23 พ.ค. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

การขึ้นดอกเบี้ยอาจใกล้จบ แต่ผลกระทบยังคงอยู่

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกดูเหมือนใกล้จะมาถึงจุดจบ อย่างธนาคารกลางประเทศแคนาดา (Bank of Canada) ก็หยุดขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ในขณะที่ธนาคารกลางของยุโรป (European Central Bank) สหรัฐฯ (Federal Reserves) และ ออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia) ต่างก็ออกมาส่งสัญญาณกันว่าการขึ้นดอกเบี้ยนั้นใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวดทั่วโลกนั้นน่าจะยังคงอยู่ต่อไปอีกสักระยะ ซึ่งหนึ่งในช่องทางหลักที่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะกระทบเศรษฐกิจได้ ก็คือผ่านทางต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการและครัวเรือนมากมายต่างก็เจอกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นไปแล้ว จากผลสำรวจของ ECB ความต้องการกู้เงินของบริษัทในยุโรปลดลงอย่างมากในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ นี่ถือเป็นการลดลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกปี 2008 – 2009 (แผนภูมิ 1)
โดยเหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทกู้เงินกันน้อยลงก็เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น นี่อาจทำให้การลงทุนโดยบริษัทลดลงไปด้วยในอนาคต
อีกหนึ่งช่องทางที่นโยบายการเงินที่เข้มงวดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ ก็คือผ่านทางราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะพวกที่ราคาขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยเยอะ
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมีแนวโน้มทำคนอยากซื้อของชิ้นใหญ่ๆ เช่น บ้าน กันน้อยลง ซึ่งนี่จะทำให้ราคาสินทรัพย์เหล่านี้ตกลงและทำให้การลงทุนในตลาดสินทรัพย์นั้นๆ ซบเซาลงไปด้วย
อย่างในผลสำรวจของ ECB ความต้องการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านของชาวยุโรปหดตัวลงเยอะในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ (แผนภูมิ 2)
และเหตุผลหลักก็มาจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นกัน นี่อาจเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจสำหรับประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เยอะ
นอกจากนี้ ถ้าไม่นับเรื่องที่ธนาคารกลางมากมายขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกันแล้ว ธนาคารพาณิชย์ในประเทศใหญ่ๆ ก็เริ่มปล่อยสินเชื่อกันน้อยลงด้วยนับตั้งแต่ที่มีการล้มลงของธนาคารในสหรัฐฯ
จากผลสำรวจ Senior Loan Officer Survey ล่าสุด 46% ของธนาคารในสหรัฐฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เทียบกับ 44.8%
ในสำรวจเดือนมกราคมที่ผ่านมา (แผนภูมิ 3) และแม้ว่าผลสำรวจธนาคารในยุโรปและอังกฤษจะยังไม่ค่อยเห็นว่าปัญหาในภาคการธนาคารของสหรัฐฯ จะทำให้ธนาคารในยุโรปหรืออังกฤษปล่อยสินเชื่อยากขึ้น
แต่สภาพคล่องที่ลดลงในสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกและมาถึงภาคการธนาคารของยุโรปและอังกฤษในที่สุด
ภาวะการเงินโดยรวมที่ตึงตัวในปัจจุบันทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา (recession) ในประเทศหลักทั่วโลกสูงขึ้น พูดง่ายๆ คือ แม้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว
แต่ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเพิ่งจะเริ่มต้นและน่าจะยังคงอยู่ไปอีกสักระยะกว่าที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผู้ประกอบการจะกลับมา ซึ่งนี่ถือเป็นความเสี่ยงใหม่ของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เคยได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปในปี 2021
Sources:
โฆษณา