23 พ.ค. 2023 เวลา 03:00 • การเมือง

อ่านนัยแฝง MOU ตั้งรัฐบาล “ก้าวไกล” ยอมถอย หวังเกี่ยวเสียง ส.ว.?

อ่านนัยแฝง MOU ตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล ยอมถอยเพื่อเดินหน้า กับความหวังเกี่ยวเสียง ส.ว.?
แถลงข่าวร่วมลงนาม MOU ตั้งรัฐบาล 8 พรรค นำโดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกรัฐมนตรี แห่งพรรคก้าวไกล โดยมีพรรคเพื่อไทย สุภาพบุรุษการเมืองร่วมอุดมการณ์
อ.สุขุม นวลสกุล กูรูการเมืองไทย วิเคราะห์ “นัยแฝง” การลงนาม MOU ครั้งนี้ว่า ภาพรวม MOU อันนี้ถือเป็นการลดราวาศอกลงเยอะ ดังนั้น คนที่ตั้งใจจะโจมตีเขา เขาก็แค่บอกว่า นี่ลดลงแล้ว ยังไงก็ขอให้ฟังเขาบ้าง โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง มาตรา 112 และอยากให้ ส.ว. ฟังเขาบ้าง ส่วนตัวมองว่า MOU ทั้ง 23 ข้อไม่มีข้อใดเป็นอุปสรรค ส่วน 5 ข้อแนวทางปฏิบัติก็ถือว่าดี และมีความชัดเจน โดยเฉพาะข้อปฏิบัติบางข้อ เช่น การแก้ไขมาตรา 112 เพราะสิ่งที่กลัว คือ การทักท้วงแล้วฟังหรือไม่
“MOU ลดลงมาขนาดนี้แล้ว ส่วนใครที่ไม่ฟัง ก็แปลว่ามีการตั้งแง่ ส่วนการแก้ 112 ก้าวไกล เขาก็สปอร์ตพอว่า อยากให้เป็นเรื่องที่ต้องสู้พรรคเขาเพียงพรรคเดียว ไม่ได้หาความร่วมมือ ส่วนตัวแล้วผมติดตามอยู่ และเข้าใจว่า แก้ไข ไม่ใช่การยกเลิก”
เมื่อถามว่า ทำไมทาง ก้าวไกล ถึงลดท่าทีลงขนาดนี้ อาจารย์สุขุม ตอบว่า ถ้าฝืนไปอย่างนั้น อาจจะไม่รอด และแสดงว่าเขาเป็นพรรคการเมืองที่ฟังคนเหมือนกัน ไม่ใช่แต่จะเป็น “เด็กดื้อ” ตลอด ถึงแม้ที่ผ่านมา จะโดนประณามถึงความ “ก้าวร้าว” ซึ่งความ “ก้าวร้าว” บางครั้งเป็นช่วงเวลาต่อสู้ก็ต้องมีก้าวร้าวบ้าง แต่ถึงจังหวะ “ทำงาน” ก็ต้อง “ขอความร่วมมือ”
ที่ผ่านมา มีกระแสโซเชียลเรื่อง “แฮชแท็ก” ต่างๆ เกิดขึ้น แสดงว่ามีอิทธิพลต่อพรรคก้าวไกล กูรูการเมืองไทย ตอบว่า แบบนี้แปลว่าเขาก็ฟังประชาชน ฟังเสียงคนฟังตรงข้าม ฟังทั้งหมด
เมื่อถามว่า ท่าทีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แถลงวันนี้ดูมีความมั่นใจมากกว่าทุกครั้ง อาจารย์สุขุม ตอบว่า เรื่องนี้มันอยู่ที่ทางเพื่อไทย โดยเฉพาะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เพราะเป็นการตัดความกังวลและความกลัวของผู้คนลงได้ ว่าจะมีการแทรกแซง หรือหักหลัง เพราะเพื่อไทย ก็มีความเป็นสุภาพบุรุษอยู่ ส่วนข่าวลือ เรื่องฮ่องกง ก็คงเป็นแค่ข่าวลือ
“ถึงขณะนี้ เชื่อว่าแนวโน้มกับพรรคร่วมรัฐบาลไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่กับ ส.ว. คือ ต้องรอดูกันต่อ ซึ่งเท่าที่ประเมิน เชื่อว่าทางพรรคร่วมก็ประเมินกันว่า ส.ว. เองน่าจะเอนอ่อนลงเช่นกัน...”
เมื่อถามว่า ภาพรวมดูชื่นมื่นแบบนี้ ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 หนีไม่พ้น ชายที่ชื่อ “พิธา” หรือไม่ อาจารย์ตอบห้วนๆ ว่าไม่รู้แหละ ถ้าจะมีปัญหาก็จะมีอยู่นั่นแหละ แต่ดูแล้วท่าทีที่อ่อนลง ลดความแข็งกร้าว น่าจะได้รับการตอบรับจาก ส.ว. เพิ่มมากขึ้น
อาจารย์สุขุม กล่าวว่า ส่วนตัวอยากจะเรียกร้องไปยังบรรดา ส.ส. ว่า ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่มันเป็นจังหวะที่จะยกอำนาจนอกระบบออก
• เทียบ 6 นโยบาย ก้าวไกล X เพื่อไทย
ตรวจการบ้าน 6 นโยบายหลักของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ถูกระบุใน MOU จัดตั้งรัฐบาลพิธา 1 ทั้งวงเงินและที่มาของงบประมาณ รวมถึงผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย จากการที่ทั้ง 2 พรรค ได้จัดส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง
1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ :
- พรรคก้าวไกล :
- นโยบาย : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ
- วงเงิน : 3,000 ล้านบาท
ที่มา : งบประมาณรายจ่ายประจำปี
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : เป็นวิธีการเดียวที่จะได้รัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจำเป็นที่จะต้องทำประชามติตามกฎหมาย ซึ่งการทำประชามตินั้นอาจมีคำถามพ่วงหลายข้อได้ เช่น อาจทำประชามติเกี่ยวกับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคพ่วงไปด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจัดออกเสียงประชามติหลายครั้ง เป็นการประหยัดงบประมาณได้ทางหนึ่ง
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : เป็นการดำเนินการตามวิถีประชาธิปไตย ไม่มีผลกระทบในแง่ลบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายนี้
• พรรคเพื่อไทย :
- นโยบาย : รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
- วงเงินและที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : 3,000 ล้านบาท
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติ
- ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ต้องจัดสรรงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
• 2. กระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น :
- พรรคก้าวไกล
- นโยบาย :
2.1 เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด, ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค, เลือกตั้งนายกเขต ทุกเขตใน กทม.
- วงเงิน : 3,000 ล้านบาท เป็นเงินค่าจัดการเลือกตั้ง (ใช้ครั้งเดียว)
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : ทำให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งผู้นำของจังหวัดตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องมีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจากส่วนกลางอีกต่อไป เพื่อให้การพัฒนาจังหวัดสามารถเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในจังหวัดอย่างแท้จริง
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ข้าราชการและประชาชนต้องปรับตัวเข้ากับระบบการบริหารราชการท้องถิ่นรูปแบบใหม่ จึงอาจเกิดความไม่สะดวกหรือไม่คุ้นชินบางประการในช่วงต้น
2.2 เพิ่มงบจังหวัดจัดการตนเองทั่วประเทศ 200,000 ล้านบาทต่อปี ท้องถิ่นมีช่องทางหารายได้ใหม่ กู้เงิน-ออกพันธบัตร-ตั้งบริษัทจัดเก็บภาษี
- วงเงิน : 200,000 ล้านบาท (เป็นเงินอุดหนุน อปท. ตัวเลข ณ ปี 2570)
ที่มา : โอนงบประมาณจากการถ่ายโอนหน้าที่และพันธกิจจากหน่วยราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคมาให้กับ อปท.
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : เพื่อให้ท้องถิ่นมีสัดส่วนรายได้ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลถึง 35% ตาม พ.ร.บ. กำหนดขั้นตอนและแผนการกระจายอำนาจ และทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอต่อการจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนในพื้นที่
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : บางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะไม่มีความพร้อมในการใช้งบประมาณทำให้ในช่วงต้นการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนที่เพิ่มขึ้นอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้
• พรรคเพื่อไทย :
- นโยบาย : กระจายอำนาจ เพิ่มงบประมาณท้องถิ่น เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่พร้อม
วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : เร่งกระจาย ขยายอำนาจและเพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ในจังหวัดที่มีความพร้อม
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ไม่มีผลกระทบและความเสี่ยงในทางลบ
• 3. ปฏิรูปกองทัพ :
- พรรคก้าวไกล
- นโยบาย : แยกทหารออกจากการเมือง ปรับกองทัพมาอยู่ภายใต้รัฐบาล ตั้งผู้ตรวจการกองทัพ ยกเลิกศาลทหาร ลดขนาดกองทัพ ลดจำนวนนายพล ยกเลิกเกณฑ์ทหาร นำเข้ายุทโธปกรณ์ ต้องจ้างงาน-โอนถ่ายเทคโนโลยี คืนที่ดินกองทัพ คืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย ยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกฎอัยการศึกชายแดนใต้ ยกเครื่องกฎหมายความมั่นคงพิเศษ
- วงเงิน : 12,000 ล้านบาท
- ที่มา : งบประมาณรายจ่ายประจำปี
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : การปฏิรูปกองทัพเป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทัพให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพพร้อมต่อการป้องกันภัยคุกคามใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้อีกด้วย
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : งบประมาณจะเพิ่มขึ้นในระยะแรกของการดำเนินนโยบายเนื่องจากรายได้และสวัสดิการของทหารเกณฑ์และทหารชั้นผู้น้อยสูงขึ้น ในขณะที่ยังปรับลดงบประมาณในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นงบผูกพันไม่ได้
• พรรคเพื่อไทย
- นโยบาย : นโยบายปฏิรูปกองทัพเป็นทหารอาชีพ
- วงเงิน : การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : ปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพ เสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหาร และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ไม่มีผลกระทบและความเสี่ยงในทางลบ
4. แก้ปัญหาค่าครองชีพ (ค่าไฟฟ้า)
- พรรคก้าวไกล
- นโยบาย : เปิดตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรี รัฐดูแลระบบสายส่ง ลดค่าไฟ-ค่าไฟแฟร์ ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน ลดค่าไฟ-หลังคาสร้างรายได้ เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ สร้างความมั่นคงทางพลังงานภายในประเทศ เพิ่มรายได้รัฐจากโรงแยกก๊าซเพื่อมาใช้ดูแลประชาชน เช่น ลดราคา LPG 2.5 บาท ลดความแปรปรวนของราคาน้ำมัน
- วงเงิน : ไม่ต้องใช้งบประมาณ
- ที่มา : ไม่ต้องใช้งบประมาณ
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า แก้ไขปัญหาความไม่ถูกต้องทางวิชาการในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของประเทศ
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งได้รับสัมปทานผลิตไฟฟ้าจากรัฐอยู่ก่อน ซึ่งต้องมีการเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประชาชน
• พรรคเพื่อไทย
- นโยบาย :
4.1 ปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ
วงเงินและที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ต้องใช้ความสามารถและความตั้งใจจริงในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
4.2 นโยบายเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน
วงเงินและที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ต้องใช้ความสามารถในการเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูก
4.3 นโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก
วงเงินและที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ไม่มีผลกระทบและความเสี่ยงในทางลบ
5. เพิ่มสวัสดิการเด็ก-ผู้สูงอายุ :
- พรรคก้าวไกล นโยบาย :
5.1 ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท ซื้อของเลี้ยงลูก, เงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท, สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
- วงเงิน : 50,000 ล้านบาท
- ที่มา : ใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนเด็กเล็กเดิม ซึ่งเคยจัดสรรไว้ปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท และใช้งบประมาณจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บรายได้ภาครัฐรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษี ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 650,000 ล้านบาทต่อปี
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : การให้สวัสดิการแบบถ้วนหน้าช่วยแก้ปัญหาการตกหล่นจากการให้สวัสดิการแบบเดิมที่ต้องพิสูจน์สิทธิและการเพิ่มเงินอุดหนุนเป็น 1,200 บาทต่อเดือน จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กให้กับครอบครัวที่ยากจนได้ถึง 48% ช่วยให้เด็กแรกเกิดเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : งบประมาณอาจจะมากขึ้นจากประมาณการเนื่องจากอัตราการเกิดจริง อาจจะไม่เป็นไปตามประมาณการไว้และรายได้อาจจะจัดเก็บน้อยกว่าประมาณการ
5.2 เรียนฟรี อาหารฟรี
- วงเงิน : 44,600 ล้านบาท
- ที่มา : ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงศึกษาธิการโดยเปลี่ยนการเกลี่ยงบรายหัวนักเรียนใหม่ให้เหมาะสม รวมกับงบประมาณจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บรายได้ภาครัฐรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษี ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 650,000 ล้านบาทต่อปี
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : ช่วยดึงเยาวชนที่หลุดจากการศึกษาให้กลับเข้ามาเรียนต่อในระบบ นอกจากนี้การอุดหนุนงบประมาณให้โรงเรียนเพิ่มขึ้นจะช่วยให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่ฟรีจริง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น อาหารกลางวันที่มีคุณภาพ มีรถรับส่งที่ปลอดภัยฟรี
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : งบประมาณอาจจะมากขึ้นจากประมาณการ หากมีเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษามากกว่าประมาณการ
5.3 ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเกินต้องได้ OT แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ ประกันสังคมถ้วนหน้าเจ็บป่วยได้เงินชดเชย-ค่าเดินทางหาหมอ แพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนฟรีไม่จำกัด มีระบบจัดหางาน คูปองเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ 5,000 บาทต่อปี
วงเงิน : 56,000 ล้านบาท เป็นเงินรัฐจะต้องสมทบให้กับประกันสังคมถ้วนหน้าและคูปองเสริมทักษะ (ตัวเลข ณ ปี 2567)
ที่มา : ใช้งบประมาณจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บรายได้ภาครัฐรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษี ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 650,000 ล้านบาทต่อปี โดยงบประมาณที่รัฐจะช่วยสมทบเงินประกันสังคมแบ่งเบาภาระให้ SME จากผลของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 16,000 ล้านบาท จะใช้เพียงปีแรกเท่านั้น ดังนั้นงบประมาณจริงๆ ที่จะใช้ในปีต่อๆ ไปจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงได้รับการคุ้มครองทั้งด้านสวัสดิภาพในการทำงาน มีสวัสดิภาพในการทำงานสำหรับแรงงานทุกคน นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระยะแรก
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ต้องมีการใช้งบประมาณมากในช่วงแรกในการสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จากการให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมทั้งหมด และการช่วย SME สมทบกองทุนประกันสังคมให้แรงงานที่ได้รับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำใน 6 เดือนแรก
5.4 เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท เจ็บป่วยติดเตียงมีระบบดูแล
- วงเงิน : 500,000 ล้านบาท
ที่มา : ใช้งบประมาณรายจ่ายบางส่วน จากงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดิมปีละ 80,000 ล้านบาท รวมกับงบประมาณจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บรายได้ภาครัฐรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษี ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 650,000 ล้านบาทต่อปี
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท จะช่วยมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กองทุนหลักประกันดูแลผู้สูงอายุระยะยาว จะช่วยให้ผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียงทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแล และช่วยส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นได้
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : งบประมาณในระยะยาวอาจเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่รายได้จากการเก็บภาษีอาจมีความไม่แน่นอนในแต่ละปี จึงต้องจัดเก็บภาษีประเภทที่ไม่อ่อนไหวกับสภาวะเศรษฐกิจ เช่น ภาษีทรัพย์สินเพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง
5.5. บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง รถเมล์และรถไฟฟ้าทุกจังหวัด 8-45 บาทตลอดสาย เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ ค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท เบี้ยผู้พิการเดือนละ 3,000 บาท
- วงเงิน : 98,500 ล้านบาท เป็นเบี้ยผู้พิการเดือนละ 3,000 บาท และการอุดหนุนงบประมาณให้กับ อปท. เพื่อจัดทำบริการสาธารณะ
ที่มา : ใช้งบประมาณรายจ่ายบางส่วนจากงบประมาณที่เดิมเคยตั้งไว้เป็นเบี้ยคนพิการปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท และใช้งบจังหวัดจัดการตัวเองตามนโยบายกระจายอำนาจปีละ 17,500 ล้านบาท รวมกับงบประมาณจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บรายได้ภาครัฐรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษีซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 650,000 ล้านบาทต่อปี
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : ช่วยค่าครองชีพโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่ประชาชนไม่สามารถปรับลดเองได้ง่ายๆ เช่น ค่าเช่าบ้านและค่าผ่อนบ้าน ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มคุณภาพของบริการสาธารณะ และการเข้าถึงให้ครอบคลุมมากขึ้น
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ในระยะแรกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจัดให้มีบริการสาธารณะที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
• พรรคเพื่อไทย
- นโยบาย
5.1 ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท
วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : ไม่ใช้วงเงินงบประมาณ แต่สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตสูงในระดับที่เพียงพอทำให้นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้นได้
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : เพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับค่าครองชีพ
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : อาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการบ้างเนื่องจากมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่สามารถแก้ไขได้โดยการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจให้โตขึ้น
5.2 เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท
วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : ใช้การบริหารระบบงบประมาณภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ลดขนาดของรัฐราชการ แต่เพิ่มผลผลิตภาพ สร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูง
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : เพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับค่าครองชีพ
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : อาจมีรายจ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นในช่วงต้น จากการปรับเงินเดือนข้าราชการ แต่สามารถชดเชยได้โดยการเพิ่มผลิตภาพของข้าราชการ รวมถึงปรับขนาดของราชการให้เล็กลง
5.3 นโยบายเรียนฟรีต้องฟรีจริง เพิ่มงบอาหารกลางวัน 20% มีรถรับส่ง
วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : 7,000 ล้านบาท
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : ยกระดับนโยบายเรียนฟรีให้ไม่มีค่าใช้จ่ายซ่อนเร้น สนับสนุนให้เด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานศึกษา
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ต้องจัดสรรงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
5.4 นโยบายเงินสมทบคนสร้างตัว
วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : 90,000 ล้านบาท
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : สวัสดิการวัยทำงานให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ต้องจัดสรรงบประมาณแต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้ ต้องมีกระบวนการที่แม่นยำในการแยกกลุ่มรายได้ของประชาชน รวมทั้งการตรวจสอบ
5.5 นโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ
วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : 300,000 ล้านบาท
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : สวัสดิการผู้สูงอายุให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ต้องจัดสรรงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
5.6 นโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย
วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : 40,000 ล้านบาท + 8,000 ล้านบาทต่อปี (ใช้การบริหารงบประมาณปกติ)
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : ลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชน ส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ต้องจัดสรรงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
5.7 นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค
วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : เพิ่มขึ้นจากเดิม 20,000 ล้านบาท
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : ประชาชนได้รับการบริการสุขภาพครบวงจร สะดวกรวดเร็ว บัตรประชาชนใบเดียว รับบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ เปลี่ยนจากการให้เงินอุดหนุนรายหัว (Per head) เป็น Per visit
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ต้องจัดสรรงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
6. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ :
- พรรคก้าวไกล
นโยบาย : กองทุนพิสูจน์สิทธิ ยุติข้อพิพาท-ออกเอกสารสิทธิให้เกษตรกร เปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนดทันที ตั้งธนาคารที่ดิน เปลี่ยนระบบภาษีที่ดิน
- วงเงิน : 10,000 ล้านบาท
- ที่มา : งบประมาณรายจ่ายประจำปี
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : ช่วยให้มีการออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนที่มีสิทธิในที่ดินที่ควรได้ทำให้มีความมั่นคงขั้นพื้นฐานในชีวิตและทรัพย์สิน เข้าถึงแหล่งทุนและการสนับสนุนจากนโยบายรัฐได้
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : มีความเสี่ยงที่การพิสูจน์สิทธิจะเป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินนโยบาย เนื่องจากบุคลากรและเครื่องมือไม่เพียงพอทำให้ใช้ระยะเวลายาวนานและงบประมาณมากขึ้น
• พรรคเพื่อไทย
นโยบาย : ที่ดิน มีที่ทำกินได้รับเอกสารสิทธิทั่วหน้า
วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ : การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย : แก้กฎหมาย ส.ป.ก. แก้กฎหมายนิคมการเกษตร จัดหาที่ดินให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ เร่งพิสูจน์สิทธิเป็นธรรม ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย-ระเบียบอุปสรรค ราษฎร-รัฐ ร่วมมือสร้างระบบนิเวศนป่าไม้
ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย : ไม่มีผลกระทบและความเสี่ยงในทางลบ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
โฆษณา