25 พ.ค. 2023 เวลา 04:35 • ความคิดเห็น

เลือกคนให้ถูก แล้วทุกอย่างจะมาเอง

ผมเคยถามคุณซิกเว่ เบรกเก้ และคุณวิชัย เบญจรงคกุล สองซีอีโอคู่แห่งดีแทคหลังจากที่ทั้งคู่ใช้เวลาสี่ปีพลิกฟื้นดีแทคในช่วงปี 2004 ถึง 2008 จนเป็นตำนาน ว่ามีเคล็ดลับอะไรถึงทำได้ทั้งๆที่ทั้งคู่ไม่ได้มีประสบการณ์ด้านโทรคมนาคมมาก่อน ทั้งคู่หัวเราะฮ่าฮ่าพร้อมกับตอบเป็นเสียงเดียวกันในตอนนั้นว่า...
เลือกคนให้ถูกแล้วทุกอย่างจะมาเอง
4
ผมไม่ได้ถามในรายละเอียดของประโยคนั้นว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเลือกคนได้ถูก จนเวลาผ่านมาเนิ่นนานแล้วมีโอกาสได้ฟังพี่เจี๊ยบ ปฐมา จันทรักษ์ (ที่ฟังทีไรมีเรื่องเอามาเขียนทุกที) ผู้อยู่ในช่วงที่คุณสัตยา (Satya) ซีอีโอชาวอินเดียแห่งไมโครซอฟท์ผู้พลิกฟื้นบริษัทที่ครั้งหนึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นไดโนเสาร์ ทั้งความเชยล้าหลังและความเทอะทะเพราะมีคนอยู่แสนกว่าคน จนกลายเป็นบริษัทที่ล้ำสมัยมีมูลค่าการตลาดติดหนึ่งในสามของโลกในเวลาไม่กี่ปีเช่นกัน
ในช่วงที่พี่เจี๊ยบบรรยาย มีคนถามพี่เจี๊ยบว่าคุณสัตยาผู้ที่มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นมีวิธีจัดการอย่างไรกับผู้ที่ไม่อยากเปลี่ยน และไม่คิดที่จะเปลี่ยนบ้าง
พี่เจี๊ยบตอบว่า เวลาจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ว่าจะในระดับองค์กรหรือระดับฝ่ายนั้น จะมีคนอยู่สามกลุ่มเสมอ
1
กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เชื่อในวิถีใหม่ พร้อมที่จะเปลี่ยน ไปไหนไปกันซึ่งตอนเริ่มต้นก็จะมีไม่มากนัก กลุ่มสองมักจะเป็นกลุ่มใหญ่ คือรอดูท่าที ไม่รู้ว่าจะรอดหรือจะเลิก ถ้ารถบัสจะออกค่อยกระโดดขึ้นก็ยังทัน ส่วนกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ไม่อยากเปลี่ยน ชีวิตตอนนี้ก็ดีอยู่แล้ว แถมพูดจาคัดค้าน แอบพูดในทางลบให้บรรยากาศเสียอีกด้วย
พี่เจี๊ยบบอกว่า โดยธรรมชาติมนุษย์ เรามักจะแคร์ความรู้สึกคนและอยากจะให้คนเห็นด้วย เราก็เลยมักจะให้ความสำคัญกับกลุ่มที่สามที่ไม่เห็นด้วย พยายามชักจูง ใช้เวลา ใช้พลังงานไป Convince สนใจและพยายามฟังคนกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ ซึ่งพี่เจี๊ยบบอกว่าเป็นการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองและไม่มีประโยชน์แถมทำให้คนกลุ่มแรกนั้นท้อถอยอีกด้วย
2
ตอนที่คุณสัตยา Transform ไมโครซอฟท์นั้น เขาไม่ได้สนใจคนกลุ่มสองหรือสามเลย แต่ใช้พลังทั้งหมดไปกับกลุ่มแรกซึ่งพร้อมที่จะเดินร่วมทาง ทำให้กลุ่มนี้เป็น Changemaker แล้วแรงกระเพื่อมก็จะเริ่มตามมา
ผมนึกถึงคลิปไวรัลคลิปหนึ่ง เป็นเทศกาลดนตรีกลางแจ้งที่มีคนนั่งๆนอนๆแบบขี้เกียจหลายร้อยคน อยู่ดีๆก็มีคนหนึ่งยืนขึ้นมาเต้นอยู่นานพอสมควร ซักพักก็มีคนที่สอง ที่สามมาเต้นรอบๆ เขา พอมีสองสามคน ก็เริ่มมีสี่ห้า จำนวนคนเต้นก็มากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสิบ เป็นร้อย และอย่างไม่น่าเชื่อ คนหลายร้อยคนในที่สุดก็ลุกขึ้นมาเต้นตาม ดูคลิปได้ที่ : https://youtu.be/GA8z7f7a2Pk
1
มีคนสรุปบทเรียนจากคลิปนี้ไว้ว่า คนที่พยายามเปลี่ยนคนแรกจะดูเป็นคนบ้าเสมอ จนกว่าจะมีคนที่สองที่มาทำตาม สถานะของสองคนก็จะกลายเป็น leader และ Follower ขึ้นมาทันที ผู้ตามกลุ่มแรกจึงสำคัญมากๆที่ต้องดูแลและฟูมฟักเป็นพิเศษในการเปลี่ยนแปลงองค์กรไม่ว่าในระดับไหนก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงองค์กรคงไม่สามารถเกิดจากผู้นำสูงสุดแค่คนเดียว ผู้นำในระดับรองลงมาก็มีความสำคัญไม่แพ้กันในการนำทัพที่สำคัญๆไม่ว่าจะเป็นสาขาต่างๆ หน่วยงานแต่ละหน่วย ฝ่ายงานแต่ละฝ่าย แล้วเราควรจะมีวิธีคิดที่จะเลือกผู้นำในระดับหน่วยย่อยลงไปอย่างไร
เรื่องนี้พี่เจี๊ยบเล่าว่า คุณสัตยาให้หลักการในการเลือกผู้นำโดยไม่เกี่ยวกับลำดับอาวุโสใดๆ ไว้สามข้อ
ข้อแรกก็คือ ผู้นำต้องสามารถทำความเข้าใจให้ทีมงานได้กระจ่างถึงเป้าหมาย แนวทางทำงานและการวัดผลที่ชัดเจน (Bring Clarity)
3
ข้อสอง ผู้นำจะต้องสามารถสร้างขุมพลังที่ทำให้บรรยากาศการทำงานคึกคักและเปลี่ยมด้วยพลังได้ (Generate Energy)
1
และข้อสาม ผู้นำต้องสามารถทำงานให้สำเร็จไม่ใช่แค่เสร็จ (Deliver Success) ได้ สามหลักการนี้เป็นหัวใจของการเลือก สลับสับเปลี่ยนและจัดทัพใหม่ สร้างผู้นำยุคใหม่ของไมโครซอฟท์จนกลายสภาพเป็นช้างที่เต้นระบำได้ในปัจจุบัน
1
ฟังพี่เจี๊ยบปฐมาเล่าเมื่อไม่กี่วันก่อน ทำให้ผมได้คำอธิบายจากคำตอบของคุณซิกเว่และคุณวิชัยที่ค้างคามาสิบกว่าปีในที่สุดละครับ….
โฆษณา