24 พ.ค. 2023 เวลา 00:02 • หนังสือ

ไม่มีใครสนใจความเจ็บปวดของเราเท่ากับตัวเราเอง

มีคนเคยบอกว่าคนเราสื่อสารด้วยภาษาพูดเพียง 10% เท่านั้น ส่วนอีก 90% มาจากภาษากาย ดังนั้นเราจึงมักสังเกตได้ว่าใครกำลังหวาดกลัว ไม่มั่นใจ หรือกำลังเสียใจ แม้เจ้าตัวจะไม่พูดออกมาก็ตาม
บางครั้งเราเองก็ทำตัวเหมือนรู้ทันร่างกายตัวเองว่าเราสื่อสารผ่านภาษากายเยอะ ก็เลยพยายามแสดงออกให้คนอื่นเห็นว่าเรา “ไม่เป็นไร” ทั้งที่จริงแล้วภายในอาจไม่ใช่แบบนั้นครับ
ในหนังสือ “สวัสดีคนสำคัญ” เขียนโดย ซ็องฮันกย็อง มีบทสั้น ๆ บทนึงเขาชวนตั้งคำถามว่า “ถ้าสมมุติเราเดินอยู่แล้วหกล้มขึ้นมา สิ่งแรกที่เราควรทำคืออะไร?”
หลายคนอาจจะมองไปรอบ ๆ ตัวเพื่อดูว่ามีใครเห็นบ้างไหม แล้วก็รีบลุกขึ้นมาทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลายคนอาจรีบเดินต่อไปเพราะกลัวคนอื่นจะเดินตามทัน บางคนอาจคิดว่าไหน ๆ ล้มแล้ว กำลังเหนื่อยหน่ายพอดี เลยถือโอกาสทิ้งตัวนอนดูท้องฟ้าซะเลย บางคนล้มแล้วอาจร้องไห้เสียใจกับความทุกข์ที่ถาโถมในช่วงเวลานั้น บางคนอาจโมโหที่พื้นมันขรุขระย่ำแย่จนทำให้สะดุดล้ม
ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีอะไรผิด ไม่ว่าแบบไหนก็ถือว่าดีทั้งนั้นครับเพราะแต่ละคนมีวิธีรับมือกับสิ่งที่เจอต่างกัน การปล่อยให้หัวใจเป็นตัวกำหนดทิศทางของชีวิตมันก็โอเคอยู่แล้ว.แต่อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้จำไว้อย่างนึงว่า ตอนเด็ก ๆ หากว่าเราล้ม สิ่งแรกที่เราทำคือการ “ตรวจสอบบาดแผล” ของตัวเองครับ
เด็กบางคนล้มแล้วไม่ร้องไห้โวยวายด้วยซ้ำ จนกระทั่งมองเห็นแผลของตัวเองถึงค่อยร้องออกมา แต่พอเราโตเป็นผู้ใหญ่ ชีวิตก็ทำให้เราหกล้มอยู่บ่อย ๆ แต่เรากลับไม่ได้ตรวจสอบบาดแผลของตัวเองเลย
เรามัวแต่พยายาม “ทำตัวเป็นผู้ใหญ่” ลุกขึ้นให้ไว ก้าวต่อไปเรื่อย ๆ เพราะกลัวคนอื่นมองว่าอ่อนแอ ทั้งที่ความอ่อนแอในหลายสถานการณ์มันเป็นเรื่องปกติ และเราควรอนุญาตให้ตัวเองอ่อนแอบ้าง
ดังนั้นมันคงจะดีไม่น้อยเลยนะครับ ถ้าเราไม่ละเลยบาดแผลของตัวเอง ล้มก็ลองให้เวลากับตัวเองดู อย่ามองข้ามความเจ็บตัวเองเพราะกลัวสายตาของผู้อื่น เพราะไม่ว่าจะเป็นความทุกข์เรื่องใหญ่หรือเล็กก็ตาม มีแค่ตัวเราเท่านั้นที่รู้ แม้คนอื่นอาจจะมองว่าเรื่องเล็ก แต่สำหรับเรามันอาจไม่ใช่ครับ
ข้อคิดที่ผมได้จากการอ่านบทดังกล่าวก็คือ “ไม่มีใครสนใจความเจ็บปวดของเราเท่ากับตัวเราเอง”
ผมเป็นหนึ่งในคนที่ชอบสังเกตสีหน้าคนอื่น ถ้าใครมีสีหน้าเคร่งเครียด หรือกำลังเศร้าแล้วเป็นคนที่ผมคุยได้ ผมก็มักจะถามความรู้สึกอยู่เสมอ เพราะผมคิดว่าคนที่กำลังต่อสู้กับอะไรบางอย่างอยู่ ไม่ควรสู้อยู่อย่างโดดเดี่ยว การสอบถามความรู้สึกก็เป็นการส่งสัญญาณอย่างนึงว่า “มีคนรอบตัวห่วงใยอยู่นะ”
แต่ในทางกลับกัน มีหลายครั้งที่ผมต่อสู้กับอะไรบางอย่างอยู่เช่นกัน และไม่ว่าภาษากายจะแสดงออกอย่างชัดเจนแค่ไหน บางทีก็ไม่มีใครรู้ ซึ่งก็โทษคนอื่นไม่ได้เพราะไม่มีใครอ่านความคิดคนอื่นออก
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการอยู่เคียงข้างตัวเองตัวเองให้เป็น ใส่ใจความรู้สึกตัวเองให้มากกว่าที่คาดหวังจากคนอื่น เพราะตัวเราเข้าใจดีที่สุดว่าสถานการณ์คืออะไร
ถ้าช่วงไหนสังเกตได้ว่าตัวเองกำลังหดหู่ลง ลองหากิจกรรมอะไรก็ตามที่ทำแล้วเราผ่อนคลายขึ้นบ้าง ปกป้องจิตใจและเวลาของตัวเอง อย่ามันเสียไปกับความเจ็บปวดมากเกินไปดีกว่าครับ
ชื่อหนังสือ: #สวัสดีคนสำคัญชื่อสำนักพิมพ์: #springbooks
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น
โฆษณา