29 พ.ค. 2023 เวลา 12:31 • สิ่งแวดล้อม

"น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาเรื่องรังระดับชาติ"

กรุงเทพแผ่นดินงอก ชาตากรรมที่ตรงข้ามกับจังหวัดอื่น
1
ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาเรื้อรังระดับชาติที่กินเวลามาอย่างยาวนาน ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว 3,151 กม. จำนวนนี้กำลังเผชิญปัญหาการกัดเซาะราว 705 กม. คิดเป็น 22% ของชายฝั่งทั้งประเทศ เกิดในทุกจังหวัดที่ติดทะเล
การกัดเซาะชายฝั่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1 การกัดเซาะแบบชั่วคราว ส่วนใหญ่เกิดเป็นปกติในช่วงฤดูมรสุม เมื่อหมดช่วงมรสุมคลื่นขนาดเล็กจะหอบนำทรายกลับมาเป็นวัฏจักร
แต่เมื่อสมดุลทางธรรมชาติที่สวยงามนี้ถูกแทรกแซงโดยส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การตัดป่าชายเลน-ป่าชายหาด รุกล้ำชายฝั่งเพื่อทำนากุ้งและสร้างสิ่งปลูกสร้างริมทะเล ทำให้เกิดการกัดเซาะอีกแบบหนึ่งนั่นคือ
2 การกัดเซาะแบบถาวร เมื่อคลื่นปะทะกับสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ คลื่นเกิดการเลี้ยวเบนไปปะทะกับพื้นที่รอบๆ ทำให้การกัดเซาะบริเวณดังกล่าวยิ่งรุนแรง
ซุ้มเสมาของโบสถ์วัดโคมนารามหลังเก่า ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
การแก้ปัญหามี 2 วิธีหลักๆ ได้แก่
1 วิธีการทางวิศวกรรม เช่น เขื่อนกันคลื่น กำแพงกันคลื่น วิธีเหล่านี้มักใช้กับพื้นที่ชุมชนริมทะเล
ข้อจำกัดของวิธีเหล่านี้อยู่ตรงที่เขื่อนหรือกำแพงกันคลื่น ก็เป็นสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ ทำให้การกัดเซาะรอบๆ ข้างสิ่งปลูกสร้างรุนแรงยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเขื่อนหรือกำแพงกันคลื่นยาวต่อกันไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้โครงสร้างทางวิศวกรรมยังทำให้สูญเสียทัศนียภาพของหาด ไม่เหมาะกับหาดที่เป็นแหล่งการท่องเที่ยวทางทะเล (เว้นแต่จะใช้ท่องเที่ยวศึกษาด้านวิศวกรรม) และยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศริมชายฝั่ง
เขื่อนกันคลื่น / กำแพงกันคลื่น / เตตระพอด
2 วิธีที่ไม่ใช่วิศวกรรม เช่น การปลูกป่าโกงกาง ป่าชายหาด การปลูกพืชคลุมดิน การถมทราย การจำกัดสิ่งปลูกสร้างและกำหนดระยะถอยร่นทางชายฝั่ง แน่นอนว่าต้องมีการเวนคืนที่ดิน
การจะเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบใด ขึ้นอยู่กับประเภทและลักษณะของชายฝั่ง
ในกรุงเทพฯ ชายฝั่งบางขุนเทียนมีปราการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย นั่นคือ
การปลูกป่าชายเลนเพื่อเป็นแนวสลายคลื่น นับตั้งแต่พ.ศ. 2559 ทางกรุงเทพฯ และภาคประชาชนร่วมกันหารือ และปลูกป่าชายเลนมาอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีพื้นที่ราว 230 ไร่
การปลูกป่าชายเลนที่บางขุนเทียน มีลักษณะต่างจากที่อื่นคือ ปลูกในท่อซีเมนต์ขนาดเล็ก หรือกระบอกไม้ไผ่ ทำให้ต้นโกงกางอยู่รอดหากคลื่นลมซัดแรง และระยะหลังมีการปลูกต้นโกงกางมากกว่า ซึ่งโตเร็วกว่าต้นแสม
ประกอบกับการปักไม้ไผ่และเสาไฟฟ้าที่ปลดการใช้งานแล้ว ทำให้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ป่าชายเลนยังทำให้เกิดการตกตะกอนจนแผ่นดินงอกกลับมาราว 20 - 80 ซม.
อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะบริเวณพื้นที่บางส่วนที่ไม่ได้ปลูกป่าชายเลน
รวมถึงบริเวณคลองที่ไหลลงสู่ทะเล เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีการป้องกันที่น้อยลงมา หากไม่สามารถแก้ได้โดยเร็ว ชายฝั่งบางขุนเทียนอาจถูกน้ำทะเลกัดกินจากภายใน
ประกอบกับการที่จังหวัดเพื่อนบ้านอย่างสมุทรปราการก็ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ที่ติดชายฝั่งทะเล
ทั้งนี้ ปัญหาที่ทุกจังหวัดเผชิญเหมือนกันมีหลายประการ ทั้งการไม่เข้าใจธรรมชาติของหาดในพื้นที่จนแก้ปัญหาไม่ถูกจุด หรือมองพลวัตรตามธรรมชาติของหาดว่าเป็นปัญหา
ตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อนกันคลื่นในชายฝั่งที่มีการกัดเซาะแบบชั่วคราว ทำให้การกัดเซาะชั่วคราวแปรเปลี่ยนเป็นการกัดเซาะแบบถาวร
รวมถึงการที่ภาครัฐยังไม่มีการกำหนดนโยบายอย่างจริงจัง ส่งผลให้หน่วยงานรัฐแก้ปัญหากันอย่างไร้ทิศทาง ขาดความเป็นเอกภาพ สร้างโครงสร้างทับซ้อนกันจนโครงสร้างหนึ่งอาจไปลดทอนประสิทธิภาพของอีกโครงสร้างหนึ่งได้
(ภาพจาก tcijthai.com)
ไม่มีการจำกัดสิ่งปลูกสร้างริมชายฝั่ง ไม่มีการกำหนดระยะถอยร่นจากการกัดเซาะชายฝั่ง ความล่าช้าของระบบราชการ และท้องถิ่นก็มีงบไม่เพียงพอในการดำเนินงานเอง
นอกจากนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อม พายุคลื่นลมที่แนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น อาจทำให้ต้องหาวิธีการใหม่ๆ มาใช้แก้ไขปัญหา
จะเห็นว่าปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ ประกอบไปด้วยปัญหาย่อยๆ มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาทางการจัดการและการปกครอง ทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน
บทเรียนที่ได้จากชายฝั่งบางขุนเทียนเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ที่ คือความสามารถในการดำเนินงานของท้องถิ่น การแก้ปัญหาให้ถูกจุดเหมาะสมกับลักษณะชายฝั่ง และการมีส่วนร่วมจากประชาชน ทำให้บางขุนเทียน กรุงเทพฯ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนที่สุด
อ้างอิง :
โฆษณา