9 พ.ค. 2023 เวลา 06:51 • ศิลปะ & ออกแบบ

YANH RATCHAWAT โรงแรมใหม่ในย่านเก่า สะท้อนบริบท ราชวัตร

YANH Ratchawat โรงแรมที่ชวนคุณมาสัมผัสความเป็นชาว ราชวัตร ไม่ว่าจะพักผ่อน หรือทำงาน โดยมีร้านอาหารชื่อดังอร่อย ๆ อยู่รอบข้าง เพราะ “ราชวัตร” คืออีกหนึ่งย่านเก่าแก่ แหล่งรวมสตรีทฟู้ดรถเข็นอาหารของอร่อย และร้านอาหารมีชื่อเสียงเก่าแก่ ไปจนถึงงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย บอกได้เลยไม่ว่าคุณจะเป็นชาวกรุงเทพฯ หรือต่างถิ่น ก็ห้ามพลาด!
ก่อนจะมาเป็นย่านราชวัตร
ตัวอาคารของโรงแรมเดิมเคยเป็นอาคารสำนักงานเก่า หรือที่รู้จักในนาม “ตึกขาว” เด่นด้วยผนังที่กรุกระเบื้องสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาว ซึ่งเป็นรายละเอียดที่นิยมกันในสถาปัตยกรรมสมัยอดีต นับว่าเป็นอาคารโมเดิร์นสำหรับในยุคนั้นเลยทีเดียว จากที่ตั้งของอาคารซึ่งอยู่ในย่านสตรีทฟู้ด CHAT architects ผู้ออกแบบจึงหยิบองค์ประกอบและดึงเสน่ห์ของย่านราชวัตร นั่นคือสตรีทฟู้ดสู่งานออกแบบของโรงแรม เสมือนชุบชีวิต “ตึกขาว” ให้กลับมามีชีวิตชีวาคึกคักอย่างที่เป็นมาอย่างเคย
เชื่อมสตรีทริมถนนสู่สตอรี่ภายในโรงแรม
ด้วยตัวอาคารของโรงแรมนั้นถูกซ่อนไว้หลังอาคารพาณิชย์ และร้านอาหารหลากหลายของย่านราชวัตรซึ่งมีความโดดเด่นน่าสนใจ ทางผู้ออกแบบจึงได้ทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับย่าน ที่มีผลต่อตัวโรงแรมหลัก ๆ อยู่ 2 สิ่ง คือช็อปเฮ้าส์ร้านค้าต่าง ๆ ที่มักจะมีกันสาดบังแดด-ฝนหลากหลายสีอยู่ตลอดแนวด้านหน้าของถนน และอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ของสตรีทฟู้ด คือรถเข็น ที่มีทั้งขายอาหาร ขนม ผลไม้ รวมถึงร่มหุบของแผงลอย โดย 2 สิ่งนี้เป็นแนวคิดสำคัญที่ผู้ออกแบบได้ดึงมาใช้ในงานออกแบบ
สะท้อนบริบทย่านราชวัตร
ด้วยการจัดระเบียบความเรียบร้อยบนถนน ร้านอาหารในย่านนี้จึงไม่สามารถใช้พื้นที่เกินออกมาหน้าร้านได้มากนัก จึงใช้เทคนิคเรียกลูกค้า โดยให้ครัวอยู่ด้านหน้า เป็นตัวส่งกลิ่นหอมเพื่อดึงดูดลูกค้า โดยปกติครัวทำอาหารไทยใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก หรือมากกว่าครึ่งของคูหาด้านหน้า ทำให้ที่นั่งรับประทานอาหารถูกซ่อนตัวอยู่ด้านหลัง ที่ต้องมีการลัดเลาะเหมือนเข้าไปอีกพื้นที่หนึ่ง ผู้ออกแบบจึงใช้แนวคิดนี้ในการออกแบบตัวโรงแรม ที่ด้านหน้าถูกบดบังด้วยตึกอาคารพาณิชย์
โดยลำดับการเข้าถึงพื้นที่ใช้สอยภายในโรงแรม ด้วยเทคนิคอย่างการเข้าถึงร้านอาหารที่กล่าวไปข้างต้น พื้นที่แรกของโรงแรมจึงไม่ใช่พื้นที่ต้อนรับ แต่เป็นที่จอดรถ ขณะที่ส่วนต้อนรับถูกผลักขึ้นไปอยู่ที่ชั้น 2 ที่ผนังกรุด้วยกระจกบานใหญ่ เพื่อดึงมุมมองสะท้อนกลับไปหาเมืองด้านหน้าถนนที่สามารถมองเห็นสตรีทฟู้ดได้
ภายในส่วนต้อนรับอย่างเคาน์เตอร์สีขาวนวลเป็นการดึงองค์ประกอบมาจาก street culture ส่วนที่นั่งพักคอยถอดรูปแบบมาจากเส้นสายองค์ประกอบสถาปัตยกรรมของพระราชวังยุคนีโอคลาสสิค ซึ่งทั้งหมดเป็นวัฒนธรรมที่สะท้อนที่มาจากบริบทย่านราชวัตร
อยู่แบบชาวย่าน “ราชวัตร”
โซนห้องพักของโรงแรม มาจากการรีโนเวทพื้นที่ของคอนโดฯ เก่า 7 ชั้นโดยอาคารซ่อนตัวอยู่หลังอาคารพาณิชย์ เปรียบเสมือนบ้านยุคเก่าสไตล์โคโลเนียลที่ซ่อนตัวอยู่ในเขตดุสิต
เนื่องจากเป็นพื้นที่คอนโดฯ จึงต้องแก้ปัญหาพื้นที่ให้เหมาะสมกับขนาดห้องพักประเภทของโรงแรม ผู้ออกแบบจึงเริ่มจากการแก้ปัญหาพื้นที่ ด้วยการดึงองค์ประกอบจากบริบทและความเป็นทรอปิคัลมาใช้ ให้พื้นที่มีความโปร่งโล่งจากการเปิดคอร์ดตรงกลางสระว่ายน้ำ ช่วยให้ แสง แดด และลมธรรมชาติ ถ่ายเทเข้าสู่พื้นที่ภายในให้ได้มากที่สุด
การเข้าถึงห้องพักของโรงแรมได้แนวคิดจากบ้านเรือนริมคลองเปรมประชากร ที่ต้องใช้สะพานข้ามคลอง ซึ่งเปรียบเสมือนระเบียงหน้าบ้าน โดยมีประตูลูกกรงกั้นระหว่างสะพานกับบ้าน ที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว ดังนั้น ช่องเปิดขนาด 3 x 3 เมตร บริเวณหน้าห้องพัก จึงได้รับการออกแบบด้วยแนวคิดของบริบทสะพานข้ามคลองดังกล่าว เป็นพื้นที่เชื่อมต่อจากทางเดินเข้าสู่ห้องพัก
โดยช่องเปิดเจาะโล่งจากด้านล่างถึงด้านบน เปิดเปลือกอาคารสีขาวโครงเหล็กที่โดดเด่นให้ดูโปร่งยิ่งขึ้น เชื่อมมุมมองกับคอร์ตกลาง นอกจากนี้ ภายในช่องเปิดยังมีประติมากรรมโลหะ รูปทรงสูงโปร่ง เพื่อสื่อถึงต้นไม้ใหญ่ เป็นจุดนำสายตาของสเปซ ทั้งยังสามารถประดับตกแต่งได้ตามเทศกาล เพื่อสร้างบรรยากาศพิเศษให้กับโรงแรมได้อีกด้วย
ภายในห้องพักยังมีองค์ประกอบที่น่าสนใจอย่าง ภาพงานสานบนหัวเตียงเป็นการนำเรื่องเล่าในย่านมาร้อยเรียงผ่านงานฝีมือที่สานอย่างปราณีต และพื้นกระเบื้องโมเสก ที่ออกแบบลวดลายเป็นคำว่า ”ราชวัตร” ซึ่งได้แนวคิดมาจากฟ้อนต์แบบพิกเซล ที่ปรากฎบนเครื่องเพจเจอร์ ซึ่งสื่อถึงธุรกิจดั้งเดิมในอดีตของอาคารแห่งนี้ ทั้งยังเชื่อมโยงบรรยากาศกับตึกขาวด้านหน้าได้อย่างกลมกลืน
นอกจากนี้ ภายในโรงแรมยังให้บริการห้องพักหลากหลายขนาด ตอบโจทย์ผู้เข้าพักเกือบทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นห้องพักเดี่ยว หรือห้องพักรวมแบบ Dormitory รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอย่าง สระว่ายน้ำ ฟิตเนส และห้องทำงานที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาทำงานไปพร้อมกับการพักผ่อน (workation) อีกด้วย
ย่าน ราชวัตร จึงถือได้ว่าเป็นโรงแรม ที่ตั้งใจสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาของย่าน ผ่านสเปซที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน นำเสนอมุมมองเชิงวัฒนธรรมภายใต้กลิ่นอายสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ที่เชื่อมโยงการพักผ่อนเข้ากับการใช้ชีวิตในบริบทของ “ย่านราชวัตร” ได้อย่างแยบยล
และนี่คืออีกหนึ่งผลงานของ Chat Architects ที่ตกตะกอนความคิดในการเล่าเรื่องราวของ “ย่านราชวัตร” ผ่านการตีความสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของไทย ด้วยงานออกแบบได้อย่างชัดเจน
โฆษณา