9 พ.ค. 2023 เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจโลก: จากวิกฤติราคาพลังงานสู่ความกังวลในตลาดการเงิน

ความสนใจของทั่วโลกได้เริ่มเปลี่ยนจากวิกฤติราคาพลังงานและค่าครองชีพไปยังโอกาสที่จะเกิดวิกฤติการณ์ธนาคารแทน โดยในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาพลังงานทั่วโลกได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง (แผนภูมิ 1) ซึ่งจะช่วยให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพในหลายประเทศลดลงมาด้วย
นี่ทำให้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งเริ่มคิดว่าราคาพลังงานช่วงปลายปีนี้จะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ ยกตัวอย่างเช่น Capital Economics ที่ในตอนนี้ คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ณ ปลายปีนี้ จะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ราวๆ 20% และ 10% ตามลำดับ นี่ถือเป็นข่าวดีสำหรับหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป ที่ค่าครองชีพถูกกระทบอย่างหนัก
นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศก็ดูค่อนข้างคึกคักมาตั้งแต่ต้นปีนี้ อย่างกิจกรรมการผลิตของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ปรับตัวสูงขึ้นเร็วที่สุดในรอบมากกว่า 10 ปี โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (Purchasing Manager’s Index หรือ PMI) ของจีนอยู่ที่ 52.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ เทียบกับ 50.1 ในเดือนก่อนหน้า กิจกรรมทั่วโลกที่เริ่มกลับมาอาจส่งสัญญาณว่าปัญหาห่วงโซ่อุปทานนั้นเริ่มคลี่คลายแล้ว
อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาของหลายประเทศ ก็ได้เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจใหญ่ๆ ทั่วโลกแล้ว ซึ่งเห็นได้ชัดในอุตสาหกรรมธนาคารของสหรัฐฯ ที่การล้มละลายของธนาคารใหญ่ๆ ในประเทศได้สร้างความกังวลในตลาดเกี่ยวกับความแข็งแรงของสถาบันการเงิน
ถึงแม้ว่าปัญหาในอุตสาหกรรมธนาคารครั้งนี้ ไม่น่าจะกลายเป็นวิกฤติร้ายแรง เนื่องจากสหรัฐฯ รับมือกับปัญหาครั้งนี้ได้ดีกว่าในตอนวิกฤติการเงินครั้งที่แล้วมาก แถมธนาคารในหลายๆ ประเทศก็มีสภาพคล่องพอสมควร (แผนภูมิ 2) แต่ธนาคารหลายแห่ง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ก็น่าจะเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการการปล่อยเงินอยู่ดี ซึ่งนี่อาจทำให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้ประกอบการและคนทั่วไปลดลง
โดยเฉพาะในหมวดหมู่สินค้าที่ราคาขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยเยอะ เช่น บ้าน เป็นต้น จากเหตุการณ์เหล่านี้ เป็นไปได้สูงว่าเศรษฐกิจใหญ่ทั่วโลกจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลงและอัตราการว่างงานสูงขึ้น แต่คงจะไม่รุนแรงเท่ากับในช่วงโควิดที่ผ่านมา
ในปัจจุบัน ธนาคารกลางหลายแห่งกำลังพยายามคงเสถียรภาพด้านการเงินไปพร้อมกับการควบคุมเงินเฟ้อ เห็นได้จากการที่หลายแห่งยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่ก็ปล่อยสินเชื่อและสว็อปไลน์ (Swap Line) ไปด้วย
ตามคาดการณ์ของ Capital Economics อัตราดอกเบี้ยนโยบายในเศรษฐกิจหลักทั่วโลกจะอยู่ในระดับสูงสุดไปอีกสักพัก และเมื่อถึงคราวลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะแรงกว่าที่คาด โดยเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่น่าจะเป็นที่แรกๆ ที่ทำการลดดอกเบี้ยนโยบาย และดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และ ยุโรป ตอนช่วงปลายปีก็น่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่เคยคาดไว้
โดยสรุปแล้ว การที่ความเสี่ยงย้ายจากวิกฤติพลังงานไปยังวิกฤติการธนาคารก็น่าจะทำให้ประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลกเจอกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาอยู่ดี แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือในตอนนี้ ความเสี่ยงสหรัฐฯเจอ ก็คงจะไม่น้อยกว่าที่ยุโรปเจออีกต่อไป
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Source:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา