7 พ.ค. 2023 เวลา 03:42 • ธุรกิจ

=== รู้อดีต เห็นปัจจุบัน คาดการณ์อนาคต ===

ใครเคยดูหนังเรื่อง Next ของ นิโคลาส เคจ บ้างครับ ผมเพิ่งจะได้ดูโดยบังเอิญจาก Netflix ชอบมากเลย ยังสงสัยว่าพลาดเรื่องนี้ไปได้ยังไงตอนหนังลงโรงครั้งแรก
หนังเป็นเรื่องเกี่ยวกับนักมายากลที่แสดงตามงานโชว์ที่ลาสเวกัส แต่สิ่งที่พิเศษของตานี่คือ เค้าเห็นอนาคตล่วงหน้าจริงๆ และตัวหนังแสดงให้เห็นว่า การเห็นอนาคตล่วงหน้าแค่ 2 นาที กับเห็นล่วงหน้าได้ยาวๆมันมีพลังต่างกันขนาดไหน
องค์กรที่ยั่งยืนแข็งแรงในระยะยาวส่วนใหญ่จะมีความสามารถมองเห็นล่วงหน้าได้ยาวๆแบบนี้ครับ
ผมค่อนข้างโชคดี ที่ได้มีโอกาสอยู่ในทีมที่ทำเรื่องการปรับองค์กรภายในให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 3 ครั้งในปี 2005 2015 และ 2020 ทำให้พอเข้าใจหลักคิดในการทำให้องค์กรแข็งแรงก้าวหน้าในระยะยาวอยู่พอประมาณ เพราะในช่วงเวลาแบบนั้น พวกเราจะคิดถึงเรื่องพวกนี้กันมาก ไม่เหมือนช่วงปรกติที่จะคิดกันถึงแค่ระยะ 6-18 เดือนข้างหน้าเป็นส่วนใหญ่
ทำไมตอนนั้นถึงต้องทำ ? ก็เพราะเราเจอปัญหาใหญ่ครับ ปี 2005 เราเริ่มตระหนักว่าต้นทุนเราพุ่งขึ้นเรื่อยๆตามคุณภาพแหล่งก๊าซใหม่ๆที่เล็กลงและต้องการเงินลงทุนมากขึ้น ปี 2015 มาจากราคาน้ำมันที่ลดไปครึ่งนึงจากช่วงก่อนหน้า และปี 2020 จากการสูญเสียสัมปทานเอราวัณ แต่ละครั้งหนักๆทั้งน้าน
สิ่งแรกที่พวกเราทำก็คือต้องพยายามเข้าใจสถานการณ์ในอดีตและปัจจุบันจริงๆ จนเพียงพอที่จะพยากรณ์อนาคตได้ด้วยความมั่นใจระดับนึง ว่าถ้าทำสิ่งใด ไม่ทำสิ่งใด จะเกิดผลอะไร โดยทำเป็นโมเดล (operation and financial model) ขึ้นมา ต้นทุนอยู่ที่ไหน กำไรมายังไง ยอดขายจะเป็นแบบไหน ในสภาพการณ์ที่แตกต่าง ใช้ข้อมูลในอดีตเป็นตัวบอกแนวโน้ม ใช้ข้อมูลปัจจุบันเป็นตัวเช๊คความถูกต้องหรือผิดพลาดของโมเดล และใช้คำถาม what-if เพื่อดูอนาคตที่น่าจะเป็นจากการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป
แน่นอนว่าเราไม่มีทางทำให้โมเดลมันถูกต้อง 100% ได้ แต่การใช้ข้อมูลระยะยาวในอดีตถึงปัจจุบันที่เป็นจริง (ไม่เลือกหรือ cherry pick เอามาเฉพาะที่อยากให้เป็น) จะช่วยลดอคติของเราไประดับหนึ่ง แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ขึ้นกันคน ดังนั้นการรวมทีมคนที่คิดต่างกัน และผู้นำที่สร้างบรรยากาศให้ทุกคนกล้าพูดกล้าแสดงออก จะช่วยลดความผิดพลาดจากอคติลงไปได้
แต่ต้องเข้าใจนะครับว่าโมเดลนี่ก็เป็นแค่เครื่องมือตัวนึง ซึ่งแม้จะสำคัญมาก แต่เราก็ต้องการอีกหลายอย่างประกอบเพื่อให้งานสำเร็จ เหมือนพระเอกในหนังนั่นแหละ ถึงจะรู้อนาคตแล้ว ก็ต้องลงมือทำให้สำเร็จด้วย และต้องคอยตรวจสอบแก้ไขตลอดเวลา ในชีวิตจริง ตัวโมเดลนี่ก็จะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามข้อมูลที่หาได้ และตามคำถามที่ต้องการให้โมเดลตอบ จึงต้องทำไปแก้ไป
คนที่จะเป็นคนสร้างและแก้ไขโมเดลนี้ ต้องเป็นคนเก่งและฉลาด ทำงานได้ไว สนใจตัวเลข และค่อนข้างกล้าคิดกล้าแสดงออก ผมคิดว่าทุกองค์กรที่มีขนาดใหญ่พอประมาณ (500 คนขึ้นไป) ควรจะต้องมีกลุ่มคนที่ทำหน้าที่นี้ และการทำให้คนกลุ่มนี้ทำงานได้อย่างดีและไม่มีอคติของผู้บริหารมาครอบงำ น่าจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรงครับ
อาทิตย์ กริชพิพรรธ
#AAdvisory
หากสนใจ คุณสามารถเพิ่มเป็นเพื่อนเราในทาง Line เพื่อรับ update โดยตรง หรือสอบถามข้อมูลต่างๆของเราได้ที่ https://lin.ee/Q1V9omr ครับ
โฆษณา