2 พ.ค. 2023 เวลา 10:11 • การศึกษา

อะไรคือมรดกตามกฎหมาย?

มีลูกความติดต่อมาเพื่อให้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกก็คือเจ้ามรดกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมอีกคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่
สมมติว่าเจ้ามรดกซึ่งเสียชีวิตแล้วชื่อนาย ก ส่วนเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมอีกคนหนึ่งชื่อนาย ข ลูกความซึ่งเป็นทายาทของนาย ก ได้ติดต่อมาว่าขอให้เรายื่นคำร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ก และนาย ข ในคราวเดียวกันเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความ เราจึงต้องอธิบายว่ามรดกหมายถึงทรัพย์สินของคนที่เสียชีวิตแล้ว ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ทรัพย์สินของบุคคลนั้นเรายังไม่เรียกว่ามรดก เราจึงคิดว่าควรจะเขียนบทความเรื่องมรดกคืออะไรให้เพื่อน ๆได้อ่านกัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๐๐ และคำพิพากษาศาลฎีกาได้วางหลักว่ากองมรดกหมายถึงทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือในขณะถึงแก่ความตาย เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
อธิบายง่าย ๆ ก็คือก่อนตายนาย ก มี
๑.ทรัพย์สิน หรือ
๒.หนี้สิน หรือ
๓.สิทธิ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิเรียกร้อง เป็นต้น หรือ
๔.มีความรับผิด เช่นขับรถไปชนบุคคลอื่นทำให้เสียหาย
เมื่อนาย ก เสียชีวิต สิ่งที่กล่าวมาแล้วดังข้อ ๑-๔ ก็จะเรียกว่ามรดกซึ่งจะตกทอดแก่ทายาทไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทตามพินัยกรรม ส่วนผู้ตายที่เป็นเจ้าของมรดกเรียกว่าเจ้ามรดก ทรัพย์สินเงินทองของมีค่าเรียกว่าทรัพย์มรดก
(กรณีเจ้ามรดกสมรสแล้ว ทรัพย์มรดกหมายถึงสินส่วนตัวและสินสมรสที่แบ่งครึ่งแล้ว อ่านสินส่วนตัว/สินสมรสได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/5ecbfd123e70b1180d862ff2 , กรณีเจ้ามรดกมีคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย อ่านได้ที่
มรดกสามีภรรยาไม่จดทะเบียนแบ่งกันอย่างไร
ส่วนทรัพย์สินที่ไม่ได้มีอยู่ก่อนที่นาย ก จะเสียชีวิต แต่ได้มาเพราะเหตุที่นาย ก เสียชีวิต กฎหมายไม่ถือว่าเป็นมรดก เพราะไม่เข้านิยามตามมาตรา ๑๖๐๐ เช่นเงินเอาประกันชีวิต
สมมติ นาย ก ทำทุนประกัน ๑๐ ล้านบาท ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ยังไม่ได้มีเงิน ๑๐ ล้านบาทอยู่ในมือ แต่เมื่อนาย ก เสียชีวิต ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ของนาย ก จึงจะได้รับเงินทุนประกัน ๑๐ ล้านบาท แต่หากผู้รับประโยชน์ของนาย ก เสียชีวิตไปก่อนนาย ก เมื่อนาย ก เสียชีวิตจึงไม่มีผู้รับประโยชน์ที่ยังมีสภาพบุคคลเข้ามารับเงินเอาประกัน ในทางกฎหมายจึงต้องอาศัยกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งเข้ามาปรับใช้จึงต้องถือว่ากรณีไม่มีผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ก็ให้เงินเอาประกันนั้นตกแก่กองมรดกของผู้เอาประกัน (ปพพ.มาตรา ๘๙๗)
ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นเพราะความตายกรณีอื่นก็เช่น เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ (กรณีสมาชิกของการฌาปนกิจสงเคราะห์นั้นเสียชีวิต) เงินบำเหน็จตกทอด (กรณีข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญ) เงินสงเคราะห์ (กรณีผู้ประกันตนประกันสังคมตาม พรบ.ประกันสังคม มาตรา ๓๓ และ ๓๙ เสียชีวิต) เป็นต้น
ส่วนหนี้สินก็เป็นมรดกเช่นกัน แต่ทายาทไม่ต้องใช้หนี้เกินกว่ามรดกที่ได้รับ ดังนั้นถ้าเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์สินใดเลย แม้จะมีหนี้สินมากมายเพียงใด ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ยกเว้นบางกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่นเงินเอาประกันชีวิต เจ้าหนี้สามารถบังคับเอาจากเบี้ยประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันได้ส่งไปแล้วได้ หรือกรณีผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์เสียชีวิตก่อนเจ้ามรดก ทำให้เงินเอาประกันตกไปเป็นกองมรดก เจ้าหนี้ก็สามารถบังคับเอากับกองมรดกได้ (ปพพ.มาตรา ๘๙๗)
ส่วนสิทธิ เช่น สิทธิเรียกร้อง สมมตินาย ก เป็นเจ้าหนี้ของนายเอจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อนาย กเสียชีวิตลง สิทธิ์เรียกร้องในหนี้เงินจำนวนดังกล่าวก็ตกเป็นมรดกแก่ ทายาทของนาย ก ที่จะเรียกร้องเอากับนายเอได้
ส่วนความรับผิดที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนถึงแก่ความตายจะตกเป็นมรดกก็เฉพาะส่วนในคดีแพ่ง เช่นนาย ก ไปขับรถชนนายบีบาดเจ็บ ต่อมานาย ก เสียชีวิตทำให้ความรับผิดทางอาญาของนาย ก สิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙ (๑) แต่ความรับผิดทางแพ่งในเรื่องค่าเสียหายที่มีต่อนายบีไม่ได้สิ้นสุดไปด้วย นายบีสามารถเรียกร้องเอากับทายาทของนาย ก ได้ไม่เกินมรดกที่ได้รับ ดังนั้นถ้านาย ก ไม่มีมรดกใดเลย ทายาทของนาย ก ก็ไม่ต้องรับผิดต่อนายบี (ปพพ.มาตรา ๑๖๐๑)
ส่วนกรณีที่ว่าทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดต่าง ๆ ที่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ไม่ถือเป็นมรดกนั้น เช่น สัญญาเช่า ซึ่งตามกฎหมายได้วางหลักไว้ว่าสัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของ ผู้เช่า ดังนั้นเมื่อผู้เช่าเสียชีวิต สิทธิการเช่าจึงไม่ตกเป็นมรดกแก่ทายาท
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งสมมติว่านาย ก เป็นนักร้องได้ทำสัญญารับจ้างร้องเพลงกับร้านอาหาร หากนาย ก เสียชีวิต ทายาทของนาย ก ก็ไม่ต้องไปฝึกร้องเพลงเพื่อจะมาร้องเพลงแทนนาย ก เพราะความสามารถในการร้องเพลงโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัว แต่ทายาทของนาย ก ต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องไปว่ากันตามกฎหมายว่าด้วยสัญญา
หวังว่าบทความนี้จะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจคำว่ามรดกตามกฎหมายได้ถูกต้องยิ่งขึ้น
ขอบคุณภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/259132/
ทนายน้อยหน่า
๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖
โฆษณา