20 พ.ค. 2023 เวลา 09:16 • ไลฟ์สไตล์

ตอนที่ 1 : ความไม่เข้าใจ 🥀 🥀 “สร้างบาดแผล”

หากพูดถึงคำว่า "รัก" เชื่อว่ามนุษย์แต่ละคน คงให้ความหมายและค่าน้ำหนัก ต่อสิ่งที่เรียกว่ารักนั้นต่างกัน การแสดงออกทางความรักบางครั้งคนเรายังปฏิบัติไม่เหมือนกันเลย
สาเหตุของการทะเลาะกันในความสัมพันธ์ บางครั้งเกิดจาก "ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน" ของคนสองคน แม้ทั้งคู่จะรักกัน ปราถนาดีต่อกัน แต่กลับไม่เข้าใจถึงการกระทำของอีกฝ่าย มันก็ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตเคียงข้างไปด้วยกันต่อได้
เพราะทั้งคู่ ต่างก็ไม่เคยได้มานั่งคุยกัน ว่าสิ่งที่ทำไปนั้น เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า "รัก" แต่มันจะใช่ รักจริง ๆ หรือเปล่านั้น ก็ต้องดูการตอบสนองต่อการกระทำของเราด้วย
.
หากสิ่งที่เราทำ คือ ความรักที่แท้จริง ไฉนผลของมัน กลับได้เป็น "การปฏิเสธ" และเกิด "ความขัดแย้ง" กลับมาจากคนที่เรารัก
ทั้ง ๆ ที่ใคร ๆ ต่างก็ต้องการความรักกันทั้งนั้น
.
มนุษย์เราเติบโต และถูกเลี้ยงดูมาแตกต่างกัน ครอบครัวและบริบทของสภาพแวดล้อมโดยรอบ ต่าง "สั่งสมเป็นประสบการณ์" ให้คน ๆ หนึ่ง “จดจำและเข้าใจ” ว่า
สิ่งไหนที่เรียกว่า... "รัก"
สิ่งไหนที่เรียกว่า... "ไม่รัก"
"ในรูปแบบของเค้า" 🎑
.
มันเป็นกระบวนการของการเรียนรู้ ที่เราเก็บเอาเข้ามาไว้ในสมองและจิตใจมา "ตั้งแต่ยังเล็ก" 👶💘 เราไม่เคยรู้เลยว่า การกระทำใดการกระทำหนึ่ง ที่เราแสดงออกไปเพราะเรา "รัก" เค้า มันสามารถไปทำร้าย คนอีกคนหนึ่งได้
เพราะการรับรู้ของเค้าอีกคนนั้น ไม่ได้มองว่า นั่นเป็นวิธีการแสดงออกทางความรักที่ดี ที่เขาสมควรได้รับ
🌼ความรักในรูปแบบของเค้า
จึง "ไม่ได้เป็นเหมือน" กับรูปแบบความรัก
ที่เราเข้าใจ🌼
.
เมื่อไม่เข้าใจการกระทำของกันและกัน มันก็เหมือนกับการที่เราสื่อสารกันคนละคลื่นความถี่ แม้เราจะพูดภาษาเดียวกัน พูดเรื่องเดียวกัน
แต่...สัญญาณของวิทยุมันไม่ได้จูนเข้าหากัน ไม่สามารถแปรผลออกมาให้เข้าใจตรงกันได้ ย่อมทำให้เกิด "การสื่อสารที่ผิดพลาด" พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจกันเสียที 😥⛈️🕳️
.
.
💮ตัวอย่างที่จะทำให้เราเข้าใจบริบทนี้มากขึ้น
.
ยกตัวอย่าง เช่น
มีครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่มักจะดุด่าลูก ตีลูกบ่อย ๆ เพราะว่าลูกทำผิด หรือ ไม่เป็นไปตามแบบฉบับลูกในอุดมคติ ดั่งที่ตนคาดหวังไว้ จึงว่ากล่าว ลงโทษลูกอย่างนั้น เพื่อสอนให้เขารู้ และ ไม่ทำเช่นนั้นอีก
หรือมักไม่ชื่นชมลูก เมื่อลูกได้รับรางวัล หรือ สร้างผลงานชิ้นเอกที่เขาภูมิใจ เพียงเพราะไม่อยากให้เขากลายเป็นคนที่ ชอบการยกยอปอปั้น หรือส่งเสริมไปในทางที่ไม่ดี ได้ใจเกินไป จนเสียคนในอนาคต
.
ในความมุมมองของพ่อแม่คนนั้น พวกเขาถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการแสดงออกทางความรักอย่างนึง เพราะเป็นห่วงลูก ไม่อยากให้ลูกกลายเป็นคนที่ไม่ดี ไม่เป็นไปตามที่พวกเขาคาดหวัง
แต่หากเรากลับบริบทกัน มองในมุมมองของความเป็นลูก เมื่อไม่ได้รับการทะนุถนอม เอาใจใส่อย่างอ่อนโยน มีเรื่องอะไร พ่อแม่ก็ใช้แต่ความคิดของตนเป็นหลัก โดยไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกของลูกเลย ใช้ความรุนแรงและอารมณ์เป็นหลัก
มันจึงกลายเป็นว่า ตัวเด็กเอง
เค้าจะรับรู้ได้ว่า พ่อแม่นั้นไม่เคยรักตนเลย 😥
.
แม้พ่อและแม่ของเขา จะพร่ำบอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำไป ก็เพราะรักลูก แต่เปล่าเลย จริง ๆ แล้ว พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่า ตนนั้น กำลังใช้อำนาจในการสอนลูก เป็นเครื่องมือในการเยียวยาบาดแผลความกลัวจากอดีตของตนเองอยู่ โดยที่ตนก็ไม่เคยรู้ตัวเลย
เพราะหากพวกเขา "ไม่มีความกลัว" ที่ติดอยู่ในใจ พวกเขาจะ "ไม่มีทาง" บังคับ ข่มเหง หรือใช้อารมณ์ กำลังกับลูก ๆ ของพวกเขาอย่างแน่นอน เขาจะต้องเข้าใจลูก เอาใจใส่ลูก เมื่อมีปัญหา ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ จา ถ้อยทีถ้อยอาศัย
ใช้เหตุผล สลับกับการถามความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มิใช่ไม่ฟังลูก ยกตนเป็นใหญ่ ทะเลาะกัน เสียงดัง บ้านแตก แล้วก็จบลงด้วยความเสียใจ เสียน้ำตากันทั้งคู่
.
พ่อแม่เหล่านี้ แท้จริงแล้ว พวกเขาต้องการเพียงพื้นที่ที่ปลอดภัย เพื่อให้พวกเขาสบายใจ ให้ลูกเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย สามารถควบคุมได้ วางใจได้ เมื่อไม่พอใจกับสิ่งที่เหนือการควบคุม
พวกเขาก็ไม่สนใจเลยสักนิดว่าลูก ๆ ของพวกเขาจะรู้สึกเช่นไร ได้แต่ทำตามความต้องการของตนอยู่ฝ่ายเดียว แม้จะบอกว่าทำเพื่อลูก
.
การแสดงออกทางความรัก ของคนเรา มันสามารถสะท้อนให้เราเห็นได้ว่า แท้จริงแล้ว เรามีความหวาดกลัวอะไร อยู่ภายในใจ พ่อแม่กลัวลูกกลายเป็นคนที่พวกเขาไม่ชอบ พวกเขาไม่ต้องการจะเห็น
มันจึงกลายเป็นว่า เผลอไปบังคับ ควบคุมเค้า หรือ ไม่ได้ดูแล ใส่ใจเค้ามากเท่าที่ควรจะเป็น มันจึงส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง มากกว่า เกิดความสามัคคีกันภายในครอบครัว
.
ทั้งที่สถาบันทางครอบครัวควรจะเป็น สถาบันแรก ที่จะเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการสอนความรัก ความเมตตาที่ดีงามให้แก่กันได้ สร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ดีงาม รู้จักให้ความรักกับตนเอง ให้กับผู้คน ได้อย่างเหมาะสม และ เที่ยงธรรม
มิใช่สอนลูกด้วยความรักที่อยู่บนพื้นฐานของความกลัว ความกังวลของตนมากเกินพอดี เพราะมันจะส่งผลที่ไม่ได้ดีต่อสภาพกายและใจกับคนที่เป็นลูกเป็นแน่แท้
.
ในบางกรณีที่ร้ายแรง ลูกยังเล็กไม่รู้ความมากนัก ลูกก็อาจเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ไปกระทำกับคนอื่น ๆ ต่อ ก็สามารถเป็นได้ โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่รู้ตัวเลยว่าตนมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่น่ารัก
อันเป็นผลพวงมาจากการกระทำของพ่อแม่ที่เคยกระทำต่อพวกเค้าไว้ จริง ๆ แล้วปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวพวกเขาเองเลย แต่กลับเป็น สภาพแวดล้อมรอบตัวที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาเหล่านั้นบีบครั้นให้กลายเป็นคนที่มีนิสัยเช่นนี้
ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว พ่อและแม่ของเขาอาจจะรักเขามาก แต่อาจจะรัก และห่วงลูกแบบผิดวิธี จึงเผลอสอนลูก จนลูกกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมตัวเขาเองก็อาจไม่ได้ชอบใจมากนัก และ ยิ่งโตขึ้น ก็ยิ่งแก้ได้ยาก มันกลายเป็นนิสัย และเป็นปม แผลในใจสืบต่อกันเรื่อยมา
.
⛑️
Alienaire 🌿 Next EP. 2 >>>
โฆษณา