19 พ.ค. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

EP.9: สรุปภาวะตลาดและมุมมองการลงทุน โดย บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) - พฤษภาคม 2566

ภาพรวมตลาดในเดือนที่ผ่านมา – เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง จับตามองการเมืองหลังเลือกตั้งใหญ่
1
- ภาพรวมตลาดเดือนเมษายน นักลงทุนให้ความสำคัญกับปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปและการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งเป็นหลัก ด้านเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ภาคบริการยังเติบโตจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวหลังจากวิกฤต Covid-19 การส่งออกกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 27,654 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม จากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท
- การบริโภคภายในประเทศก็มีสัญญาณเร่งตัวขึ้น จากตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ปรับเพิ่มขึ้น และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำมาที่ระดับ 60.4 จุด ในเดือนเมษายน จากยอดการสั่งซื้อ การผลิต และการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นมากในเดือนเมษายน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตเร่งการผลิตเพื่อเตรียมรองรับการบริโภคที่จะเร่งตัวขึ้นในระยะต่อไป
- สถานการณ์เงินเฟ้อเดือนเมษายนปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.83% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า แต่เร่งตัวขึ้นเล็กน้อย 0.19% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ซึ่งโดยรวมเงินเฟ้อปรับลดลงมาอยู่ในกรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว และมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม จากการเปรียบเทียบกับระดับเงินเฟ้อที่สูงในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (Base Effect)
อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อมีโอกาสเร่งตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ การส่งต่อต้นทุนสินค้าของผู้ผลิตที่สะสมในช่วงที่ผ่านมา และค่าจ้างที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • ตลาดตราสารหนี้ :
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.13% หลังจากนักลงทุนบางส่วนเริ่มปรับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะต่อไปขึ้น โดยคาดว่าธปท. จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 2.00% (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.75%) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และมีโอกาสปรับขึ้นต่อไปจนถึงระดับ 2.25%-2.50% ได้ หากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (credit spread) อายุ 5 ปี อันดับความน่าเชื่อถือ A ปรับเพิ่มขึ้น 0.06% ปิดที่ 1.29%
- สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี ปรับลดลงเล็กน้อย 0.05% ปิดที่ 3.42% โดยระหว่างเดือนเคลื่อนไหวผันผวนตามสภาวะตลาดการเงินเป็นหลัก โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังออกมาดี ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของเดือน ก่อนจะปรับลดลงตามความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์ในภาคธนาคาร หลังจากธนาคาร First Republic Bank ถูกเข้าควบคุมกิจการโดยบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) อีกราย
■ ตลาดตราสารทุน :
- SET Index ณ สิ้นเดือนเมษายน ปิดที่ระดับ 1,529 จุด ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ -5% (เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ซึ่งถือเป็นการลดลงรายเดือนสูงสุดในรอบ 10 เดือน โดยหลักๆ มาจากการปรับตัวลดลงของหุ้น DELTA ถึง 37% (เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ซึ่งมีผลต่อดัชนีหุ้นฯ กว่า 39 จุด หลังรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2023 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์
ในขณะที่ภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังได้รับ Sentiment เชิงลบจากปัจจัยต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศหลักๆ ทั่วโลก ทำให้มีกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น และยังเห็นนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ระดับเกือบ 8 พันล้านบาทในเดือนนี้
มุมมองการลงทุน
■ มุมมองการลงทุนตราสารหนี้ :
AIA Investments ปรับน้ำหนักในการลงทุนในตราสารหนี้ลงมาเท่ากับตัวชี้วัด หลังจากช่วงที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงมาค่อนข้างมากแล้ว จากปัญหาในภาคธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลง นอกจากนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ก็มีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อไปและสูงกว่าระดับ 2% ที่นักลงทุนคาดไว้ก่อนหน้า จึงแนะนำให้หาจังหวะเข้าซื้อเพิ่มเติมในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้นไป
■ มุมมองการลงทุนตราสารทุน :
- มุมมองการลงทุนหุ้นในตลาดต่างประเทศ : ความกังวลเรื่อง Credit Crunch หลังจากธนาคารสหรัฐฯ ล้มละลาย เพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น ส่งผลให้ Fund Flow ไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ในขณะที่ธนาคารกลางหลักๆ ของโลกยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอีกครั้ง ดังนั้น AIA Investments ยังคงมุมมองระมัดระวังในการลงทุนหุ้นต่างประเทศ
- มุมมองการลงทุนหุ้นในตลาดไทย: มองเป็นโอกาสซื้อสะสม เพราะดัชนีฯ ปรับตัวลงมาอยู่แถวกรอบล่างที่ AIA Investments ประเมินไว้ (1,550-1,750 จุด) โดย AIA Investments เชื่อว่าภาคท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประกาศผลการดำเนินงานงวด ไตรมาส1/2023 ของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงผลการเลือกตั้งและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของคณะรัฐบาลชุดใหม่
■ คำแนะนำการลงทุน
ตราสารทุน : รักษาวินัยการลงทุน สะสมการลงทุนในตราสารทุนเพื่อเป้าหมายการลงทุนระยะยาว โดยทยอยปรับสัดส่วนการลงทุนเข้าสู่เป้าหมายระยะยาว
ตราสารหนี้ : ตลาดยังมีความผันผวนสูง ควรรักษาสภาพคล่องเพื่อหาจังหวะทยอยลงทุนในตราสารทุน ในขณะเดียวกัน ยังควรถือตราสารหนี้เพื่อจำกัดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน
แหล่งข้อมูล: “สรุปภาวะตลาดและมุมมองการลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2566” โดย AIA Investments และ บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) ณ วันที่ 28 เมษายน 2566 ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป ผู้ใช้ต้องใช้ความระมัดระวังด้วยวิจารณญาณและรับผิดชอบในความเสี่ยงต่างๆ ด้วยตนเอง
เริ่มวางแผนการเงินระยะยาว กับบริการผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลการลงทุน AIA InvestPro และ บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) ผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน เอไอเอ ยูนิต ลิงค์ ที่เหมาะกับคุณได้แล้ววันนี้ติดต่อตัวแทน เอไอเอ หรือดูรายละเอียดได้ที่ : https://www.aia.co.th/th/our-products/save-invest/unit-linked
คำเตือน:
• ผู้ขอเอาประกันภัยควรทำความเข้าใจรายละเอียด เงื่อนไข ความคุ้มครองและข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัย รวมทั้งศึกษาทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
• ข้อกำหนดและเงื่อนไขของความคุ้มครองจะระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้กับผู้ถือกรมธรรม์
• การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/topics/6322a4b8ae66c7433c8d5007

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา