7 พ.ค. 2023 เวลา 00:33 • ข่าวรอบโลก

เครื่องประดับศีรษะเจ้าหญิงแห่งเวลส์และเจ้าหญิงชาร์ล็อตต์

วันสองวันมานี้ข่าวดังระดับโลกคงหนีไม่พ้นข่าวเกี่ยวกับพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ ซึ่งประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่จับตามองคือการแต่งกายของสมาชิกคนสำคัญในราชวงศ์อังกฤษ
ในคราวนี้บุคคลที่ถูกจับตามองมากที่สุดในเรื่องเครื่องแต่งกายคงหนีไม่พ้น แคทเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระชายาของเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ ว่าที่กษัตริย์อังกฤษองค์ต่อไป
ในพิธีบรมราชาภิเษกคราวนี้ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ต้องการลดความหรูหราฟู่ฟ่าลงเพื่อมิให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสภาวะข้าวยากหมากแพงจากประชาชน ดังนั้นในพิธีนี้จึงมิได้กำหนดให้สมาชิกราชวงศ์ที่เป็นสตรีที่มาร่วมพิธีพากันโหมประโคมสวม “เทียร่า” ดังเช่นธรรมเนียมในอดีตที่เคยทำมา เพราะพยายามหลีกเลี่ยงมิให้ถูกเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายต่อต้านสถาบันกษัตริย์
ในงานนี้ ผู้ที่ติดตามข่าวคงจะเห็นเครื่องประดับอันงดงามบนศีรษะที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์สวม ที่ถูกออกแบบให้เป็นคู่เหมือนกับที่เจ้าหญิงชาร์ล็อตต์พระธิดาสวมใส่
• งานนี้ไม่มีเทียร่า
ภาพถ่ายพิธีบรมราชาภิเษกของควีนอีลิซาเบธที่ 2 (Haper’s BAZAAR)
หากมองย้อนกลับไป ในคราวพิธีบรมราชาภิเษกของควีนอีลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดาของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 จะเห็นดังภาพประกอบข้างบนว่าสตรีสูงศักดิ์ต่างพากันสวมเทียร่ากันมาทั้งนั้น (ยกเว้นควีนที่ทรงสวมมงกุฎ) แต่เมื่อเวลาผ่านไป บางอย่างก็มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์
ก่อนหน้านี้มีข่าวคาดการณ์ต่าง ๆ นานาว่าเจ้าหญิงแห่งเวลส์จะสวมเทียร่าชิ้นไหนกันหนอในพิธีบรมราชาภิเษก บ้างก็มีข่าวปล่อยออกมาว่าเจ้าหญิงแห่งเวลส์จะแหกธรรมเนียมด้วยการสวมมงกุฎที่เป็นดอกไม้สดแทน
แต่สุดท้าย ในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ เจ้าหญิงแห่งเวลส์มิได้สวมทั้งเทียร่าและสวมมงกุฎที่เป็นดอกไม้สดตามที่เป็นข่าว แต่สิ่งที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์สวมเป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเทียร่ากับมงกุฎที่เป็นดอกไม้สด
1
ทำไมถึงไม่เป็นเทียร่าดังธรรมเนียมเดิม เหตุก็เป็นดังที่อธิบายไปเบื้องต้นว่ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงกำหนดมาว่าให้สวมหมวกหรือเครื่องประดับศีรษะ(ที่มิใช่เทียร่า)มาก็พอ (ส่วนมงกุฎนั้นให้แต่กษัตริย์กับราชินีใส่ในราชพิธี) เหตุผลบ้างก็ว่าพระองค์ต้องการปฏิรูปราชพิธีให้ทันสมัยขึ้น ผนวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศถดถอยและเกิดปัญหาวิกฤตค่าครองชีพ ดังนั้น เราจึงไม่ได้เห็นสมาชิกฝ่ายหญิงของราชวงศ์อังกฤษและแขกที่เป็นราชวงศ์ฝ่ายหญิงจากต่างชาติสวมเทียร่ามาแต่อย่างใด
1
แต่ในฐานะเจ้าหญิงแห่งเวลส์ที่ถูกจับตามองเรื่องการแต่งกายมากที่สุดจะให้มากไปหรือน้อยไปก็คงไม่ดี จึงมาลงเอยที่เครื่องประดับศีรษะ (headpiece) ที่ไม่ถึงขั้นเป็นเทียร่าและไม่น้อยไปจนเป็นหมวกธรรมดา
• เครื่องแต่งกาย
คู่เหมือนแม่ลูก (People)
งานใหญ่ระดับนี้ จึงมีการเรียกใช้บริการจากสำนักแฟชั่นของอเล็กซานเดอร์ แม็คควีน อีกครั้ง ที่แคทเธอรีนเคยใช้บริการให้ทำชุดแต่งงานมาแล้วในตอนที่อภิเษกกับเจ้าชายวิลเลียมเมื่อปี 2011
เจ้าหญิงแห่งเวลส์และเจ้าหญิงชาร์ล็อตต์จึงเป็นแม่ลูกคู่เหมือนในพิธีนี้ คือสวมทั้งชุดผ้าไหมสีขาวงาช้างและเครื่องประดับศีรษะจากห้องเสื้ออเล็กซานเดอร์ แม็คควีน โดยชุดที่สวมปักเป็นรูปดอกกุหลาบ ธิสเซิล แดฟโฟดิล และแชมร็อก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์
เพื่อไม่ให้เกินงามเรื่องราคา เครื่องประดับศีรษะของเจ้าหญิงแห่งเวลส์และเจ้าหญิงชาร์ล็อตต์จึงเป็นรูปพวงใบไม้แบบสามมิติที่ทำมาจากเงินและประดับประดาด้วยคริสตัล มิใช่ทองคำขาวหรือเพชรพลอยอะไร
ว่ากันว่าที่เป็นรูปใบไม้นี้เพื่อเป็นการสดุดีแก่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติและนักทำสวนปลูกต้นไม้ตัวยง
1
คนที่ออกแบบเครื่องประดับศีรษะนี้คือเจสส์ คอลเล็ตต์ (Jess Collett) ซึ่งคน ๆ นี้มีความเขื่อมโยงกับมูลนิธิ The Prince's Trust ที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เพราะเธอประกอบอาชีพช่างออกแบบเครื่องสวมศีรษะโดยได้รับเงินทุนสนับสนุนที่ยืมมาก่อตั้งร้านจากมูลนิธินี้เมื่อ 25 ปีก่อน
• ต่างหูและสร้อยคอ
ต่างหูของไดอาน่า (The Telegraph)
ราคาค่างวดชุดกับเครื่องประดับนั้นไม่มีตัวเลขเปิดเผยหรือคาดการณ์มา แล้วเครื่องประดับอื่นที่แคทเธอรีนสวมยังมีต่างหูกับสร้อยคออีกด้วย
1
เพื่อเป็นการระลึกถึงแม่สามี เจ้าหญิงแห่งเวลส์ยังสวมต่างหูเพชรประดับมุกซึ่งเป็นต่างหูคู่โปรดของไดอาน่า พระมารดาผู้ล่วงลับของเจ้าชายวิลเลียม ที่เป็นมรดกตกทอดมา ต่างหูคู่นี้เป็นของขวัญที่ไดอาน่าได้รับก่อนเข้าพิธีอภิเษกกับเจ้าชายชาร์ลส์เมื่อปี 1981
1
นอกจากนี้ ยังมีสำนักข่าวหลายเจ้ารายงานว่าเจ้าหญิงแห่งเวลส์ยังสวมสร้อยคอเพชรสามชั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงควีนอีลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับไปอีกด้วย (ซึ่งมองไม่เห็นเพราะสวมชุดคลุมทับ) คือสร้อยคอที่เรียกว่า Festoon Necklace ซึ่งสร้อยคอเส้นนี้กษัตริย์จอร์จที่ 6 สั่งช่างให้ทำขึ้นแก่พระธิดาคือควีนเมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าหญิงเมื่อปี 1950
หน้าตาสร้อยคอดังกล่าวดังรูปล่าง
สร้อยคอ Festoon ของควีนอีลิซาเบธที่ 2 (Glamour UK)
อ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา