20 พ.ค. 2023 เวลา 02:42 • ความคิดเห็น

สองประเภทของคนไม่มีเวลา

ประเภทแรก คือคนที่มีภาระหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องทำงานสองกะเพื่อให้มีเงินพอใช้เดือนชนเดือน มีญาติผู้ใหญ่นอนติดเตียงให้ต้องดูแล ไม่มีกำลังจ้างแม่บ้านเลยต้องทำงานบ้านทุกอย่างด้วยตัวเอง
ถ้าไม่มีเวลาแบบนี้ ต่อให้มี time management techniques ดีๆ ก็อาจไม่ช่วยอะไร เพราะมันไม่ใช่เรื่องการจัดการเวลา แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ลำดับล่างสุดของสังคมลืมตาอ้าปาก คนกลุ่มนี้อาจไม่เคยนึกถึง work-life balance ด้วยซ้ำ เพราะโจทย์สำคัญของเขาคือการอยู่รอด
ส่วนคนไม่มีเวลาประเภทที่สอง คือคนที่มี discretionary time หรือมีเวลาที่เลือกได้ว่าจะเอาไปทำอะไร แต่เขาเลือกที่จะใช้ discretionary time นี้ไปกับกิจกรรมมากมายในชีวิต เช่นออกกำลังกาย เรียนป.โท ลงคอร์สต่างๆ สังสรรค์กับเพื่อน ดูเน็ตฟลิกซ์ ทำงานหนักหน่วง รับจ๊อบเสริม เริ่มทำธุรกิจส่วนตัว แถมยังอยากเป็นสามีที่ดี เป็นแม่ที่เพอร์เฟ็กต์อีกด้วย
คนกลุ่มนี้ก็จะรู้สึกว่าไม่มีเวลา แต่ที่รู้สึกว่าเวลาไม่เคยพอก็เพราะว่าเราเลือกเอง ไม่เหมือนคนกลุ่มแรกที่ไม่มีเวลาเพราะไม่มีทางเลือก
คนที่มี discretionary time แต่ยังเลือกที่จะใช้ชีวิตให้ยุ่งตลอดเวลานั้นสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการศึกษา time management ด้วยการนั่งคุยกับตัวเองว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ และอะไรคือสิ่งที่เราพร้อมจะตัดออกไปจากชีวิตและยอมรับได้กับผลลัพธ์ที่จะตามมา (หรือที่จะหายไป)
2
ผมเดาว่า "คนไม่มีเวลา" ที่อ่านบล็อกนี้อยู่น่าจะเป็นประเภทที่สองเสียส่วนใหญ่ ขอให้เราตระหนักไว้ว่าเราเป็นคนโชคดี ที่ยังมีโอกาสคิดเรื่อง work-life balance และหาทางออกให้กับความไม่มีเวลานี้ได้ด้วยตนเองครับ
-----
ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ Saving Time: Discovering a Life Beyond the Clock by Jenny Odell
โฆษณา