6 พ.ค. 2023 เวลา 05:39 • ปรัชญา

“จิตที่ประภัสสรคือจิตที่ผ่องใส ไม่ใช่จิตที่บริสุทธิ์”

“ … การเจริญปัญญา 3 ระดับ
การเจริญปัญญามันมี 3 ระดับ
เบื้องต้นเป็นปัญญาที่ยังเจือการคิดอยู่
อย่างเราคิดไป ร่างกายมันถูกรู้
ร่างกายกับจิตเป็นคนละอัน ยังเจือคิด
แต่พอจิตมันมีกำลังขึ้นมา มันเห็นเอง มันรู้สึกเอง
ร่างกายกับจิตมันคนละอัน
บางทีขยับมืออยู่ มันเห็นตัวนี้ไม่ใช่เราแล้ว
มันเห็นอย่างนั้นได้เองเลย
มันขึ้นเป็นปัญญาในระดับวิปัสสนา
คือเห็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาจะเห็น
แล้วถัดจากนั้นก็มีปัญญาอีกขั้นหนึ่ง
เรียกโลกุตตรปัญญา เกิดในอริยมรรค
โลกุตตรปัญญา ทำหน้าที่ของเขาในการล้างกิเลส ล้างสังโยชน์ กิเลสชั้นละเอียด
สังโยชน์เป็นกิเลสที่ผูกเราไว้กับภพ กับโลก
เป็นเครื่องผูกมัดเราไว้
อาสวะเป็นเครื่องย้อม ใจเราจะย้อมด้วยอาสวะ มันคุ้นเคย
อย่างเราคุ้นเคยกับกาม มันจะมีกามย้อมเยิ้มอยู่อย่างนั้น
หรือเราคุ้นเคยกับการสร้างภพ จิตมันจะสร้างภพตลอดเวลา
คือปรุงโน่นปรุงนี่ไปเรื่อย
แล้วจิตเราหลงเข้าไปอยู่ในความปรุงแต่ง จิตมันคุ้นเคย
อันนั้นตัวอาสวะ
ตัวนิวรณ์เป็นกิเลสที่ทำหน้าที่ขัดขวางคุณงามความดี
กิเลสมีหลายตัว กิเลสธรรมดา โลภ โกรธ หลง
กิเลสระดับสังโยชน์ที่พระอริยะจะต้องละ
อาสวกิเลสเป็นกิเลสที่ย้อม ย้อมใจ ย้อมจิต
นิวรณ์เป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาทำลายคุณงามความดี
กำลังทำสมาธิอยู่ นิวรณ์ก็เกิดมาขวาง สมาธิก็แตก
เจริญวิปัสสนาอยู่ นิวรณ์เกิดขึ้นมา เกิดขี้เกียจขึ้นมาอย่างนี้
มันก็กรรมฐานเลิกกันไป
นิวรณ์เป็นกิเลสที่ขัดขวางคุณงามความดีทั้งหลาย
แล้วกิเลสที่ละเอียดที่สุด ชื่ออนุสัย สันดาน
อนุสัย กิเลสตัวนี้ต้องอาศัยกำลังของอริยมรรคถึงจะละได้
อนุสัยดูไม่ได้ อนุสัยไม่มีให้ดู ไม่มีร่องรอย
มันซ่อนตัวเองมิดชิดเลย
ฉะนั้นเวลาถ้าไปดูให้ดี ถ้าเวลาท่านสอน ท่านสอนให้ดูอะไร
ดูของที่ดูง่ายๆ โลภ โกรธ หลงอย่างนี้ ดูง่ายๆ ดูไป
ส่วนอนุสัย มันดูไม่เห็น มีอยู่ 7 ตัว ไปถามกูเกิ้ลเอา
เป็นสันดาน มันดูอะไรไม่เห็นหรอก
มันมี แต่มันไม่ทำงานให้เห็น
แต่เวลามันทำงาน มันก็จะปรุงเป็นนิวรณ์บ้าง
เป็นสังโยชน์ เป็นราคะ โทสะ โมหะอะไรขึ้นมา
แล้วก็ไปรู้พวกนี้เอา เป็นผลงานของอนุสัย
แล้วตอนที่อริยมรรคเกิด มันเข้าไปล้างอนุสัยเอง ไปล้างสังโยชน์เอง
ส่วนนิวรณ์ทั้งหลาย ถ้าจิตมีสมาธิขึ้นมา มีกำลังขึ้นมา
นิวรณ์ก็กระเด็นออกไปหมด
เราต้องสู้กับกิเลสหลายชนิด
เราก็มีเครื่องมือหลายอย่างต่อสู้กับมัน
ยากไปไหมวันนี้ ถ้ายากก็ช่วยไม่ได้ ต้องเรียน
ยากก็ต้องเรียน มิฉะนั้นมันก็เตาะแตะๆ เบบี๋ไม่เลิก
เหมือนเด็กเล็กๆ คอยอ้อนครูบาอาจารย์
อ้อนคนโน้นอ้อนคนนี้ไปเรื่อยๆ ต้องเข้มแข็ง ต้องสู้
ก่อนที่ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ท่านจะได้ดี
ท่านลำบากมาแล้วทั้งนั้นล่ะ
อยู่ๆ ไม่ดีหรอก ต่อสู้มาแล้วทั้งนั้นล่ะ
เปลี่ยนจากจิตที่มืดมัว เพราะกิเลสที่จรมา
ด้วยกำลังของสมาธิ กลายเป็นจิตที่ประภัสสรผ่องใส
ถัดจากนั้นเจริญปัญญาเพื่อให้จิตเข้าถึงความบริสุทธิ์
คำว่าประภัสสรกับคำว่าบริสุทธิ์ไม่เหมือนกัน
จิตที่ประภัสสรคือจิตที่ผ่องใส ไม่ใช่จิตที่บริสุทธิ์
มันเหมือนน้ำใสๆ ที่เราเห็นน้ำในตุ่มเราใสๆ อย่างนี้
น้ำใสแต่ไม่บริสุทธิ์ มีเชื้อโรคอยู่ได้ตั้งหลายชนิด
มีตะกอนอย่างละเอียดซ่อนอยู่
บางทีก็มีสีอะไรลงไปเจือปน
ฉะนั้นของที่ดูว่าใสๆ ไม่ได้บริสุทธิ์
จิตนั้นโดยตัวของมันเอง มันใส มันผ่องใส มันหมองเพราะกิเลส
ทีนี้เราทำสมาธิขึ้นมา มันข่มกิเลสลงไปชั่วครั้งชั่วคราว
จิตก็สว่างผ่องใสขึ้นมา
เราไม่ไปยุ่งกับมัน มันเหมือนเรามีตุ่มน้ำ เดี๋ยวนี้มันไม่มีตุ่มใช้แล้ว เขามีถังพลาสติกอะไรอย่างนี้ เรารองน้ำเก็บไว้นานๆ มันจะมีตะกอนอยู่ที่ก้นถัง แล้วเราเอามือไปแกว่งๆ กวนน้ำ ตะกอนมันก็ขึ้นมา พอเราไม่ไปกวนมัน ตะกอนมันก็ตก มันก็ใส นั่นล่ะจิตก็อย่างนั้นล่ะ
เวลาเรามีผัสสะ เราก็ไปกวนจิตให้มันทำงานขึ้นมา จิตก็เศร้าหมอง ตะกอนที่ซ่อนอยู่ในจิตมันก็ขึ้นมา
ถ้าเรานั่งสมาธิ เราไม่ไปกวนจิต ตะกอนมันก็ตก จิตมันก็ผ่องใส แต่ผ่องใสแล้วต้องเดินปัญญาต่อเพื่อทำให้มันบริสุทธิ์
ระหว่างประภัสสรกับบริสุทธิ์ คนละอันกัน
ประภัสสรด้วยกำลังของสมาธิ บริสุทธิ์ด้วยปัญญา
พระพุทธเจ้าบอก บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
ปัญญาเบื้องต้นเจือการคิดพิจารณาลงไป
ถัดขึ้นมาเป็นปัญญาในขั้นที่เห็นไตรลักษณ์ เป็นวิปัสสนาปัญญา
ตรงที่ยังเจือการคิด เรียกจินตามยปัญญา
แล้วถัดขึ้นมามันเป็นโลกุตตรปัญญา
เป็นความรู้ถูกเข้าใจถูกที่ไม่ได้เจตนาให้เกิดเลย มันรู้เอง
นี่เส้นทางของเรา วันหนึ่งเราจะเข้าถึงความบริสุทธิ์
ก่อนจะถึงจุดนั้น ให้มันประภัสสรเสียบ้าง
ถ้าจิตมอมแมมอยู่ทั้งวัน มันแยกธาตุแยกขันธ์ไม่ออก
ถ้าจิตมันประภัสสร มันไม่วุ่นวาย มันสงบอยู่
แล้วสังเกตนิดเดียว
ร่างกายกับจิตมันคนละอัน มันแยกขันธ์ได้เลย
แล้วจิตมันจะตั้งมั่นได้เลย
หรือเราทำกรรมฐานของเราไปสบายๆ
จิตเราเคลื่อนไป เราเห็นว่าจิตเคลื่อนไป
จิตที่เคลื่อนจะดับ จิตที่ตั้งมั่นจะเกิด
จิตที่ตั้งมั่นเกิดจากการที่เรามีสติเห็นสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น
อย่างเราโกรธขึ้นมาแล้วสติระลึกได้ว่าโกรธ
ความโกรธดับ จิตตั้งมั่นอัตโนมัติ
รู้ว่ากำลังหลงไปคิด สติระลึกได้ว่านี่หลงแล้ว
ความหลงก็ดับ จิตก็ตั้งมั่นอัตโนมัติ
ค่อยๆ ฝึก แล้วจิตมันตั้งมั่นด้วย ประภัสสรด้วย
ประภัสสรด้วยการทำสมถะ ตั้งมั่น
ใช้สติไปสังเกตจิตที่ไม่ตั้งมั่น เคล็ดลับมีนิดเดียวเอง
ยกเว้นคนที่เล่นฌาน ถ้าจิตเข้าถึงฌานที่สองเป็นต้นไป
ถึงฌานที่แปดโดยมีสติกำกับ
เราจะได้จิตผู้รู้ที่แข็งแรงอยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน
แต่จิตหลงแล้วรู้ๆ อยู่ได้ชั่วขณะ เลยเรียกขณิกสมาธิ …”
.
1
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
16 เมษายน 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา