24 พ.ค. 2023 เวลา 06:00 • ความคิดเห็น

ไปในที่ที่คนในอาชีพเราไม่ไป

พี่สุรชัย พุฒิกุลางกูร illustrator ชาวไทยที่เป็นมือหนึ่งของโลกมาเป็นสิบปี ได้รางวัลหลายพันรางวัลทั้งกรังปรีซ์ โกลด์ ฯลฯ อย่างไม่มีใครในอุตสาหกรรมเดียวกันเทียบได้ พี่สุรชัยมาบรรยายที่ ABC แล้วเล่าถึงเคล็ดวิชาที่ทำให้พี่สุรชัยมีความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุด อยู่เหนือกว่าเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันมาอย่างยาวนานไว้อย่างน่าสนใจ
1
ทีเด็ดของพี่สุรชัยมีหลายอย่างมาก แต่ที่ทำให้พี่สุรชัยมี “ความต่าง” จากคนอื่นก็คือ พี่สุรชัยมักจะพาตัวเองไปในที่คนในอาชีพของพี่เขาไม่ได้ไป ซึ่งอาจจะเป็นที่ที่ธรรมดาสำหรับอาชีพอื่น หรือพบปะผู้คนปกติ
แต่ในวงการแกเองมักไม่ค่อยไป ไม่เจอกัน พี่สุรชัยได้ไอเดียนี้มาจากการไปดูงานที่สุดล้ำและแปลกตาของสถาปนิกระดับโลกที่ชื่อ Tadao Ando แล้วมารู้ทีหลังว่าคุณ Ando เคยพยายามไปเป็นนักมวยไทยมาก่อนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่มุมมองจากนักมวย ในการมองเวที เหลี่ยมมุมต่างๆ แสงไฟในสนามมวย ทำให้คุณ Ando มี Perspective ที่แปลกใหม่
คล้ายๆ กับคุณ Frank Gehry ผู้สร้างสรรค์งานดีๆ ล้ำๆมากมาย รวมถึงสถาปัตยกรรมทรงแปลกๆ และงานปั้นรูปปลา ก็เกิดจากการหลงใหลในปลา เกล็ดปลาและความเคลื่อนไหวของปลาตั้งแต่วัยเด็กจากการตามยายไปตลาดปลา จนถึงการจ้องมองปลาคาร์ฟที่ญี่ปุ่น
จนได้แรงบันดาลใจมาทำงานที่ไม่มีใครทำ พี่สุรชัยเลยเห็นทางที่จะสร้างลักษณะเฉพาะของตัวเองขึ้นมาจากความสนใจอะไรบางอย่างที่สายงานอาชีพตัวเองไม่เคยเจอ ถึงขนาดไปเดินดูสายการผลิตรถยนต์ เลยเกิดเป็นงานดีๆและสร้างสรรค์ขึ้นมาจนเป็นที่หนึ่งของโลกในวันนี้
ในมุมของธุรกิจ คุณซิกเว่ เบรกเก้ เจ้านายเก่าผมที่ใช้ยุทธวิธีเดินแหลกไปทั่วประเทศ รับฟังปัญหาคนระดับรากหญ้า แล้วเอามาแก้ไข สามารถปราศรัยโน้มน้าวพนักงานได้อย่างทรงพลัง
ก็เพราะคุณซิกเว่เคยเป็นนักการเมืองระดับประเทศมาก่อนที่นอร์เวก่อนที่จะมาเป็นซีอีโอดีแทค คนในอาชีพเดียวกับซิกเว่ไม่น่ามีประสบการณ์แบบนี้ เบอดี้ กอร์ดี้ ผู้ก่อตั้ง Motown ที่เป็นค่ายเพลงแบบครบวงจรอันโด่งดังทั่วโลกและเป็นต้นแบบให้กับค่ายเพลงอื่นๆ
ในยุคสมัยต่อมา ก็ได้ประสบการณ์การออกแบบค่ายเพลงอย่างเป็นระบบจากการทำงานในสายพานการผลิตที่ Ford คุณกอร์ดี้ก็เลยมีไอเดียที่ไม่เหมือนกับเจ้าของค่ายเพลงอื่นๆ ใช้วิธีคิดแบบสายพานการผลิตมาประยุกต์ใช้กับวงการเพลงจนประสบความสำเร็จ
การที่เอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่คนในอาชีพเราไม่ไป นอกจากจะทำให้เรามีมุมมองที่แตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งจำเป็นมากในการแข่งขันหรือสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองในยุคที่ Average is over นี้แล้ว การทำแบบนี้ยังไม่ได้ยากเหลือบ่ากว่าแรงคนทำงานหรือเจ้าของกิจการทั่วไปนัก ไม่ต้องใช้เงินมากมายหรือต้องฝึกฝนตัวเองอย่างยากลำบาก
แต่ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ที่ไหนเหรอที่คนในอาชีพเราไม่ไปแน่ๆ หรือนึกไม่ถึง แล้วลองเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในที่ตรงนั้นดูเมื่อมีโอกาส มุมมองที่ได้รับอาจจะนำมาปรับใช้ ทำให้ธุรกิจที่เราทำอยู่ บทบาทที่เรามีอยู่นั้นมีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ที่ต่างออกไปก็ได้นะครับ
โฆษณา