30 เม.ย. 2023 เวลา 11:15 • การเมือง

รัฐสวัสดิการ สิ่งที่คนใฝ่ฝัน กับความเป็นจริงวันนี้

เวลาพูดถึงรัฐสวัสดิการ คนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับข้อดีเรื่องการช่วยเหลือคนเพื่อเพิ่มความเท่าเทียมในสังคม เช่น การให้เงินเดือนผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก การสนับสนุนด้านการเงินแก่คนตกงาน คนไร้บ้าน คนด้อยโอกาสทั้งหลาย ซึ่งในทางทฤษฎี ก็ดูดีมากกับคนเหล่านั้น จนทำให้มีคำกล่าวว่า "รัฐสวัสดิการสร้างขึ้นเพื่อความช่วยเหลือคนว่างงาน แต่ในทางตรงกันข้าม ก็อาจมีคนมองได้ว่า การมีรัฐสวัสดิการก็อาจทำให้คนอยากว่างงานเพิ่มขึ้น" (อ้างอิง เฟซบุ๊ค อ. สมเกียรติ โอสถสภา, 30 เม.ย. 2566)
รัฐสวัสดิการถูกคิดค้นขึ้นมาในยุคที่มีสมมติฐานว่าประชากรที่เกษียณอายุแล้วจะมีอายุไม่ยืนยาวมากนัก และจะมีประชากรใหม่ทั้งเกิดและย้ายเข้าเพิ่มขึ้นในทุกๆปี
กล่าวคือมีวัยแรงงานที่สร้างเงินให้กับประเทศได้มากกว่าคนที่ต้องการเงินจากรัฐ ซึ่งในอดีตหลายประเทศมีอัตราส่วนคนทำงานต่อผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี มากถึง 4:1 จึงทำให้ไม่ใช่ปัญหาในการหาเงินมาเลี้ยง
แต่แนวโน้มของอัตราส่วนนี้กลับลดลงจนเหลือประมาณ 2:1 หรืออาจน้อยกว่านั้นในอนาคต (อ้างอิง László Vértesy, Sustainability Challenges of the European Society and Higher Education, 2016) เนื่องจากผู้สูงอายุมีอายุยืนขึ้น คนที่ไม่ทำงานเพราะหวังจะให้รัฐเลี้ยงก็มีเพิ่มขึ้น และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือคนนิยมมีลูกลดลงหรือไม่มีเลย ทำให้อัตราส่วนที่ควรจะเป็น มันเป็นไม่ได้แล้วในปัจจุบัน หลายประเทศในยุโรปก็มีทางแก้ที่แตกต่างกันออกไป
บางประเทศที่มีอุตสาหกรรมเยอะ ก็ออกวีซ่ารับคนทำงานจากนอกประเทศให้เข้ามาร่วมลงเรือลำนี้ที่อาจกำลังจะจม เพื่อช่วยกันวิดน้ำออกไม่ให้มันจม แต่การแก้ปัญหานี้ก็นำมาซึ่งปัญหาใหม่ เช่น การสร้างเดือดร้อนให้ผู้อยู่อาศัยเดิม เพราะบางพื้นที่มีผู้อพยพเข้ามาใหม่มากกว่าคนที่อยู่มาก่อน ทำให้คนที่อยู่มาก่อนได้รับความเดือดร้อนจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
บางประเทศก็ขยายอายุการเกษียณ จาก 60 (ตอนนี้แทบไม่มีแล้วในยุโรป) เป็น 62, 64 หรือ 67 ปี จนถึงขั้นมีการพยากรณ์กันว่าในอนาคตบางประเทศคงต้องเกษียณที่อายุ 74 ปี (อ้างอิง The 2021 Ageing Report, Economic&Budgetary Projection for the EU Member States(2019-2070), Institutional paper 148, 2021) นี่ก็นำมาสู่ปัญหาใหม่เช่นกัน หากนึกภาพไม่ออก ลองดูการประท้วงที่ฝรั่งเศษที่จะเกิดในวันที่ 1 พ.ค. 2566 นี้
บางประเทศก็กำลังศึกษาว่าจะทำยังไงให้เด็กใช้เวลาเรียนลดลง รับเข้าทำงานเร็วขึ้น เพื่อจะได้เริ่มเก็บภาษีได้เร็วขึ้น หรือมีโปรโมชั่น ส่งเสริมให้คนมีบุตรเพิ่ม เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งกราฟอาจกลับหัวอีกรอบมาอยู่ในโหมดที่ควรจะเป็น แต่ก็เช่นเดียวกับหลายข้อเสนอด้านบน ทางออกนี้ก็มีความเสี่ยง เพราะไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าเด็กในวันนั้น จะมาเป็นแรงงานในอนาคตได้หรือเปล่า จะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นหรือไม่
และแน่นอน หนึ่งในทางออกที่ไม่มีรัฐบาลไหนอยากเสนอ ก็คือการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากใครนำเสนอประเด็นนี้ ก็คงหนีไม่พ้นความเสี่ยงว่าคงจะไม่ได้เป็นรัฐบาลต่อ เพราะภาษีและค่าจิปาถะต่างๆที่ต้องจ่ายให้รัฐทุกวันนี้ในประเทศรัฐสวัสดิการ บางคนอาจจ่ายเกินกึ่งหนึ่งของเงินที่ได้รับต่อเดือนไปแล้วด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่าง ณ เยอรมนี
• Income tax 18-45% ของเงินเดือนขึ้นอยู่กับว่าเงินเดือนเยอะแค่ไหน
• Health insurance
• Nursing care insurance สำหรับตอนเกษียณแล้วต้องไปอยู่บ้านพักคนชรา
• Public pension insurance อันนี้จ่ายก็ได้ไม่จ่ายก็ได้ แต่ถ้าไม่จ่ายก็ต้องวางแผนดูแลตัวเองตอนแก่ด้วยตัวเอง
• Unemployment insurance กรณีตกงาน
• Church tax ประมาณ 8-9% ของเงินเดือน ไว้ทำนุบำรุงโบสถ์ที่ไปเป็นประจำ
หากแต่งงาน ก็จะได้สิทธิ์ลดหย่อนตามประเภทต่างๆ ทำให้เสีย Tax ลดลงกว่านี้หน่อย แต่ไม่มีลดหย่อน LTF RMF นะ ลดให้พ่อแม่ก็ไม่ได้ เพราะคนที่นี่เขาแยกกันอยู่กับพ่อแม่ ไม่เกี่ยวกัน (อ้างอิง https://www.iamexpat.de/expat-info/taxation-germany/german-tax-system)
อย่างไรก็ตาม นี่แค่ Tax ไม่ใช่ Vat ที่คุณต้องจ่ายเวลาซื้อของ ในอัตรา 7 หรือ 19% ขึ้นอยู่กับชนิดสินค้า และก็ยังไม่รวม tax และค่าจิปาถะอื่นๆ เช่น ภาษีรถยนต์ ภาษีมรดก ภาษีเลี้ยงสัตว์ ค่าการกระจายเสียง (broadcasting fee) อีกเดือนละเกือบ 20 ยูโร (ต่อบ้าน) (อ้างอิง https://www.rundfunkbeitrag.de/)
นี่คือตัวอย่างของประเทศรัฐสวัสดิการที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป และมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี พีพีพี (Debt-to-GDP PPP ratio) สูงกว่าประเทศไทย (ประมาณ 64% ที่ไทย 42%) แต่ยังต่ำกว่ากลุ่มประเทศ G7 อื่นๆ (ที่ส่วนใหญ่ เกิน 100% ไปแล้ว) (อ้างอิง https://www.worldeconomics.com/Debt/) ถึงแม้ว่าหนี้ต่อจีดีพีจะยังดี และเมื่อก่อนต้นทุนในการใช้ชีวิตก็ไม่แพง เนื่องจากได้รับพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย แต่ก็ยังต้องปรับอายุเกษียณจาก 64 ปี 7 เดือน เป็น 66 ปี และสุดท้ายเป็น 67 ปี ในปี 2574
จะเห็นได้ว่ากว่าจะมาเป็นรัฐสวัสดิการที่หลายคนใฝ่ฝัน มันต้องแลกมาด้วยเงินที่ประชาชนร่วมกันลงขัน รัฐสวัสดิการก็เลยเปรียบเสมือนประกันชีวิตอย่างหนึ่งที่เราต้องเสียเงินและเวลาให้รัฐเพื่อเป็นหลักประกันว่าสักวันหนึ่งที่เราลำบาก รัฐจะกลับมาดูแลเรา
คำถามสำคัญก็คือ เราจะยอมถูกเก็บภาษีเพิ่มหรือไม่ รัฐจะเก็บภาษีคลอบคลุมทุกคนได้อย่างไร อายุเกษียณจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่ และอะไรคือสิ่งยืนยันว่าเงินที่เราจ่ายเพิ่มไป สักวันหนึ่งมันจะแปลงมาเป็นสิ่งที่เลี้ยงเราได้ในวันที่เราดูแลตัวเองไม่ไหว
รัฐสวัสดิการ จึงไม่ใช่แค่การมองแค่ด้านหน้าของเหรียญ ว่าประชาชนจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง แต่ต้องศึกษาถึงให้ครอบคลุมถึงที่มาของเงิน การบริหารเงินที่ได้มา การสร้างความไว้วางใจของคนต่อรัฐ เพื่อให้เรารู้เท่าทันนโยบายรัฐสวัสดิการจากแต่ละพรรคการเมือง และค่อยๆ ผลักดันนโยบายนี้ให้เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบและเหมาะสมกับคนไทย เพื่อผลประโยชน์ของคนในชาติอย่างยั่งยืน
และนี่ก็คือความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง ของ "รัฐสวัสดิการ"
โฆษณา