20 พ.ค. 2023 เวลา 11:31 • ประวัติศาสตร์

หรือบิดาแห่งการแพทย์แผนใหม่คือชายที่ชื่อ “อิมโฮเทป (Imhotep)”

ในประวัติศาสตร์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งการแพทย์แผนใหม่” คือแพทย์ชาวกรีกโบราณนามว่า “ฮิปพอคราทีส (Hippocrates)”
แต่มีชายอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ในยุคก่อนฮิปพอคราทีสเกือบ 2,000 ปี และอาจจะเหมาะสมกับฉายานี้มากกว่าฮิปพอคราทีส
ชายผู้นั้นคือ “อิมโฮเทป (Imhotep)”
อิมโฮเทป (Imhotep)
อิมโฮเทปคือชายชาวอียิปต์โบราณผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์หลายด้าน และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความเจริญหลายๆ อย่างในยุคอาณาจักรเก่าของอียิปต์
1
นอกจากจะเป็นแพทย์แล้ว อิมโฮเทปยังเป็นเหมือนมือขวาขององค์ฟาโรห์ และยังเป็นผู้ออกแบบพีระมิดอีกด้วย
แต่สิ่งที่ทำให้ชื่อของอิมโฮเทปโดดเด่น และทำให้เกิดบทความนี้ขึ้นมา ก็คือเรื่อง “การแพทย์”
ในบทความนี้ เราจะพูดถึงอัจฉริยะภาพของอิมโฮเทป และทำไมเขาอาจจะเหมาะสมกับตำแหน่ง “บิดาแห่งการแพทย์แผ่นใหม่”
ลองมาดูกันครับ
สำหรับประวัติของอิมโฮเทปนั้น เขาเกิดเมื่อราว 2,700 ปีก่อนคริสตกาล และก็ได้ไต่เต้าจากคนธรรมดา เข้าไปดำรงตำแหน่งที่สำคัญในยุคอียิปต์โบราณในรัชสมัยของ “ฟาโรห์โจเซอร์ (Djoser)”
สำหรับชีวิตช่วงต้นของอิมโฮเทป ก็ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เป็นไปได้ที่เขาอาจจะมาจากครอบครัวขุนนาง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่ทำให้อิมโฮเทปโดดเด่น เหนือคนอื่นๆ ก็คือความสามารถที่มีรอบด้าน
อิมโฮเทปนั้นสามารถทำให้ฟาโรห์โจเซอร์ไว้วางพระทัย และแต่งตั้งให้อิมโฮเทปเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ
แต่ตำแหน่งแรกของอิมโฮเทปก็น่าจะเป็น “นักบวช” ก่อนที่จะทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่ฟาโรห์โจเซอร์ ซึ่งก็ทรงไว้วางพระทัยในตัวอิมโฮเทปอย่างมาก ทรงให้อิมโฮเทปช่วยในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจไปจนถึงเรื่องกฎหมาย
ฟาโรห์โจเซอร์ (Djoser)
สำหรับงานแรกที่สร้างชื่อให้อิมโฮเทป ก็คือความสามารถด้านสถาปัตย์ของเขา
ต้องเล่าก่อนว่าในยุคนั้น ฟาโรห์นั้นคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวอียิปต์ เป็นเหมือนเทพเจ้า และตามความเชื่อนั้น เมื่อฟาโรห์สวรรคต ดวงพระวิญญาณก็จะเดินทางไปยังโลกหลังความตาย
ดังนั้นการฝังพระบรมศพจึงเป็นเรื่องสำคัญ และก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฟาโรห์ในยุคแรกจึงทุ่มเททุกสิ่งอย่างในการสร้างพีระมิดอย่างยิ่งใหญ่เพื่อใช้เป็นที่เก็บพระบรมศพ
ก่อนรัชสมัยฟาโรห์โจเซอร์ พระบรมศพองค์ฟาโรห์จะถูกเก็บไว้ในสุสานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งภายในประกอบด้วยห้องเก็บพระบรมศพ และห้องอื่นๆ ที่ใช้เก็บทรัพย์สมบัติขององค์ฟาโรห์ ซึ่งสุสานนี้เรียกว่า “แมสตาบา (Mastaba)”
แมสตาบา (Mastaba)
แต่ฟาโรห์โจเซอร์ก็ทรงคิดว่าแมสตาบาทั่วๆ ไปไม่น่าจะใหญ่พอที่จะเก็บสมบัติทุกอย่างที่พระองค์ทรงคิดจะนำไปยังโลกหลังความตาย ดังนั้น พระองค์จึงมีรับสั่งให้สถาปนิกฝีมือดีที่สุดออกแบบสุสานใหม่
2
และสุสานใหม่นี้เองจะโด่งดัง และกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของอียิปต์
1
ก่อนหน้าที่ฟาโรห์โจเซอร์จะมีรับสั่งให้อิมโฮเทปสร้างสุสานหลวงถวายพระองค์ การก่อสร้างนั้นมักจะไม่ค่อยใช้หินซักเท่าไร ถ้าใช้หิน ก็มักจะเป็นหินผสมกับโคลน
บ้านและอาคารสมัยอียิปต์โบราณมักจะทำมาจากอิฐที่ทำจากโคลน บวกกับไม้
แต่ดูจากลักษณะสุสานหลวงที่ฟาโรห์โจเซอร์ทรงต้องการ อิมโฮเทปก็คิดว่าการก่อสร้างโดยใช้วัสดุแบบเดิมไม่น่าจะได้ น่าจะต้องแหวกธรรมเนียมการสร้างแบบเดิม
สุสานหลวงนี้ ลักษณะห้องภายในจะไม่ต่างจากแมสตาบา แต่ส่วนที่ครอบห้องเหล่านี้ไว้จะต่างออกไป
อิมโฮเทปออกแบบพีระมิดให้มีลักษณะเป็นชั้นๆ ต่อเนื่องกัน ทำให้สุสานนี้ดูอลังการ
หลังจากก่อสร้างเสร็จ พีระมิดก็มีความสูงกว่า 202 ฟุต (ประมาณ 61 เมตร) ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในยุคนั้น และกลายเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและติดอยู่ในประวัติศาสตร์จนถึงทุกวันนี้
นอกจากความสามารถด้านสถาปัตย์แล้ว อิมโฮเทปยังโดดเด่นในด้านวิชาการแพทย์ และต่อมาเมื่อเวลาผ่านมานับพันปี หลายคนก็ยกย่องให้เขาเป็นเทพเจ้าแห่งการรักษา
ชาวอียิปต์เชื่อว่าหากฝันเห็นอิมโฮเทป หากคนผู้นั้นเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ ก็จะหายจากอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
แต่อันที่จริง อิมโฮเทปนั้นไม่ใช่ผู้วิเศษ เขาศึกษาทุกอย่างผ่านวิทยาศาสตร์ โดยเขาจะบันทึกการรักษาของตน และต่อมา หลังจากที่อิมโฮเทปเสียชีวิตไปนับพันปี ก็ได้มีการพบบันทึกของอิมโฮเทป และทำให้นักประวัติศาสตร์เห็นได้ว่าเขานั้นเป็นอัจฉริยะโดยแท้
3
เอกสารบันทึกของอิมโฮเทปเป็นที่รู้จักในนาม “Edwin Smith Papyrus” และเป็นม้วนบันทึกที่อิมโฮเทปใช้จดสิ่งที่ตนค้นพบ รวมทั้งวิธีการรักษาอาการบาดเจ็บต่างๆ กว่า 48 รายการ และแต่ละอย่างก็ดูเป็นการรักษาแบบสมัยใหม่ มีการใช้หลักการแพทย์อย่างจริงจัง ไม่ใช่ไสยศาสตร์หรือคาถาใดๆ
1
ในบันทึกนี้มีศัพท์ทางการแพทย์กว่า 100 คำ รวมทั้งเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึง “สมอง”
1
ต่อมา ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่าง 664-525 ปีก่อนคริสตกาล ได้มีการสร้างวิหารอุทิศแก่อิมโฮเทป ซึ่งผู้ที่สร้างก็น่าจะเป็นผู้อพยพชาวกรีกในอียิปต์ และเริ่มมีการบูชาอิมโฮเทปตั้งแต่นั้นมา
ในศตวรรษต่อๆ มา ชื่อเสียงของอิมโฮเทปก็โด่งดังยิ่งขึ้น ดังไปไกลนอกอียิปต์ ผู้แสวงบุญจากทั่วอียิปต์เดินทางมายังวิหารของอิมโฮเทป และมีการนำชื่อของอิมโฮเทปไปใส่ในบทสวดด้วย
จะเห็นได้ว่าอิมโฮเทปนั้นยิ่งใหญ่จากผลงานที่ตนสร้างขึ้น แต่คำถามคือ เขาเหมาะสมกับฉายา “บิดาแห่งการแพทย์แผนใหม่” จริงหรือ? ดูเหมือนว่านักประวัติศาสตร์หลายคนจะไม่คิดอย่างนั้น
ข้อที่หนึ่ง ถึงแม้ว่านักบวชเช่นอิมโฮเทปจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะของผู้ที่รักษามนุษย์ หากแต่นามของอิมโฮเทปก็ไม่เคยถูกบันทึกในฐานะแพทย์เฉกเช่นคนอื่นๆ
1
ฮิปพอคราทีส (Hippocrates)
อีกข้อก็คือ ถึงแม้ว่า Edwin Smith Papyrus จะมีความเกี่ยวข้องกับอิมโฮเทป หากแต่เอกสารฉบับนี้ก็ได้เขียนขึ้นหลังจากอิทโฮเทปเสียชีวิตไปแล้วนับร้อยปี ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายคนก็เห็นตรงกันว่า Edwin Smith Papyrus น่าจะลอกมาจากบันทึกที่อิมโฮเทปเป็นผู้เขียน แต่เอกสารที่อิมโฮเทปเป็นคนเขียนจริงๆ หลายฉบับก็ได้สูญหายไปแล้ว จึงไม่มีหลักฐานที่จะมายืนยันให้แน่ชัดได้
ด้วยความที่ปราศจากหลักฐานที่แน่ชัดเช่นนี้ ทำให้ฮิปพอคราทีสถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์แผนใหม่ ไม่ใช่อิมโฮเทป เนื่องจากฮิปพอคราทีสนั้นมีหลักฐานที่เด่นชัดกว่า
1
และนี่ก็คือเรื่องราวของอิมโฮเทป อัจฉริยะแห่งอียิปต์โบราณ
1
โฆษณา