22 พ.ค. 2023 เวลา 22:01 • สุขภาพ

มีโรคที่มีพาหะเป็น "คาปิบารา" ด้วยหรอ?

พอดีว่าเมื่อเดือนก่อนผมกับแฟนได้มีโอกาสไปเที่ยวสวนสัตว์แห่งหนึ่งแถบภาคใต้ ซึ่งสวนสัตว์ดังกล่าวก็มีการจัดแสดงสวนสัตว์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้า "คาปิบารา" ที่ผมชอบมากๆ ชอบในความหน้ามึนของมัน เราให้อาหารคาปิบารา แต่แล้วขนของมันก็ทำให้แฟนผมมีแผลเลือดออกที่มือ(งงมาก ขนอะไรจะคมขนาดนั้น) ด้วยความเป็นเภสัชเหมือนกัน ก็เลย panic กันสุดๆ ว่าจะเป็นนั่นเป็นนี่ โชคดีที่แฟนผมไม่เป็นอะไร แต่กับคนที่บราซิล อาจไม่ได้เป็นแบบนั้น
คาปิบาราเป็นสัตว์ฟันแทะเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่มีถิ่นฐานอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ และด้วยเหตุนี้เองทำให้ในแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศบราซิล มีเจ้าคาปิบาราอยู่เยอะมาก
โดยในปี 2019 ได้มีการตีพิมพ์รายงานการระบาดของโรคที่ชื่อว่า Brazilian spotted fever (BSF) โดยพาหะหลักเป็นเห็บชนิด Amblyomma sculptum ซึ่งเห็บชนิดดังกล่าวมักเกาะอยู่กับ "คาปิบารา" เป็นส่วนใหญ่ โดยที่โรค Brazilian spotted fever (BSF) เกิดจากเชื้อ Rickettsia rickettsii ซึ่งเป็นเชื้อที่มากับเห็บชนิดดังกล่าว โดยอาการส่วนใหญ่ที่พบคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ มีผื่นแดงตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
แผนที่แสดงตำแหน่งที่มีการเก็บข้อมูลโรค BSF
โดยจากการเก็บข้อมูล ตั้งแต่ปี 2001 ถึง 2018 มีผู้เสียชีวิตจากโรค BSF จำนวน 489 ราย แม้จะไม่ใช่จำนวนที่มากมายเมื่อเทียบกับระยะเวลาและประชากรของบราซิล แต่ดูจากการกระจายของประชากร คาปิบารา ไปยังทุกทวีปทั่วโลกตอนนี้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ต้องขออธิบายก่อนว่าจริงๆแล้ว เชื้อในกลุ่ม Rickettsia เป็นเชื้อที่พบอยู่แล้วในสัตว์ฟันแทะทั่วโลก โดยในไทยรู้จักกันในหลายชื่อ แล้วแต่อาการและสายพันธุ์ เช่น Rickettsial pox ,Brill-Zinsser disease และโรค scrub typhus(โรคไข้รากสาดใหญ่) นอกจากนี้ ยังต้องระวังโรคพื้นฐานจากสัตว์ฟันแทะ ซึ่งก็พบในไทยเป็นปกติอย่างเช่นโรคพิษสุนัขบ้า(สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) และโรคฉี่หนู เป็นต้น
ส่วนน้องๆคาปิบาราที่สวนสัตว์ในไทยมีการรับเข้ามาจัดแสดง ก็มีกระบวนการตรวจโรคและการทำความสะอาดอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นขั้นเป็นตอน ทำให้เราสามารถเล่นกับน้องๆได้อย่างสบายใจในระดับนึง
โรค BSF สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่ม tetracycline แต่ที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่ไม่อยากได้รับโรคดังกล่าวหรือโรคอื่นๆ เมื่อไปเล่นกับเจ้าคาปิบารา คือล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังสัมผัสกับเจ้าคาปิบารา เท่านี้ก็จะสามารถป้องกันการได้รับเชื้อได้ระดับหนึ่ง และหากมีอาการป่วยหลังจากไปสัมผัสกับคาปิบาราหรือสัตว์ฟันแทะต่างๆ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
อ้างอิง
Luz HR, Costa FB, Benatti HR, Ramos VN, de A. Serpa MC, Martins TF, et al. (2019) Epidemiology of capybara-associated Brazilian spotted fever. PLoS Negl Trop Dis 13(9): e0007734. https://doi.org/10.1371/journal.pntd.0007734
โฆษณา