19 พ.ค. 2023 เวลา 02:18 • ความคิดเห็น

Every Hero Needs Villain

เวลาเราชื่นชมใครมากๆ ว่าเป็นวีรบุรุษในดวงใจ เป็นฮีโร่ นั้นอาจจะมาจากหลายสาเหตุหลายเหตุผล จากความดี ความเก่งของบุคคลๆนั้นเอง จากสถานการณ์ที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจ หรือจากความถูกใจในความคิดความอ่านและการกระทำ
รวมถึงเหตุการณ์หรือวิกฤตที่เขาเข้ามาแก้ไข แต่องค์ประกอบสำคัญหนึ่งที่ทำให้ฮีโร่โดดเด่นมาตั้งแต่มีประวัติศาสตร์โลกเขียนขึ้นมาแต่หลายคนมองข้ามก็คือ คู่ต่อสู้ ศัตรู
หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Villain นั่นเอง….
ยิ่งคู่ต่อสู้ ศัตรู ชั่วร้าย เก่งและเลวมากแค่ไหน ฮีโร่ผู้ที่ต้องฝ่าฟันความอยุติธรรม การต่อสู้ที่ยากลำบาก การตกเป็นรองสุดกู่แต่รวบรวมพลังใจกลับมา หรือความอดทนเหนือมนุษย์เพื่ออุดมการณ์
แล้วเอาชนะหรือกำลังต่อสู้กับเหล่าร้ายนั้นก็จะได้รับคำชื่นชม แรงใจ จนถึงความรักความศรัทธามากกว่าฮีโร่ปกติที่ไม่มีตัวร้ายมาเทียบ ตัวร้ายจึงเป็นขุมพลังที่สำคัญของฮีโร่อย่างคิดไม่ถึง
คิดจาก Superhero ตามชื่อโดยตรงเราก็จะนึกถึง ไอร่อนแมน ที่โดดเด่นเพราะต้องสู้กับธานอสผู้ทรงพลัง มีทั้งความแข็งแกร่งที่เหนือกว่า มีอาวุธที่ร้ายกว่า และมีอุดมการณ์แตกต่างกัน แบทแมน เจอกับโจ๊กเกอร์ที่ทั้งโรคจิตและชั่วร้ายโดยกมลสันดาน แถมฉลาดเป็นกรด
ทำให้แบทแมนยิ่งแข็งแรงและอึดขึ้นไปอีก ลุค สกายวอร์คเกอร์ กับ ดาร์ด เวเดอร์ที่เป็นพ่อและเป็นดาร์คลอร์ดที่แสนเก่งและชั่วร้าย แฮรี่ พอตเตอร์กับลอร์ด วอร์เดอร์มอร์ ผู้สร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้คน แต่แฮรี่ก็ใช้ความกล้าหาญ ความดีเอาชนะจนได้
ตัวละครเหล่านี้ถ้าไม่มีผู้ร้ายที่โดดเด่นและร้ายจนคนดูต้องกลั้นหายใจว่าทำไมร้ายแบบนี้ ความสงสาร แรงใจและความประทับใจถึงการเอาชนะของตัวเอกหรือฮีโร่ก็คงไม่มากเท่าที่เรารู้สึกเอาใจช่วยอย่างสุดใจ
ตัวร้ายในหนังก็อาจจะดูเป็นรายบุคคล แต่ตัวร้ายในชีวิตจริงที่ส่งเสริมฮีโร่นั้นมีหลายรูปแบบ มหาตมะ คานธี ผู้ที่ต้องใช้อหิงสาต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษที่ทั้งยิ่งใหญ่ ทั้งรังแกคนอินเดียมานับสิบปี เนลสัน แมนเดล่า ผู้นำที่ทั้งโลกยกย่องก็ต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมในคุก 27 ปีก่อนต้องมาต่อกรกับการแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) ที่กดขี่คนผิวสีมาอย่างยาวนาน ความกล้าหาญของสาวน้อย Malala ที่ยืนหยัดสู้กับตาลีบันอันโหดเหี้ยมจนถูกยิง
เกรตต้า ทันเบิร์ก วัยรุ่นที่ยืนซดกับรัฐบาลประเทศใหญ่ๆของโลกเรื่องปัญหาโลกร้อน อองซานซูยีที่ต่อสู้กับเผด็จการในพม่ามาอย่างยาวนาน มาร์ติน ลูเธอร์คิง ที่ต่อสู้ในเรื่อง Civil Right จนโดนยิงจนเสียชีวิต ตัวร้ายอาจจะมาในรูปตัวบุคคลหรือระบบที่เลวร้าย ความอยุติธรรม ปัญหาใหญ่ๆของคนหมู่มาก ยิ่งร้ายเท่าไหร่ ฮีโร่ก็ยิ่งโดดเด่นเท่านั้น
ความสัมพันธ์ของฮีโร่กับตัวร้ายนี้เป็นเรื่องเล่า เป็นตำนานมาตั้งแต่มนุษย์บันทึกประวัติศาสตร์ในสมัยโบราณ เหตุผลหลักๆที่ทำให้เรื่องราวของฮีโร่กับวิลเลี่ยนนั้นโดนใจคนทั้งโลกนั้นมีปัจจัยหลายประการ
ประการแรกการมีความขัดแย้งและอุปสรรคนั้นทำให้เรื่องราวน่าตื่นเต้น ทำให้ฮีโร่ต้องฮึด ต้องเอาชนะความกลัว ต้องพัฒนาตัวเอง ต้องฝ่าฟันด่านต่างๆเพื่อเอาชนะตัวร้ายให้ได้ ฮีโร่ที่ไม่มีผู้ร้ายเลยนั้นดูออกจะน่าเบื่อไม่น้อย
ประการที่สอง ปมขัดแย้งเรื่องคุณธรรม (Moral Contrast) ตัวร้ายมักจะมีความเชื่ออยู่ตรงข้ามฮีโร่ มักจะมาแนวคิดขี้โกง สร้างความปั่นป่วน และมีขุมอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่า ทำให้ฮีโร่ต้องต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะความชั่วร้ายนั้น ซึ่งจะได้ใจคนส่วนใหญ่ที่ไม่ชอบความอยุติธรรมหรือความเลวร้ายต่างๆ
ประการที่สาม ผู้ร้ายเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้ฮีโร่ต้องทำอะไรซักอย่าง เพราะถ้าไม่ทำอะไรก็จะมีคนเดือดร้อน เช่นสัตว์ประหลาดจะทำลายเมือง หรือตัวร้ายในหนังกำลังวางแผนจะสังหารคนหมู่มาก ทำให้ฮีโร่ต้องยอมสละความสุขส่วนตัวแล้วออกมาปกป้องส่วนรวม
นึกถึงสไปเดอร์แมนก็อาจจะเห็นภาพชัดขึ้นเพราะสไปเดอร์แมนเป็นวัยรุ่นที่อยากจะไปเฮฮากับเพื่อนๆ แต่ต้องออกมาปกป้องโลกเพราะมีผู้ร้ายมาก่อกวน ไม่งั้นก็ไปใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่นไปแล้ว
ประการที่สี่ ตัวร้ายมักจะได้ความสนใจของผู้คน ตัวร้ายในหนังที่ร้ายมากๆ คนดูจะจำได้แม่น ทั้งกลัว ทั้งเกลียด ทั้งหมั่นไส้ พูดอะไรก็น่าชังไปหมด ทั้งไม่รู้ว่าจะปราบได้ยังไง แล้วก็เลยต้องเอาใจช่วยฮีโร่ไปตลอดทาง ทำให้คนดู คนเชียร์จะรักฮีโร่มากเป็นพิเศษด้วยความจำแม่นถึงตัวร้ายที่แสนร้ายนั้น
ประการที่ห้า ทั้งฮีโร่และตัวร้ายเป็นเสมือนสัญลักษณ์แทนความเชื่อ ความศรัทธา ในเรื่องใหญ่ๆของมนุษย์ ตัวร้ายอาจจะเป็นตัวแทนของคอร์รับชั่น ความโลภ เผด็จการ หรือความมืดของมนุษย์ ในการที่จะเอาชนะตัวร้าย ฮีโร่ก็จะเป็นตัวแทนของความดีชนะความชั่ว ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและความหวังว่าซักวันหนึ่งธรรมะย่อมจะชนะอธรรม เป็นความรู้สึกลึกๆของมนุษย์ทุกคน
ที่ว่ามนุษย์ทุกคนจริงๆ เพราะมีผู้ใหญ่เคยพูดเรื่องนึงที่น่าสนใจว่า แม้แต่คนที่ติดคุกจากการกระทำความผิดไม่ว่าน้อยใหญ่ เวลาดูละครในคุก ทุกคนก็เชียร์พระเอกนางเอกทั้งนั้น ไม่มีใครเชียร์ตัวร้ายซักคน
ในมุมขององค์กร เราเรียนรู้อะไรในเรื่องนี้ได้บ้าง ถ้าเราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างฮีโร่กับผู้ร้ายได้ว่า การที่มีทั้งสองขั้วนั้นขับความเป็นฮีโร่ได้โดดเด่นขึ้นมากนั้น การหา “ผู้ร้าย” ในองค์กรในทางบวกก็น่าจะทำให้ทีมงานตื่นเต้น คึกคัก หลายคนก็อาจจะอยากเป็นฮีโร่เองเลยด้วยซ้ำ บางทีองค์กรก็อาจจะพบ Higher Purpose จากไอเดียแบบนี้ก็ได้
ผู้ร้ายที่ว่านั้นก็อาจมาในรูปของ ปัญหาความเดือดร้อนของลูกค้า เช่นการปล่อยเงินกู้ลูกค้าเพื่อให้ไปแทนเงินกู้นอกระบบอันแสนโหดร้าย ความพยายามช่วยการถูกเอารัดเอาเปรียบของร้านอาหารเล็กๆในช่วงโควิด (กรณีโรบินฮู้ด) การรักษาไฟให้ส่องสว่างในซอยยามค่ำคืนเพื่อป้องกันเหตุร้าย ป้องกันโจรผู้ร้ายให้ประชาชน (กทม การไฟฟ้า) การสู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา (Teach for Thailand) เป็นต้น
ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตัว ดูการเมืองก็ครึ้มๆ ดีเหมือนกันนะครับ…
โฆษณา