12 พ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

What happened to Monday รู้จักกับ “Malthusian growth model”

เมื่อยุคหนึ่งในอดีตเราเคยกลัวประชากรล้นโลก
What Happened To Monday หนังที่ว่าด้วยโลกอนาคตช่วงปี 2073 ที่เกิดวิกฤติประชากรล้นโลก จนทรัพยากรเริ่มขาดแคลน รัฐบาลก็เลยต้องออกกฎหมายให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้แค่ 1 คน แต่ดันมีครอบครัวหนึ่งที่บังเอิญได้ลูกแฝดพร้อมกันทีเดียวถึง 7 คน
ดังนั้นครอบครัวจึงตัดสินใจตั้งชื่อเด็กด้วยชื่อวันทั้ง 7 ภายใต้ตัวตนเดียวที่ชื่อ Carren Settman แล้วให้แต่ละคนออกนอกบ้านในวันที่ตรงกับชื่อของตนเองเท่านั้น เพื่อไม่ให้รัฐบาลจับได้ แต่อยู่มาวันหนึ่ง Monday ได้หายตัวไป และภารกิจตามหาเธอก็เริ่มต้นขึ้น
เรื่องราวในหนังฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่คงไม่มีวันเกิดขึ้นจริง ถ้ามองจากมุมมองในปี 2023 ที่เรากำลังเผชิญกับภาวะสังคมสูงวัย อัตราการเกิดน้อยลงเสียด้วยซ้ำ
แต่รู้หรือไม่ว่าในยุคหนึ่ง ก็เคยมีนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าโลกอาจจะล่มสลายเพราะประชากรล้นโลก ทรัพยากรมีไม่เพียงพอ คนอาจต้องล้มตาย
นักเศรษฐศาสตร์คนนั้นคือ คุณ Thomas Malthus กับทฤษฎี Malthusian growth Model
📌 Malthusian growth model คืออะไร?
ต้องขอเล่าก่อนว่าคุณ Thomas Malthus นั้นอยู่ในช่วงยุคศตวรรษที่ 18 ในช่วงนั้นนักปรัชญาหลายๆ คนเชื่อว่าสังคมมนุษย์จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และก้าวเข้าสู่ยุคยูโทเปียในสักวัน
แต่คุณ Malthus กลับเห็นตรงกันข้าม เขาได้ตีพิมพ์หนังสือของเขาขึ้นในปี 1798 ชื่อ “An Essay on the Principle of Population as It Affects the Future Improvement of Society”
โดยมุมมองจากการสังเกตของเขาในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เขามองว่าพื้นที่กสิกรรมที่มีอยู่จะไม่มีทางเพียงพอสำหรับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแบบ Exponential ในขณะที่อาหารเพิ่มขึ้นแบบคงที่
1
ดังนั้นโลกจะต้องไปถึงจุดๆ หนึ่งที่จำนวนประชากรมากกว่าจำนวนอาหารที่ผลิตได้ ทำให้มนุษย์ต้องตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร สิ่งที่จะทำให้ทุกอย่างกลับมาสู่ระดับปกติได้ก็คือ การเกิดสงคราม การล้มตายเนื่องจากขาดแคลนอาหาร และการยับยั้งชั่งใจไม่มีลูกเพิ่มเยอะๆ แต่งงานช้าลง มีการวางแผนครอบครัว
📌 แต่ทฤษฎีนี้กลับไม่เป็นจริง เพราะ Malthus ลืมนึกถึงบางอย่างไป
ทฤษฎีของคุณ Malthus เริ่มเสื่อมความน่าเชื่อถือลงเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา ทำให้สมมติฐานของเขาไม่เป็นจริงอีกต่อไป
ต้องขอบคุณเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีได้เข้าไปปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สามารถผลิตอาหารได้ในระดับที่มากขึ้นกว่าการผลิตในระดับพออยู่พอกินแบบเดิมๆ ทั้งเทคนิคการเพาะปลูก การใช้สารเคมี และการตัดแต่งพันธุกรรมใหม่ๆ ทำให้โลกเราก็เลยไม่ได้ไปสู่จุดเลวร้ายที่คุณ Malthus เคยกังวล
และอีกสิ่งหนึ่งที่คุณ Malthus ไม่รู้มาก่อนคือ ยุคโลกาภิวัฒน์ทำให้แม้ว่าประเทศเราจะมีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด มีพื้นที่เพาะปลูกที่จำกัด แต่การส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการต่างๆ ที่สะดวกขึ้น ก็ทำให้เรามีอาหารเพียงพอกับจำนวนประชากร ทั้งยังทำให้การบริโภคสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
📌 แรงบันดาลใจสู่ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ
ถึงแม้ว่าทฤษฎีของคุณ Malthus จะถูกหักล้างไปในที่สุด แต่มันก็ได้จุดประกายให้เกิดทฤษฎีอันโด่งดังหนึ่งขึ้นมา คือ ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ของคุณ Charles Darwin
ด้วยความที่มองว่าเมื่อทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดทำให้สิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ต้องแข่งขันกันเพื่ออยู่รอด ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อให้อัตราการรอดชีวิตดีขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
ถึงแม้ว่าในวันนี้ ประชากรจะไม่ได้ล้นโลกอย่างที่คุณ Malthus กังวล แต่ตรงกันข้าม กลับเป็นปัญหาประชากรลดลงแทน ที่สร้างความกังวลใจให้แก่นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ
แต่สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้ผ่านเรื่องนี้คือ สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็จะพยายามดิ้นรน คิดค้นวิธีเพื่อให้สามารถอยู่รอดบนโลกนี้ต่อไปได้อยู่ดี และการดิ้นรนเหล่านั้น ก็อาจจะนำมาสู่แนวคิดใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นได้…
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone
'วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา