30 เม.ย. 2023 เวลา 09:00 • บันเทิง

ถึงเวลาออกกฎ ควบคุม AI Music แล้วหรือยัง?

AI แต่งเพลงเลียนเสียง Drake และ The Weeknd ได้เหมือนเปี๊ยบ จุดชนวนให้คนในวงการดนตรี ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ค่ายเพลง แพลทฟอร์มสตรีมมิงดนตรี ฯลฯ หันหน้ามาคุยกันถึงทิศทางของ AI Music ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นการทำร้ายศิลปิน
[บทความโดย: ทัศนีย์ สาลีโภชน์]
การใช้ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ทำเพลง กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในวงการดนตรี
โดยเฉพาะการทำเพลง Heart On My Sleeve ด้วยการเลียนเสียงนักร้องชื่อดังระดับโลกอย่าง เดรก (Drake) และ เดอะวีกเอนด์ (The Weeknd) ออกมาได้แนบเนียนเสียจนคนพากันคิดว่า เจ้าตัวเป็นคนร้องเพลงนั้นเองจริง ๆ
1
ความเหมือนจนแยกไม่ออกนี่แหละที่กลายมาเป็น “จุดแตกหัก” ให้เกิดการฟ้องร้องตามมา พร้อม “จุดชนวน” ให้คนในวงการดนตรีหันหน้ามาคุยกันอย่างจริงจัง ถึงการนำ AI มาใช้สร้างงานศิลปะว่า มันมีข้อดี ข้อเสียอย่างไรบ้าง
1
เริ่มจากต้นสังกัดของ The Weeknd อย่าง Universal Music Group (UMG) ที่ยื่นเรื่องให้แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ ถอดเพลงดังกล่าวออก พร้อมฟ้องร้องเก็บค่าลิขสิทธิ์จากคนที่ใช้ AI ทำเพลงเลียนแบบศิลปินของตัวเอง จนทำให้เพลงดังกล่าวถูกถอดออกจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลงหลายเจ้า
1
แต่ว่าเพลงดังกล่าวยังค้างอยู่บน Spotify นับถึงวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา จนกระทั่ง UMG ผู้ดูแลสัญญาให้ Drake ออกแถลงการณ์มีใจความว่า “แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ มีความรับผิดชอบทางกฎหมาย และทางศีลรรมที่จะต้องป้องกันการนำบริการของตนเองไปใช้ในทางที่จะเป็นอันตรายต่อตัวศิลปิน”
ทาง Spotify ถึงยอมถอดเพลงดังกล่าวออก ตามมาด้วยการชี้แจงของซีอีโอว่า กำลังทำงานร่วมกับค่ายเพลงต่าง ๆ เพื่อควบคุมการใช้ AI แต่ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำว่า จะต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาควบคู่ไปกับการปกป้องศิลปิน
“นี่เป็นประเด็นที่ซับซ้อนมาก ซึ่งไม่มีคำตอบที่ตรงไปตรงมาเพียงอย่างเดียว” Daniel Ek ซีอีโอของ Spotify กล่าว
ทั้งนี้ การจะใช้ AI สร้างเพลงเลียนแบบนักร้องขึ้นมาได้นั้น จะต้องมีการป้อนเพลงของศิลปินคนดังกล่าวให้เอไอฟังไปเรื่อย ๆ จนสามารถเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ออกมาได้หมด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ค่ายเพลงอาศัยตรงนี้ยื่นฟ้องเรียกเก็บลิขสิทธิ์จากการนำเพลงของศิลปินตัวเองไปใช้
แต่ทว่า เรื่องนี้ยังต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาล และมีคำตัดสินออกมาเสียก่อน จึงทำให้การผลิต AI Music เลียนแบบเสียงของศิลปินยังคงกลายเป็น ‘เรื่องเทา ๆ’ ในทางกฎหมาย
อย่างกรณีเพลง Heart On My Sleeve นั้น The Verge รายงานว่า ยูนิเวอร์แซลขอให้ถอดออกจาก YouTube ได้ก็เพราะว่ามีการนำแซมเปิ้ลเพลงของโปรดิวเซอร์ที่ชื่อ Metro Boomin ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วแซมเปิ้ลดังกล่าวได้รับการคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ จึงถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
แต่ในขณะเดียวกัน ทางค่ายยังไม่สามารถอ้างได้ว่าเพลง Heart On My Sleeve ละเมิดลิขสิทธิ์ของ Drake กับ The Weeknd ได้ (ต้องรอฟังคำตัดสินของศาลก่อน) เพราะมันเป็นเพลงต้นฉบับ (original compositon) ที่แต่งออกมาโดยไม่ได้นำส่วนหนึ่งส่วนใดจากเพลงของศิลปินทั้งคู่มาใช้เลย
เท่านั้นไม่พอ กรมทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ เพิ่งตัดสินไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เองว่า งานศิลปะที่ผลิตขึ้นโดย AI (ในที่นี้รวมถึงเพลงด้วย) ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ เพราะว่ามันไม่ใช่ “ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์”
1
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่างานศิลปะที่ ‘มนุษย์ใช้ AI สร้างขึ้น’ สามารถจดลิขสิทธิ์ได้หรือไม่
แล้วมีคนเห็นด้วยกับการใช้เสียงของตัวเองไปทำ AI music ขึ้นมาหรือไม่?
1
คำตอบคือมี เช่น Grimes นักร้องนักแต่งเพลงชาวแคนาดา ที่หลังจากเกิดวิวาทะเรื่องการใช้เสียงของ Drake กับ The Weeknd ไปทำเพลง AI ขึ้น เธอก็ออกมาประกาศว่ายินดีให้คนนำเสียงของเธอไปให้ AI โคลนเป็นเพลงออกมา แต่แลกกับการขอเก็บค่าลิขสิทธิ์ครึ่งต่อครึ่ง
“มันเป็นสัญญาแบบเดียวที่ฉันทำกับศิลปินที่ฉันไป collab ด้วยน่ะแหละ”
ฟังจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วคงพอจะเห็นภาพขึ้นมาแล้วว่าเรื่องของ AI music และ AI art นั้นมีความสลับซับซ้อน ต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างมาประกอบการพิจารณาจริงๆ
แต่อย่างน้อยก็นับเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ตอนนี้คนในวงการศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาพยนตร์ ภาพวาด เริ่มหันหน้ามาหาทางออกร่วมกันแล้ว
โฆษณา