12 พ.ค. 2023 เวลา 11:49 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Futures of Digital Identity

การพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัลกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ยึดโยงไปสู่ประเด็นสำคัญอื่น ทั้งสิทธิในฐานะประชากร การใช้จ่ายแบบไร้เงินสด และร่องรอยดิจิทัลในฐานะบุคคลและผู้บริโภค
มีรายงานชี้ให้เห็นว่าหากประเทศหนึ่งสามารถกระตุ้นให้ประชาชนอย่างน้อย 70% ของประชากรทั้งหมดมีตัวตนดิจิทัล ประเทศดังกล่าวจะสามารถเข้าใกล้ขีดสุดของศักยภาพทางเศรษฐกิจได้เพิ่มมากขึ้นถึง 50 - 70%
มีการคาดการณ์ว่าการพิสูจน์ตัวตนดิจิทัลทั่วโลกในปี ค.ศ. 2026 จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยอัตราการเติบโตถึง 103% ในระยะการคาดการณ์ปี ค.ศ. 2021 - 2026 และถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีวิธีการยืนยันตัวตนดิจิทัลหลายวิธี เช่น การรับรองความถูกต้องโดยหลายปัจจัย (Multi-factor authentication) หรือการใช้ข้อมูลชีวมิติ (Biometrics) ยกตัวอย่างเช่น ใบหน้า ม่านตา เสียง หรือลายนิ้วมือ เป็นต้น
ถึงกระนั้น พบว่ายังมีเหตุการณ์การปลอมแปลงและอาชญากรรมทางข้อมูลและตัวตนดิจิทัลเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการแพทย์ มีรายงานว่าอาชญากรรมดิจิทัลเฉพาะในวงการแพทย์ปี ค.ศ. 2021 เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 2020 ถึง 71%
งานวิจัยของ Foresigth Center by ETDA ได้ฉายภาพการคาดการณ์อนาคตของการพิสูจน์ตัวตนของประเทศไทยในปี ค.ศ. 2032 ไว้ 4 ภาพ ได้แก่
1. Smart Proof of Existence ภาพอนาคตในทิศทางที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบัน ข้อมูลส่วนบุคคล การทำธุรกรรม และการรับบริการรัฐได้รับการบันทึกและจัดเก็บในบัตรอัจฉริยะ (Smart Card) มีฐานข้อมูลกลางที่ทำให้ข้อมูลของทุกหน่วยงานเชื่อมโยงกันอย่างครบถ้วน มีมาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูง ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตและทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกสบาย องค์กรเอกชนได้ประโยชน์จากการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานรัฐได้รับความเชื่อมั่นในการสร้างความปลอดภัยภายในประเทศได้
2. Synergy on Authentication ภาพอนาคตที่พึงประสงค์ ร่างกายของผู้คนถูกฝังด้วยชิป (Biometric Chip) ทำให้สามารถระบุและยืนยันตัวตนบุคคลได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระด้านกระบวนการและเอกสารลง โดยมีมาตรฐานเดียวกันทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังช่วยลดโอกาสการแอบอ้างหรือฉ้อโกง ทำให้การเดินทางและการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
3. All of Us Are Digitized ภาพอนาคตในโลกใหม่ที่กฎกติกาไม่เหมือนเดิม การพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัลที่ทั้งยึดโยงกับตัวตนในกายภาพได้อย่างสมบูรณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีขอบเขตชัดเจนและลื่นไหล เพศ ศาสนา และจริยธรรมบางอย่างของตัวตนในดิจิทัลอาจไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริงของตัวตนทางกายภาพ นำไปสู่บรรทัดฐานใหม่ในการกำหนดกฎระเบียบ สิทธิความเป็นเจ้าของ บทลงโทษการกระทำผิด และระบบเศรษฐกิจที่มีผลทั้งเฉพาะที่และเชื่อมโยงระหว่างโลกดิจิทัลและโลกกายภาพ
4. Battle of My Identity ภาพอนาคตที่ไม่พึงประสงค์ ฉายให้เห็นภาพอนาคตที่ตัวตนดิจิทัลหรืออวาทาร์ที่เป็นอิสระจากตัวตนจริงในโลกกายภาพ ไม่สามารถตรวจสอบหรือยึดโยงกับตัวตนทางกายภาพได้ นำไปสู่การแย่งชิงตัวตนดิจิทัล การละเมิด การคุกคาม การฉ้อโกง การแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้
ทำให้บทบาทของเศรษฐกิจดิจิทัลถูกลดทอนลงเพราะการทำธุรกรรมดิจิทัลขาดความน่าเชื่อถือ การพัฒนาเชิงความคิดและนวัตกรรมเป็นไปอย่างล่าช้าเพราะนวัตกรขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ เนื่องจากปัญหาการถูกแย่งชิง สวมรอย และการแอบอ้างความเป็นเจ้าของ
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ภาคธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการเข้าถึงตัวตนดิจิทัลและข้อมูลความเป็นส่วนตัวของบุคคลมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การออกกลยุทธ์เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคยินยอมให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่แบรนด์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
- การโจรกรรมข้อมูลตัวตนดิจิทัลจะกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ของผู้ใช้งานเทคโนโลยี ทั้งในลักษณะที่เป็นข้อมูลดิบ ข้อมูลบัญชีการใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมไปถึงข้อมูลพฤติกรรมและการบริโภค
- การกำหนดผู้รับผิดชอบการฝังแผนชิปชีวมิติเพื่อเชื่อมตัวตนกายภาพและตัวตนดิจิทัลของประชาชนเข้าด้วยกัน อาจนำไปสู่การถกเถียงเรื่องความเหมาะสมและผลประโยชน์แอบแฝงที่ผู้รับผิดชอบโครงการจะได้รับจากสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นอันจะได้มาระหว่างกระบวนการ
อ้างอิงข้อมูลจาก:
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://www.blockdit.com/futuretaleslab
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofLiving #DigitalIdentity #MQDC
โฆษณา