10 พ.ค. 2023 เวลา 10:53 • ไลฟ์สไตล์

เขียน

1.
สมัยเรียนปริญญาตรี ผมชอบนั่งลงสูบบุหรี่บุ๋ย ๆ ที่โต๊ะหินอ่อนตัวประจำ จิบกาแฟอเมริกาโน่เย็นที่ซื้อมาจากร้านข้าง ๆ โรงอาหาร แล้วก็ถกปรัชญากับมิตรสหาย ไม่ก็เขียนกวีสักบทใต้ร่มไม้ในบ่ายที่อากาศร้อนจัดของเดือนเมษา คลอเสียงเพลง Les Champ-Elysées ของ Joe Dassin พลางจินตนาการว่านักเขียน ศิลปิน และนักปรัชญาที่ทำงานกันอยู่ในคาเฟ่จะได้สัมผัสอะไรแบบนี้บ้างหรือเปล่า?
เอาจริง ๆ ผมก็ไม่แน่ใจนัก เพราะไม่ได้รู้จักอะไรกับพวกเขาเป็นการส่วนตัว ไม่ได้เกิดในยุคนั้น และไม่ได้รู้จักกับคนที่พอจะทันบรรยากาศของยุคสมัย จนต้องอ่านเอาจากข้อเขียนต่าง ๆ ที่ตกทอดมาจนถึงยุคสมัยของผม
อีกอย่างคือ เขาคงพูดภาษาไทยไม่ได้ เลยไม่รู้ว่าถ้าได้คุยกันจริง ๆ รู้เรื่องหรือเปล่า
 
แต่อย่างหนึ่งที่แน่ใจคือตัวเองในตอนนั้นไม่ได้ใกล้เคียงกับการเป็น “ศิลปิน” “นักเขียน” หรือ “นักสร้างสรรค์” อะไรเลยสักนิด ผมก็แค่นักศึกษาคนหนึ่งที่หลอกตัวเองด้วยการวางท่าเขื่องโต แล้วคุยโม้โอ้อวดเรื่องบทกวีไม่กี่ชิ้นของตัวเอง พูดประโยคเท่ ๆ ขอบท่านอังคารว่า “อยากเป็นกวีไปทุกภพชาติ” ไม่ก็ “ผมเขียนเพื่อระบัดระบายความจุกอกเสียดคอของสังคมที่ฟอนเฟะ” อะไรแบบนั้น
คิดแล้วก็น่าตลก เพราะศิลปินใหญ่อย่างผมในตอนนั้นทำทุกอย่าง ยกเว้นสร้างงานศิลปะ
ปาป้าเฮมิงเวย์เคยกล่าวไว้ผ่านสำนวนแปลของลุงเฟิ้ม ว่าคนเหล่านี้คือ “ศิลปินจอมปลอม”
ศิลปินที่แท้จริงนั้นขังตัวไว้ในห้องเช่าเหม็นอับราคาถูก แล้วตอกตัวตรึงกับโต๊ะด้วยพิมพ์ดีด บุหรี่ กาแฟ และจินตนาการ ไม่ใช่วางท่าเป็นคนใหญ่คนโตอวดอ้างสรรพคุณบางอย่างที่ไม่มีในตัวเอง
สำนวนลุงเฟิ้มนี่อ่านแล้วสะใจชะมัด เหมือนปาป้าเป็นตาแก่ปากจัดข้างบ้านที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาโชกโชน ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเสียงของคนหนุ่มวัยกลัดมัน
ช่วงเวลาเอื่อยเฉื่อยของฤดูร้อนตอนนั้นน่าจะเป็นไม่กี่ช่วงของชีวิตที่หลาย ๆ อย่างในตัวกำลังสุกงอม ความหอมหวานทางความคิดและความขมนิด ๆ ของประสบการณ์ที่ระเหยเอาความเจ็บปวดบางอย่างระเหยไปในอากาศ ในขณะเดียวกัน ความเอื่อยเฉื่อยของการไม่ทำอะไรเลยก็ทำให้มันเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ เหมือนกับกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของกาแฟยามบ่ายที่คั่วใหม่ ๆ กำลังดี
แต่พอออกมาจากมหาวิทยาลัย กลายเป็นว่ามันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ ปัจจัยหลาย ๆ อย่าง (ทั้งที่เราควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้) ทำให้อะไรต่อมิอะไรไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใจคิด อาการที่เรียกว่า “หมดจิต หมดใจ จะใฝ่ฝัน” เดินตามตามอายุราวกับเงาตามตัว
2.
“…รู้ตัวอีกทีผมก็กลายเป็นลูกจ้างหลังคอมพิวเตอร์สำนักงานที่พยายาเค้นสมองทำกำไรให้บริษัทที่ไม่มีให้แม้กระทั่งสัญญาจ้าง…”
“…กลิ่นหอมจาง ๆ ของไทม์ และโรสแมรี่ฟุ้งตลบห้อง เคล้ากับกลิ่นแอลกอฮอล์ของไวน์ชั้นเลวที่ไม่ได้มาจากเบอร์กันดีในหม้อกับเนื้อหมูสันในชิ้นโตที่นอนแผ่ให้หอมใหญ่ผัด และน้ำมันเบค่อนซึมซาบไปในเนื้ออย่างช้า ๆ  เอาจริงก็รู้สึกผิดบาป และอยากจะทำให้ถูกตามครรลองคลองธรรม แต่เงินในกระเป๋าผมมีอยู่เท่านี้  Bouef Bourguingnon เลยกลายเป็น Porc Bourguingnon ไปแบบงง ๆ
น้ำเสียงครวญเพลงเศร้าสร้อยของอีดิธ เพียฟ (Edith Piaf) กับความหนาวแบบที่ไม่ได้สัมผัสมาแสนนานคงทำให้ผมคิดไปเองว่าสตูว์ไวน์ชั้นเลวนี้ดูน่ากินขึ้น
แต่ให้ตายสิ มีอาหารชนิดไหนแก้ความโหวงว่างบางอย่างในใจที่รู้สึกอยู่นี้ให้หายได้บ้าง
พี่ต้อม-เป็นเอกเคยบอกว่ายุคนี้คือ “lost generation” อ่านครั้งแรกก็ถึงกับตกใจ แต่เอาจริงก็ไม่ค่อยจะแปลกใจ เพราะถึงจะใช้คำเดียวกัน แต่นัยของคำ ๆ นี้คงต่างจากที่ปาป้าใช้ค่อนข้างมาก คนรุ่น 20s สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างจากสงคราม ทั้งความฝัน ความหวัง และการใช้ชีวิต แต่คนรุ่นเราเสียมันไปเพราะอะไร ๆ ก็มากเกินไป และเร็วเกินไปจนเหมือนมันไม่มีอะไรสักอย่างที่จับต้องได้
สูญเสียอะไรบางอย่าง ทั้ง ๆ ที่มีสิ่งรอบข้างเต็มไปหมด
ผมนึกถึงบรรยากาศตอนนั้นสมัยยังเรียนอยู่ สมัยที่ชีวิตยังไม่มีเรื่องขาดทุน หรือกำไร สมัยที่อะไร ๆ ก็เชื่องช้าจนเราไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง ความทรงจำดี ๆ คงเป็นยาบรรเทาอะไรบางอย่าง ความเป็นฝรั่งเศสจาง ๆ ในหม้อคงพอคลายความสับสนให้กับชีวิตได้นิดหน่อย ตุ๋นสักพักคงได้ที่ น่าจะทันดูนัดชิงคืนนี้พอดี ผมคงนอนหลับฝันดีถ้าฝรั่งเศสชนะ
แม้จะผวาตื่นกลางดึก และหวาดกลัวเสียงปลุกไปทำงานในบางเช้าก็เถอะ…”
(18 ธันวาคม 2022)
3.
กรุ่นกาแฟกลิ่นหอมทำหน้าที่ไดอารี่หน้าเก่า หวนให้นึกถึงความขมนิด ๆ ของประสบการณ์ยังระเหยเอาความเจ็บปวดไปไม่หมด คงต้องรออีกซักพัก มันอาจจะบ่มจนพอดีให้หอมหวนเข้มข้นและลงตัว แต่ก็มีเสน่ห์บาง ๆ ของมันอยู่
เสน่ห์แบบที่เจอครั้งเดียวก็เกินพอ
ระหว่างนั้นผมเลยลองขังตัวเองไว้ในห้องเช่าเหม็นอับราคาถูกแล้วเขียนอะไรสักอย่างดู ไม่แน่ใจว่าจะทำให้ผมเป็นศิลปินใหญ่ได้จริง ๆ อย่างที่คาดหวังไว้หรือเปล่า
แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นจริงไหมล่ะครับ?
โฆษณา