11 พ.ค. 2023 เวลา 11:04 • ข่าว

การจับกุมอิมราน ข่าน อาจเป็นจุดเริ่มต้นยุคมืดของระบอบประชาธิปไตยในปากีสถาน??

กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกไปในทันที เมื่ออิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ที่ถูกขับออกจากตำแหน่งจากการแพ้โหวตไม่ไว้วางใจในสภาตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 ถูกกองกำลังทหารบุกเข้าจับกุมขณะที่เขากำลังจะไปฟังคำตัดสินของศาลสูงในกรุงอิสลามาบัด เมื่อวันอังคารที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น และฟอกเงินจากกองทุนจัดตั้งมหาวิทยาลัยศาสนา ที่ชื่อว่า Al-Qadir University Trust
1
การบุกจับกุมปาดหน้าศาลครั้งนี้ เป็นไปตามหมายจับของสำนักตรวจสอบบัญชีแห่งชาติ ที่ได้ดำเนินการสืบสวนคดีของ Al-Qadir University Trust เต็มไปด้วยความชุลมุม วุ่นวาย จนทรัพย์สินสาธารณะแตกกระจาย การ์ดประจำตัว และ ทนายของอิมราน ข่าน ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ
ถึงแม้ว่าตัวอดีตผู้นำปากีสถาน ก็มีด้านที่ไม่ค่อยดีนัก แต่สิ่งที่คาใจชาวปากีสถาน และ ชาวโลกที่ติดตามข่าวอย่างมาก คือ กองทัพปากีสถานจะยกกองกำลังนับร้อย เพื่อไปจับกุมอิมราน ข่าน ให้ดูยิ่งใหญ่ออกสื่อไปทำไม ในเมื่ออิมราน ก็ติดคดีรุงรังเป็นหางว่าวเกือบ 100 คดี ตั้งแต่คดีคอร์รัปชั่น ฉ้อโกง ไปจนถึงดูหมิ่นศาสนา ที่เขาต้องขึ้นโรง ขึ้นศาลเป็นประจำอยู่แล้ว จะแจ้งข้อหาเพิ่มอีกสักคดี ก็แค่ไปนัดเจอตัวอิมราน ข่าน และ ทนายประจำตัวที่ศาลก็น่าจะพอแล้ว
แม้แต่อิมราน ข่าน ยังออกมากล่าวว่า "ถ้าใครจะจับตัวผม ส่งหมายจับมาสิครับ หรือส่งให้ทนายของผมก็ได้ ตอนนี้ผมก็เข้าๆ ออกๆคุกอยู่แล้ว ถ้าแพ้คดี ผมเดินเข้าคุกเอง"
และอีกประเด็นหนึ่งที่จุดกระแสความไม่พอใจให้ชาวปากีสถานทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนอิมราน ข่าน เท่านั้น คือ ทำไมต้องใช้กองกำลังทหารไปจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ นั่นมันหน้าที่ตำรวจไม่ใช่หรือ???
3
ทำให้ชาวปากีสถานจำนวนมากมองว่า นี่เป็นคดีที่ใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมือง มากกว่าเนื้อหาคดีที่เอาผิดอดีตผู้นำปากีสถานจริงๆ และเปรียบการจับกุมอิมราน ข่าน ในวันนี้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคมืดของระบอบประชาธิปไตยในปากีสถาน
2
คดี Al-Qadir University Trust เกิดขึ้นจากคำสัญญาของ อิมราน ข่าน และ บุศรา บิบิ ภรรยาของเขา ที่จะก่อตั้งมหาวิทยาลัยศาสนาระดับสูงในรัฐปัญจาบ เมื่อเขาชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำปากีสถาน และเขาก็ทำได้จริงๆ โครงการสร้างมหาวิทยาลัย อัล-คาเดียร์ ในรัฐปัญจาบจึงเริ่มขึ้นทันทีในปี 2019 โดย อิมราน ได้ตั้งกองทุน Al-Qadir University Trust เพื่อระดมทุนในการก่อสร้างมหาวิทยาลัย
4
ต่อมามีตัวละครที่เพิ่มเข้ามาในโครงการนี้คือ มาลิก รีอาซ เจ้าของบริษัท Bahria Town ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชนรายใหญ่ที่สุดของปากีสถาน ได้บริจาคเงินหลายพันล้านรูปี และที่ดินเข้ากองทุน Al-Qadir University Trust แลกกับสัมปทานโครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้
1
แต่สิ่งที่แลกเปลี่ยนไม่ใช่แค่สัปทาน แต่พบหลักฐานว่า อิมราน ข่าน และ มาลิก รีอาซ ใช้กองทุนก่อสร้างมหาวิทยาลัยเป็นทางผ่านของการฟอกเงินจากอังกฤษ และยังป้องกันไม่ให้ มาลิก รีอาซ ถูกตรวจสอบ ดำเนินคดีข้อหาฟอกเงินในสมัยของอิมราน ข่าน
1
สำนักตรวจสอบบัญชีชี้ว่า การยักยอก ฟอกเงิน ในกองทุน Al-Qadir University Trust อาจทำให้รัฐบาลปากีสถานเสียหายไม่น้อยกว่า $239 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งอาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เพราะตั้งแต่เปิดมหาวิทยาลัยมา ก็มีนักศึกษามาลงทะเบียนเรียนแค่ 120 คน และ เปิดสอนเพียง 2 สาขาเท่านั้น คือ การจัดการทั่วไป และ อิสลามศึกษา
จึงนำไปสู่การตั้งข้อหา และออกหมายจับอิมราน ข่าน และ ภรรยา ในข้อหาทุจริตกองทุน Al-Qadir University Trust ในวันนี้ ที่ตัวคดีนั้นเข้าใจได้ แต่สิ่งที่ชาวปากีสถานไม่เข้าใจคือ จะเอาทหารมาเกี่ยวทำไม?
ในระบบการเมืองของปากีสถาน เป็นที่รู้กันว่า ฝ่ายกองทัพนั้นมีอิทธิพลเหนือสถาบันการเมืองมาโดยตลอด และหากผู้นำปากีสถานต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ต้องดึงฝ่ายกองทัพมาเป็นพันธมิตรให้ได้ แม้แต่อดีตผู้นำ อิมราน ข่าน ก็เช่นกัน
จนกระทั่ง การถูกขับออกจากตำแหน่งจากการโหวตไม่ไว้วางใจอิมราน ข่าน ในสภา ไม่ได้เกิดจากการพลิกขั้วทางการเมืองของฝ่ายบริหารแต่เพียงด้านเดียว แต่เกิดจากการแตกแยกระหว่างอิมราน กับ พันธมิตรฝ่ายกองทัพด้วย จนนำไปสู่การเทอิมราน ข่าน ให้หลุดจากตำแหน่ง
2
และเมื่ออิมราน ข่าน ปลุกมวลชนลุกขึ้นสู้ และประกาศที่จะลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้นำปากีสถานในสมัยหน้า เขาโดนตั้งข้อหาในคดีนับไม่ถ้วนแล้วเกือบ 100 คดี และเคยเกือบสิ้นชีพจากความพยายามในการลอบสังหารเขาด้วยซ้ำไป เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ขณะเดินสายประท้วงรัฐบาลที่รัฐปัญจาบ
จึงทำให้ อิมราน ข่าน ถูกยกให้เป็นตัวแทนของผู้ต่อต้านสถาบันกองทัพในการเมืองปากีสถาน และมีผู้สนับสนุนในประเทศมากมาย จนกระทั่งเขาถูกจับกุมด้วยกองกำลังทหาร ที่หน้าศาลสูงกลางกรุง ซึ่งสายข่าวต่างประเทศมองว่า เป็นเกมที่พลาดของฝ่ายกองทัพ และรัฐบาลปากีสถาน เพราะสื่อให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทั้งรัฐบาล และ หน่วยงานยุติธรรม ยังเคลื่อนไหวภายใต้การชี้นำของกองทัพ ดังนั้นต่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลผ่านกระบวนการเลือกก็อาจไม่ใช่คำตอบที่ชาวปากีสถานต้องการก็ได้
การประท้วงเดือด จึงเกิดขึ้นทั่วเมืองใหญ่ในปากีสถาน และยังทวีความรุนแรงต่อเนื่อง มีการเผาบ้านพักส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี เชห์บาซ ชารีฟ ที่เมืองลาฮอร์ ซึ่งรัฐบาลปากีสถานก็ประกาศจะตอบโต้ผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงเช่นกัน จนตอนนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 8 คน และ ถูกจับกุมไปกว่า 1400 คนแล้ว
2
หากสถานการณ์ยังคงบานปลายเช่นนี้ ความแตกแยกอาจจะยากที่จะผสานกันได้เหมือนเดิม เมื่อถามว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของยุคมืดของปากีสถานจริงๆหรือเปล่า ก็อาจจะไม่เชิงนัก เพราะมันอาจจะเริ่มมานานแล้วก็เป็นได้ เมื่อหลักนิติธรรมถูกใช้โดยผู้มีอำนาจจนความจริงบิดเบือน กระแสสังคม จึงกลายเป็นดาบ 2 คม ที่บาดเจ็บลึกทั้งกับผู้ที่ลงดาบ และ ผู้ที่รับดาบ
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Tiktok - @HunsaraByJeans
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
แหล่งข้อมูล
โฆษณา