
จะไปซื้อเอาเครดิตมาชดเชยก็ไม่พอ หลายอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูงต้องเจ๊งไปเพื่อต้องรักษาโลกไว้ และผลกระทบก็จะเกิดจาก Supple ที่หายไปจนราคาขึ้นอย่างมากเป็นต้นทุนต่อเนื่อง ลองจับตาอุตสาหกรรมเหล็กไว้ให้ดีเป็นต้น
1
6. นี่เราพูดกันอีกไม่กี่ปีจากนี้นะครับ อาจจะแค่ 3-5 ปีเท่านั้น! มันใกล้ตัวและเร็วกว่าที่คิดมากเลยนะครับ ในช่วงชีวิตของผมเป็นช่วงที่ไม่มีสงคราม ไม่มีภัยพิบัติอะไรร้ายแรง สภาพเศรษฐกิจก็เติบโตมากบ้างน้อยบ้าง เป็นช่วงที่สงบนิ่งจนจินตนาการไม่ออกว่าเวลามีเหตุร้ายแรงระดับนี้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง หลายคนก็คงเป็นเหมือนผมเช่นกัน
1
7. แล้วจะทำอะไรกันทันในมุมธุรกิจกันบ้าง ธุรกิจที่พอรู้ตัวว่าจะได้รับผลกระทบก็เริ่มตกใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีบริการให้คำปรึกษา การเริ่มมีการจัดทำเรื่องบัญชี เรื่องตลาดค้าคาร์บอน อยู่ประปรายและช้าๆ แต่ไม่มีทางที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงได้ทัน
การทำ Decarbonized Process นั้นใช้ทั้งเวลาและเงินทุน ส่วนการเพิ่ม Supply ที่ช่วยเรื่องคาร์บอนที่ชัดเจนที่สุดคือการปลูกป่าโดยเฉพาะป่าโกงกางแต่ก็ใช้เวลา 3-4 ปีกว่าจะเริ่มมีผล ซึ่งก็มีผู้เริ่มทำแล้วและกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็เริ่มมีโมเดลทางธุรกิจออกมากันบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้มากมายอะไร แต่ไม่รู้ก็ต้องรู้ ไม่เริ่มก็ต้องเริ่มแล้ว และเรื่องนี้น่าจะเป็นเมกะเทรนด์ที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจเร็วๆนี้
8. ในส่วนผู้บริโภคนั้นไม่ได้มีใครสนใจอะไรมากนักเพราะมันไกลตัวมากๆ แม้กระทั่งรู้ข้อมูลก็ยังนึกกันไม่ออก เพราะไทยเองปล่อยคาร์บอนเป็นแค่ 0.8% ของโลกเท่านั้น ต่อให้เราแก้ของเราได้หมดก็โดนผลกระทบอยู่ดี เรื่องน่าขันขื่นของโลกนี้ก็คือคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ หมู่เกาะที่จะจมหายไปโดยที่ชาวเกาะเองแทบไม่ได้ปล่อยคาร์บอนอะไรกับเขาเลย
ไทยที่ได้รับผลกระทบอันดับ 9 ก็ปล่อยแค่ 0.8% ของโลกเท่านั้น เรื่องนี้เป็น Collective Effort ที่ต้องเป็นเจ้าของร่วมกันทั้งโลกจริงๆ และก็เหมือนงานอื่นๆที่พอทุกคนต้องร่วมก็เลยไม่ค่อยมีใครเป็นหัวแรงใหญ่ผลักดันอย่างจริงจังพอ
9. บทความนี้จะมารณรงค์ให้ช่วยกันคนละไม้คนละมือก็คงโลกสวยเกินไป ผมไม่ได้มีทางออกอะไรมานำเสนอ แต่แค่อยากจะเผยแพร่ความตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นที่เร็วและแรงกว่าที่เราคิด และครั้งนี้เป็นมหันตภัยระดับที่กระทบทั้งสภาพความเป็นอยู่ธุรกิจ และลูกหลานของเราอย่างน่าสะพรึงกลัว
ใครมีข้อมูลที่รู้ลึกและรู้จริงกว่านี้มาช่วยกันแชร์และเล่าสู่กันฟังก็จะช่วยให้เราเริ่มต้นคิดถึงมหันตภัยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังได้แล้วล่ะครับ
ไม่งั้นที่เราพูดว่าร้อนจะตายอยู่แล้ว (โว้ย) นั้น มันจะกลายเป็นจริงขึ้นมาในอีกสามปีห้าปีนี้แล้วนะครับ
1
โฆษณา