15 พ.ค. 2023 เวลา 00:02 • หนังสือ

คนที่ทำงานผิดพลาด อาจไม่มีโอกาสอธิบายเหตุผลที่แท้จริง

ในภาพยนตร์หรือซีรี่ส์หลายเรื่องที่มีฉากหมอแจ้งข่าวร้ายกับญาติหรือเพื่อนของผู้เสียชีวิต พวกเขามักโกรธเกรี้ยว หรือถึงขั้นชกต่อยหมอด้วยความไม่พอใจ
ฉากทำนองนี้เป็นฉากที่ผมสับสนกับความรู้สึกตัวเองมาตลอดว่าควรเห็นใจใครกันแน่ เพราะในฐานะที่เคยเป็นญาติของผู้เสียชีวิตมาก่อน ก็พอจะเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงโกรธขนาดนั้น
ดังนั้นสิ่งที่ผมยังคงต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็คือความรู้สึกของคนเป็นหมอครับ ซึ่งถูกถ่ายทอดเอาไว้ได้ดีมากในหนังสือ “Seven Signs of Life” หรือ “มนุษย์หมอ”
หนังสือเล่มนี้บอกเล่าถึงความรู้สึก 7 แบบตลอดชีวิตการเป็นแพทย์แผนกฉุกเฉินของผู้เขียน หนึ่งในบทที่เผยด้านมืดของการเป็นหมอได้ชัดเจนที่สุดก็คือบทที่เกี่ยวกับ “ความกลัว”
ผู้เขียนเธอเล่าว่าในแผนกฉุกเฉินนั้นเป็นธรรมดาที่คนไข้จะรู้สึกกลัว แต่หลายคนก็คิดไม่ถึงว่าหมอเองก็กลัวด้วยเหมือนกัน แต่บรรดาหมอจะมีวิธีจัดการกับความกลัวด้วยการบอกคนไข้ว่า “ไม่ต้องห่วง ทุกอย่างจะเรียบร้อยดี”
เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ความกลัวไม่มีประโยชน์กับใครเลย ถ้าคนไข้กลัวจนคลุ้มคลั่งก็อาจทำให้หมอเสียสมาธิ ในขณะที่หากหมอเสียสมาธิ ก็อาจส่งผลต่อการรักษา
แต่ในความเป็นจริงแม้หมอจะบอกคนไข้ว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย หมอเองก็ไม่รู้หรอกครับว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยจริงไหม หมอก็แค่พยายามทำให้คนไข้สงบลงเพื่อควบคุมสถานการณ์ครับ
ผู้เขียนเธอเล่าให้ฟังว่าเคยรักษาคนไข้ชื่อปีเตอร์ เธอบอกปีเตอร์ไปตามบทว่า “ทุกอย่างจะเรียบร้อยนะ เราทุกคนมาเพื่อช่วยคุณ” แต่ปีเตอร์ที่กำลังกังวลมากก็ถามเธอต่อว่า “เป็นปกติไหมที่จะกลัว” เธอตอบว่า “ปกติสิ” ไม่รู้ว่าปีเตอร์จะสงบลงบ้างไหมที่รู้ว่ามีอย่างน้อย 1 อย่างที่ปกติในสถานการณ์แบบนี้
หลังจากวางยาสลบและกำลังเตรียมผ่าตัด ปีเตอร์ก็หัวใจวายโดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ มาก่อน เธอไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ลัดขั้นตอนใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ทุกการรักษาล้วนมีความเสี่ยงไ ม่ว่าจะรอบคอบแค่ไหนก็ตาม
เธอเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเธอแกร่งพอไหมที่จะบอกคนไข้ว่า “ทุกอย่างจะเรียบร้อย” ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่มีอะไร 100% นี่ถือเป็นการโกหกหรือเปล่า
หลังจากตกผลึกกับตัวเองสักพัก เธอก็เข้าใจว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะกลัว จะเศร้า หรือรู้สึกยังไง วันรุ่งขึ้นหมอก็ต้องเผชิญกับสายตาหวาดกลัวของคนไข้อีกอยู่ดี คนไข้บางคนอาจหวาดกลัวจนแทบบ้า แล้วคุณมีทางเลือกอื่นจริง ๆ หรือ นอกจากกุมมือคนไข้แล้วบอกว่า “ทุกอย่างจะเรียบร้อยดี”
ข้อคิดที่ผมได้จากการอ่านบทดังกล่าวก็คือ “คนที่ทำงานผิดพลาด อาจไม่มีโอกาสอธิบายเหตุผลที่แท้จริง” แน่นอนครับผมไม่ได้หมายความว่าหมอที่รักษาชีวิตไม่ได้คือหมอที่ทำผิดนะครับ
แต่ผมสังเกตว่าหลายคนชอบโวยวายคนทำผิดว่า “เห้ย! ทำไมสะเพร่าแบบนี้” ทั้งที่จริงแล้วเขาอาจมีเหตุผลที่จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ได้ เพียงแต่เขาไม่มีโอกาสอธิบายเท่านั้นเอง
ผมเคยทำงานร้านขนมร้านนึงที่ตู้ไอศกรีมเก่า จึงมีไอศกรีมบางรสที่อุณหภูมิไม่ถึง เพราะงั้นเวลาตักไปเสิร์ฟมันจะละลายเร็วมาก แน่นอนว่ามันไม่ใช่ความผิดของลูกค้าที่จะโวยวายใส่ผม แต่คำถามที่ผมถามตัวเองบ่อยมากเลยก็คือ “นี่เป็นความผิดผมจริงหรือ?”
ถ้าจะให้ผมอธิบายกับลูกค้าล่ะก็ ลืมมันได้เลยครับ แล้วถ้าจะให้ผมบอกเจ้าของร้านให้เปลี่ยนตู้ไอศกรีมอีกเป็นครั้งที่ 20 หรือขอให้เขางดขายไอศกรีมรสดังกล่าว ก็ลืมได้เลยเช่นกัน
เพราะงั้นเลยอยากฝากทุกคนไว้ครับว่า บางทีหากคนอื่นทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง แล้วมันไม่ได้สร้างความเดือดร้อนอะไรรุนแรง ก็ให้ลองคิดดูครับว่า ถ้าสมมุติเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของคนคนนั้น มันอาจมีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลังได้บ้าง บางทีเหตุผลที่คุณคิดออกอาจทำให้คุณเห็นใจพวกเขาแทนที่จะโกรธก็ได้นะครับ
ชื่อหนังสือ: #SevenSignsofLife #มนุษย์หมอชื่อสำนักพิมพ์: #CactusPublishing
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น
โฆษณา